...

วัดคอนเซ็ปชัญ วัดคริสต์เก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
วัดคอนเซ็ปชัญ เป็นวัดเก่าแก่ในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก มีอายุยาวนานถึง ๓๔๖ ปี ตั้งอยู่ที่ซอยสามเสน ๑๑ ถนนสามเสน แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ประวัติความเป็นมาเริ่มตั้งแต่สมัยอยุธยา พ.ศ. ๒๒๑๗ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้พระราชทานที่ดินในเมืองบางกอก (กรุงเทพฯ) ให้แก่พระสังฆราชลาโน (Mgr. Laneau) เพื่อสร้างวัดสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก โดยได้ตั้งชื่อวัดว่า “วัดแม่พระปฏิสนธินิรมล” (Immaculée Conception)

ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชาวเขมรจำนวนหนึ่งที่นับถือศาสนาคริสต์และหลบหนีภัยเนื่องจากเกิดการจลาจลในกัมพูชาเข้ามาอาศัยรวมอยู่กับชาวโปรตุเกสที่บริเวณข้างวัดราชาธิวาส บริเวณนี้จึงมีชื่อเรียกว่า “บ้านเขมร” ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ช่วงที่ไทยทำสงครามกับญวน มีชาวญวนที่นับถือศาสนาคริสต์กลุ่มหนึ่งขอติดตามกองทัพไทยเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในหมู่บ้านเขมร ต่อมาเมื่อผู้คนในหมู่บ้านเขมรมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ชาวญวนจึงขยายออกไปตั้งบ้านเรือนอยู่ทางด้านทิศเหนือของวัด



ครั้นเมื่อบาทหลวงปาลเลอกัวซ์ (Jean-Baptiste Pallegoix) เข้ามาเป็นเจ้าอาวาสวัดคอนเซ็ปชัญ มีการสร้างโบสถ์ขึ้นใหม่ซึ่งก็คือโบสถ์หลังปัจจุบัน ทำพิธีเสกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๐ นอกจากนี้ ในระหว่างที่เป็นเจ้าอาวาสวัดคอนเซ็ปชัญ ท่านได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามงกุฎ และทรงผนวชอยู่ที่วัดราชาธิวาส โดยได้ถวายความรู้เรื่องภูมิศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ภาษาละติน และภาษาฝรั่งเศสด้วย ใน พ.ศ. ๒๓๘๑ ได้มีการประกอบพิธีสังฆาภิเษกบาทหลวงปาลเลอกัวซ์ขึ้นเป็นพระสังฆราช ปกครองดูแลคณะมิสซังในกรุงสยาม หลังจากนั้นท่านได้สร้างสำนักพระสังฆราชขึ้นที่วัดอัสสัมชัญ และย้ายออกจากวัดคอนเซ็ปชัญไปพำนักที่วัดอัสสัมชัญ อย่างไรก็ดีเมื่อท่านมรณภาพใน พ.ศ. ๒๔๐๕ ได้มีการอัญเชิญร่างของท่านจากอาสนวิหารอัสสัมชัญมาบรรจุไว้ใต้พื้นโบสถ์วัดคอนเซ็ปชัญ หลังจากนั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการสร้างหอระฆังที่โบสถ์หลังนี้เพิ่มเติม โดยมีโจอาคิม กรัสซี (Joachim Grassi) สถาปนิกชาวออสเตรีย เป็นผู้ออกแบบ
ในส่วนของโบสถ์หลังเดิมตั้งอยู่บริเวณด้านหลังของโบสถ์หลังปัจจุบัน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นแทนโบสถ์หลังเก่าที่สร้างด้วยไม้ตั้งแต่สมัยอยุธยา ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคามุงกระเบื้อง ปัจจุบันได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ของวัด
เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ที่ผ่านมา ได้มีการจัดงานฉลองแม่พระปฏิสนธินิรมล ซึ่งถือเป็นงานฉลองประจำปีของวัดคอนเซ็ปชัญ ปัจจุบันวัดคอนเซ็ปชัญยังคงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกที่อาศัยอยู่ในย่านสามเสน นับเป็นวัดคริสต์ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและเป็นแหล่งศึกษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชุมชนโบราณริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่สำคัญแห่งหนึ่ง
-----------------------------
เรียบเรียงโดย
น.ส. ปภัชกร ศรีบุญเรือง
นักอักษรศาสตร์ชำนาญการ
กลุ่มแปลและเรียบเรียง สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์
------------------------------
บรรณานุกรม
กรมศิลปากร. จดหมายเหตุ การอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : สหประชาพาณิชย์, ๒๕๒๕.
ฌอง แบปติสต์ ปาลเลอกัวซ์. บันทึกเรื่องมิสซังแห่งกรุงสยาม. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : มาร์ค แอนด์ ทเวน มีเดียส์, ๒๕๔๗.
ปติสร เพ็ญสุต. พัฒนาการสถาปัตยกรรมวัดคอนเซ็ปชัญ จากโบสถ์วิลันดาสู่ยุคฟื้นฟูโรมันเนสก์ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: http://www.damrong-journal.su.ac.th/upload/pdf/82_2.pdf [๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๓]
วิชญ์พล บัญชาวชิระชัย. การนำเสนอชุมชนผ่านเรื่องเล่า : กรณีศึกษาชุมชนคอนเซ็ปชัญ. ภาคนิพนธ์หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต, สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๕๖.
สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร. บางกอกบอกเล่า (เรื่อง). นนทบุรี: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสท.), ๒๕๕๔.
หอจดหมายเหตุ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ. ประวัติโดยสังเขปของวัดทุกวัดแห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ตั้งแต่เริ่มบุกเบิกเปิดกลุ่มคริสตชนนั้น ๆ ถึงปี ๑๙๘๖ เล่ม ๑๐ สารบัญร่วม. กรุงเทพฯ: อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ, ม.ป.ป. (อัดสำเนา)
หอจดหมายเหตุ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ. วัดคอนเซ็ปชัญ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: http://www.catholichaab.com/.../2/1257-2016-07-15-03-39-19 [๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๓]
 
 
Star vote. Star vote. Star vote. Star vote. Star vote.

(จำนวนผู้เข้าชม 2929 ครั้ง)