...

วัดศรีมุณฑา
วัดศรีมุณฑา หรือ วัดบ้านคำฮี อยู่หมู่ที่ ๗ บ้านคำฮี ตำบลโพนทราย อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร ตามประวัติระบุว่า ศาลาการเปรียญทรงจัตุรมุขวัดศรีมุณฑา สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๙ โดย หลวงปู่ดี วงสุปัญโญ (กงนะ) ร่วมกับนายหลง กงนะ ผู้ใหญ่บ้านคำฮี ชาวบ้านคำฮีและชาวบ้านใกล้เคียงได้ร่วมกันตัดไม้บนเขาและชักลากลงมาเป็นเสาศาลาจำนวน ๕๒ ต้น ส่วนกระเบื้องมุงหลังคานำมาจากฝั่งประเทศลาวโดยซื้อในราคาแผ่นละ ๔ สตางค์
. ศาลาการเปรียญ เป็นศาลาโถงขนาดใหญ่สร้างด้วยไม้ ลักษณะใต้ถุนเตี้ยทรงจัตุรมุข มีบันไดก่ออิฐถือปูนเป็นทางขึ้น ๓ ด้าน คือ ด้านทิศเหนือ ทิศตะวันตกและทิศใต้ ตัวศาลาด้านทิศตะวันออกกั้นผนังด้วยฝาไม้กระดาน ทำช่องหน้าต่างทุกห้อง ภายในศาลาเป็นโถงโล่งไม่มีราวระเบียง มุขด้านทิศตะวันออกยกพื้นสูงประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นประธาน หัวเสาทุกต้นสลักลายบัวคว่ำบัวหงาย ช่องลมใช้ไม้ระแนงทำเป็นช่องสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ไม้เชิงชายสลักลาย หลังคาทรงจั่วซ้อนชั้นมุงกระเบื้องดินเผา มีเครื่องประดับสันหลังคาเป็นรูปสถูปแหลม โหง่ว (ช่อฟ้า) เป็นรูปหัวหงส์ ใบระกา และหางหงส์เป็นรูปนาค
. ศาลาการเปรียญวัดศรีมุณฑา นับเป็นศาลาไม้ทรงจัตุรมุขที่มีขนาดใหญ่และสวยงามที่สุดในจังหวัดมุกดาหาร สะท้อนสถาปัตยกรรมแบบไทยใหญ่ที่ส่งผ่านมายังชาวภูไท สามารถใช้เป็นต้นแบบสำคัญในการศึกษารูปแบบทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมท้องถิ่นได้
. พ.ศ. ๒๕๕๘ กรมศิลปากร โดยสำนักศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี (สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี ในปัจจุบัน) ได้จัดสรรงบประมาณมาดำเนินงานบูรณะศาลาการเปรียญวัดศรีมุณฑา และปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ และกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นศาลาการเปรียญวัดศรีมุณฑาเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๑๒๑ ตอนพิเศษ ๕๒ง วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๗ ระวางแนวเขตพื้นที่ประมาณ ๒ ไร่ ๕๕ ตารางวา
-----------------------------------
++++อ้างอิงจาก++++
. กรมศิลปากร. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดมุกดาหาร. กรุงเทพฯ:
โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๔๔. หน้า ๑๔๗.
. สำนักศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี. รายชื่อโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้ว จังหวัดมุกดาหาร. เอกสารอัดสำเนา
, ๒๕๕๒.
ข้อมูล : กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี

(จำนวนผู้เข้าชม 792 ครั้ง)