...

กลองมโหระทึกพบใหม่ ที่บ้านโพน ตำบลบ้านเหล่า อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร

กลองมโหระทึกพบใหม่ ที่บ้านโพน ตำบลบ้านเหล่า อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร

เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 สำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี ได้รับแจ้งจากพนักงานบริษัท วนิชชัยก่อสร้าง 1979 จำกัด ผู้รับสร้างทางหมายเลข 12 ช่วง(ถนนสมเด็จ-มุกดาหาร) พบกลองมโหระทึกอยู่ในเขตบ้านโพน หมู่ 7 ตำบลบ้านเหล่า อ. คำชะอี จ.มุกดาหาร ในที่นาของนางชม สิงห์ศร จากการขุดดินในที่นาเพื่อทำถนนสี่เลน ในขณะที่ใช้รถแบคโฮตักดินพบกลองมโหระทึกอยู่ลึกจากผิวดินประมาณ 1 เมตร ในลักษณะคว่ำอยู่

จากการตรวจสอบ พบกลองมโหระทึกสำริดและชิ้นส่วนกลองมโหระทึกจำนวน 8 ชิ้น สามารถแบ่งได้ตามลักษณะรูปทรง ดังนี้

กลองมโหระทึก หน้ากลองมีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 95 เซนติเมตร ประดับด้วยประติมากรรมรูปกบ จำนวน 4 ตัว มีขนาด 10X5 เซนติเมตร สูง 4 เซนติเมตร ลวดลายหน้ากลองประกอบด้วย ลายดาวหน้ากลอง 12 แฉก ลายซี่หวี ลายวงกลม ลายหยักฟันปลา ลายรูปบุคคลสวมขนนก ลายขนมเปียกปูน และลายนก ตัวกลองสูง 70 เซนติเมตร หูกลองมีขนาด 10X19 เซนติเมตร หนา 1.5 เซนติเมตร

กลองมโหระทึกที่พบนี้จัดว่าเป็นกลองมโหระทึกแบบเฮเกอร์1(Heger I) ตามการแบ่งรูปแบบของนักวิชาการชาวตะวันตก หรือ แบบเหลิงสุ่ยชง (Leng Shui Chong) ตามการแบ่งรูปแบบของนักวิชาการชาวจีน ใช้วิธีการหล่อโลหะแบบแทนที่ขี้ผึ้ง (Lost Wax) มีอายุประมาณ 2,200-1,900 ปี มาแล้ว ร่วมสมัยกับวัฒนธรรมสำริดในจีนตอนใต้ และวัฒนธรรมดองซอนของเวียดนาม ซึ่งมีลวดลายและรูปทรงคล้ายกับกลองมโหระทึกที่พบในเวียดนาม กลองมโหระทึกใบนี้ไม่พบโบราณวัตถุอื่นๆร่วมด้วย จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดการชำรุดจากการใช้งานแล้วจึงนำมาทิ้งไว้ในพื้นที่รกร้างห่างไกลชุมชน

ปัจจุบันกลองมโหระทึกชิ้นนี้เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี เพื่อทำการอนุรักษ์ทางวิทยาศาสตร์ต่อไป

ข้อมูล นางสาวเมริกา สงวนวงษ์

เอกสารอ้างอิง

-เมธินี จิระวัฒนา.2546.กลองมโหระทึกในประเทศไทย.กรุงเทพฯ:สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร.

-Hoang Thi Chien.2013.Thanh Hoa Bronze Drums.Hanoi:Social Sciences Publishing House.

-Wu Chong Ji,Luo Kun Xin,Cai Hong.2018.Decoration Art of Ancient Bronze Drums.Beijing:Wenwuchubanshe.

 

(จำนวนผู้เข้าชม 2596 ครั้ง)