...

กำแพงเมืองและสะพานไม้ของเมืองกำแพงเพชร
องค์ความรู้ : อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
เรื่อง กำแพงเมืองและสะพานไม้ของเมืองกำแพงเพชร
เมืองกำแพงเพชร เป็นเมืองโบราณที่ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและสืบต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ และตำแหน่งที่ตั้งของเมืองนับว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการสงครามที่มีบทบาทเป็นอย่างมาก เมืองแห่งนี้จึงจำเป็นต้องมีการก่อสร้างกำแพงเมืองและป้อมปราการที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้ชื่อเมืองกำแพงเพชรยังปรากฏในเส้นทางการเดินทัพของทั้งฝ่ายกรุงศรีอยุธยา ฝ่ายพม่า และฝ่ายล้านนา มาโดยตลอด
แผนผังเมืองกำแพงเพชรเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู วางตัวขนานไปกับแม่น้ำปิง ตัวเมืองมีขนาดกว้างประมาณ ๖๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๒,๔๒๐ เมตร แนวกำแพงเมืองด้านเหนือพบร่องรอยคูน้ำและคันดินจำนวน ๓ ชั้น กำแพงเมืองชั้นในที่ล้อมรอบตัวเมืองเป็นระยะทางทั้งสิ้น ๕,๓๑๓ เมตร แนวกำแพงมีความกว้าง ๖.๕ เมตร สูงประมาณ ๔.๗ – ๕.๒ เมตร แนวกำแพงเมืองที่ล้อมรอบตัวเมืองก่อสร้างด้วยศิลาแลงอันเป็นทรัพยากรที่สำคัญของเมือง มีองค์ประกอบสำคัญคือ แนวกำแพงเมืองที่มีเชิงเทินและใบเสมา ประตูเมือง และป้อมปราการ ประตูเมืองกำแพงเพชรที่ยังคงปรากฏหลักฐานอยู่ในปัจจุบันจำนวน ๙ ประตู ได้แก่ ประตูหัวเมือง ประตูผี ประตูสะพานโคม ประตูวัดช้าง ประตูเตาอิฐ ประตูท้ายเมือง ประตูบ้านโนน ประตูดั้น และประตูเจ้าอินทร์ป้อมปราการพบจำนวน ๑๑ ป้อม  ได้แก่ ป้อมมุมเมืองทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ป้อมมุมเมืองทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ป้อมมุมเมืองทิศตะวันตกเฉียงใต้ ป้อมบ้านโนน ป้อมเจ้าจันทร์ ป้อมวัดช้าง ป้อมเตาอิฐ ป้อมหลังทัณฑสถานวัยหนุ่มป้อมเจ้าอินทร์ป้อมเพชร และป้อมข้างประตูเตาอิฐ
อย่างไรก็ตามอาจมีป้อมและประตูบางแห่งที่ไม่เหลือร่องรอยให้เห็นในปัจจุบัน เช่น ประตูน้ำอ้อย ป้อมมุมเมืองทิศตะวันออกเฉียงใต้ แต่ปรากฏหลักฐานในพระราชนิพนธ์เสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๙ และในแผนที่เมืองกำแพงเพชรที่เขียนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ ที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วง ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชนิพนธ์ทั้งสองฉบับ ปรากฏข้อความที่แสดงพระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับเมืองกำแพงเพชร ลักษณะของป้อมปราการ ประตูเมือง และคูเมือง ที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเปรียบเทียบในปัจจุบัน โดยเฉพาะแผนที่เมืองกำแพงเพชรที่เขียนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ ในพระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วง เป็นแผนที่ที่แสดงตำแหน่งของป้อมประตูเมืองกำแพงเพชร พบประตูน้ำอ้อยซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานในปัจจุบันแต่ในแผนที่ระบุตำแหน่งไว้เป็นบริเวณถัดจากประตูบ้านโนนมาด้านทิศตะวันออก และที่สำคัญคือบริเวณมุมที่บรรจบของแนวกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ หรือมุมเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ พบว่ามีป้อมปราการตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวด้วยซึ่งเป็นพื้นที่ในการดำเนินการขุดตรวจทางโบราณคดีในครั้งนี้ก่อนการดำเนินโครงการก่อสร้างพัฒนาสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว (พัฒนาระบบชลประทาน เพื่อเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์แหล่งมรดกโลกกำแพงเพชร)ของสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกำแพงเพชร โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณตามแผนปฏิบัติราชการจังหวัดกำแพงเพชร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๓และดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีโดยอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
พื้นที่การดำเนินงานตั้งอยู่บริเวณพิกัดเส้นรุ้งที่ ๑๖ องศา ๒๘ ลิปดา ๕๓.๖๘ฟิลิปดา เหนือ เส้นแวงที่ ๙๙ องศา ๓๑ ลิปดา ๓๓.๑๕ฟิลิปดา ตะวันออก ด้านหลังที่ทำการไปรษณีย์ สาขาชากังราว บนถนนราชดำเนิน ๑ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร สภาพก่อนการดำเนินงานเป็นพื้นผิวถนนแบบแอสฟัลติกคอนกรีต (Asphaltic Concrete) และตั้งอยู่บริเวณที่จะดำเนินการวางท่อลอดเพื่อเชื่อมต่อคูเมืองกำแพงเพชรด้านทิศใต้และทิศตะวันออกเข้าด้วยกัน และได้กำหนดขุดหลุมขุดค้นทางโบราณคดีเป็น ๒ หลุม ขนาดกว้าง ๒ เมตร และยาว ๔๐ เมตร และ ๓๐ เมตร ตามลำดับ และวางหลุมขุดค้นทั้งสองหลุมตัดกันเป็นรูปกากบาท
จากการขุดค้นทางโบราณคดีได้พบร่องรอยผิดวิสัยทางโบราณคดี (Archaeological Feature) สำคัญ๒ จุดคือ
๑. พบโครงสร้างสะพานไม้ที่สันนิษฐานว่าใช้เป็นทางสัญจรในอดีต เป็นเสาตอม่อสะพานแบบคานแต่ไม่พบชิ้นส่วนโครงสร้างสะพานด้านบนหรือไม้กระดานที่วางพาดสำหรับเดินข้ามแต่อย่างใด พื้นที่ดังกล่าวน่าจะเป็นคูเมืองด้านทิศตะวันออกต่อทิศใต้มาก่อน และมีกิจกรรมการปรับถมคูเมืองและพื้นที่โดยรอบเพื่อก่อสร้างถนนราชดำเนิน ๑ ที่ใช้สัญจรกันในปัจจุบัน เนื่องจากพบโบราณวัตถุอายุตั้งพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๖ ซึ่งโบราณวัตถุมีลักษณะการพบที่ไม่เรียงลำดับตามอายุสมัย ทั้งนี้ยังปะปนกันในชั้นดินที่นำมาถมร่วมกับการพบวัตถุร่วมสมัยทั้งชิ้นส่วนพลาสติก แก้ว และโลหะ จากรูปแบบโครงสร้างสะพานไม้ที่พบยังไม่สามารถระบุช่วงเวลาการสร้างและการใช้งานได้อย่างชัดเจน แต่จากการพบชิ้นส่วนน้ำยาขัดรองเท้ายี่ห้อ KIWI ที่ปรากฏเครื่องหมายการค้าอยู่ในช่วง พ.ศ. ๒๔๖๗ – ๒๕๑๖ ที่อยู่ในชั้นดินที่นำมาถมคูเมือง และประกอบกับแผนผังเมืองกำแพงเพชรเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๔ และภาพถ่ายทางอากาศปี พ.ศ.๒๕๑๗ ทั้งสองต่างปรากฏถนนในพื้นที่การดำเนินงานแล้ว จึงสามารถระบุได้เบื้องต้นว่ามีการปรับถมคูเมืองเพื่อสร้างถนนราชดำเนินน่าจะอยู่ในช่วงระยะเวลาปี พ.ศ. ๒๔๖๗ – ๒๕๐๔
๒. พบแนวโบราณสถานที่ก่อด้วยศิลาแลง สันนิษฐานจากตำแหน่งที่พบว่าน่าจะเป็นแนวกำแพงเมืองด้านทิศใต้ และมีอายุสมัยของแนวโบราณสถานที่พบสันนิษฐานว่ามีอายุร่วมสมัยกับแนวกำแพงเมืองกำแพงเพชรด้านอื่น ที่มีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ และแนวกำแพงเมืองด้านทิศใต้ในบริเวณนี้น่าจะถูกรบกวนจากการปรับถมพื้นที่ไปพร้อมกับช่วงถมคูเมืองเพื่อก่อสร้างถนนราชดำเนิน ๑ ด้วยเช่นกัน
สามารถสรุปการใช้งานของพื้นที่ดังกล่าวได้ว่า แนวถนนราชดำเนิน ๑ เป็นทางสัญจรที่ใช้เข้าและออกเมืองกำแพงเพชรเดิมก่อนปีพ.ศ.๒๕๐๔ จากการพบแนวโครงสร้างสะพานไม้ที่เป็นหลักฐานแสดงถึงการสร้างสะพานข้ามคูเมือง และในเวลาต่อมาได้มีการปรับถมพื้นที่ทั้งส่วนคูเมืองและกำแพงเมืองเพื่อก่อสร้างถนนราชดำเนิน ๑
*บทความฉบับนี้เรียบเรียงเพื่อประกอบการนำเสนอผลงานวิชาการในการสัมมนา “วิจัยวิจักขณ์” ประจำปี ๒๕๖๕ วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๖ ของนางสาวจินต์จุฑา เขนย นักโบราณคดีปฏิบัติการ อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
เอกสารอ้างอิง
ประทีป เพ็งตะโก. “ป้อมเพชร ปราการเหล็กแห่งอยุธยา”. ศิลปากร. ปีที่ ๔๐, ฉบับที่ ๕ (ก.ย.-ต.ค. ๒๕๔๐) หน้าที่ ๕๐-๖๕.
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. เสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕.พิมพ์ครั้งที่ ๒๖. กรุงเทพฯ : ไทยร่มเกล้า, ๒๕๒๙.
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. เที่ยวเมืองพระร่วง. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๑๙.





























(จำนวนผู้เข้าชม 678 ครั้ง)


Messenger