...

คนในสมัยก่อนสุโขทัย
สวัสดีค่ะ สัปดาห์นี้ #พี่โข๋ทัยมีเรื่๋องเล๋า กลับมาพบกับทุกคนอีกครั้ง สำหรับวันนี้ขอนำเสนอข้อมูลทางโบราณคดีที่ได้จากการศึกษาบริเวณลุ่มน้ำแม่ลำพันที่อยู่ทางตอนเหนือของจังหวัดสุโขทัยกันค่ะ 
.
          “คนในสมัยก่อนสุโขทัย” : มิติและมุมมองทางประวัติศาสตร์โบราณคดีจากอดีตถึงปัจจุบัน โดยนายธีรศักดิ์  ธนูศิลป์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย
.
        เรื่องราวในสมัยสุโขทัยหลังพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา มีการศึกษาค้นคว้าอย่างต่อเนื่อง ผ่านหลักฐานทางโบราณคดี จารึก และงานศิลปกรรม นำไปสู่การอธิบายเรื่องราวในมิติต่างๆทางสังคม อดีตของสุโขทัยจึงเป็นที่รับรู้ในแง่มุมที่ว่าด้วยเรื่องของอารยธรรมขอมจากลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก ที่ขยายตัวและเชื่อมโยงพื้นที่มายังดินแดนทางตอนเหนือ นักวิชาการหลายท่านได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า การสร้างบ้านแปงเมืองในสมัยสุโขทัยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมเส้นทางการค้าทางตอนบน และพยายามขยายอาณาเขตไปทางตะวันออกและตะวันตก เพื่อเชื่อมต่อการค้าทั้งสองฝั่งเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดการติดต่อแลกเปลี่ยนและผสมผสานวัฒนธรรมที่หลากหลาย พัฒนาจนกระทั่งมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของยุคสมัยเป็นที่รับรู้จวบจนปัจจุบัน แต่หากมองย้อนกลับมาในเรื่องของพัฒนาการทางสังคมของชุมชนระยะแรกเริ่มในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ลำพันนี้ ในช่วงเวลาก่อนพุทธศตวรรษที่ 18  ยังคงมีช่องว่างและข้อสงสัยทางวิชาการอีกหลายประการ ทั้งในเรื่องของประชากร วิถีชีวิต ความเชื่อ หรือการติดต่อแลกเปลี่ยนกับชุมชนภายนอก เป็นต้น 
.
        ปฐมบทเรื่องคนก่อนสุโขทัยเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 หลังจากมีการขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ฝังอยู่ใต้ฐานอาคารก่อนการสร้างเจดีย์วัดช้างล้อม เมืองศรีสัชนาลัย กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 11 - 12 (จารึก วิไลแก้ว,2540 : 51) ตลอดจนการขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ซึ่งมีเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากหินฝังร่วมอยู่ด้วย ที่แหล่งโบราณคดีบ้านบึงหญ้า อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย กำหนดอายุราว 3,000 – 2,500 ปีมาแล้ว พบเครื่องมือหินขัดรูปทรงคล้ายใบมีด (จตุรพร เทียมทินกฤต,2540 : 19) ซึ่งใบมีดหินนี้เป็นเครื่องมือที่พบเฉพาะในเขตพื้นที่จังหวัดสุโขทัย กำแพงเพชร และพิษณุโลกเท่านั้น (สำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย, 2540 : 10) ข้อมูลดังกล่าวนำไปสู่การขุดค้นทางโบราณคดีในเขตเมืองศรีสัชนาลัย บริเวณแหล่งโบราณคดีวัดชมชื่น (ดูเพิ่มเติมใน ธาดา สุทธิเนตร และคณะ,2540)  เพื่อศึกษาพัฒนาการของพื้นที่ก่อนสมัยสุโขทัยจากหลักฐานที่พบบ่งชี้ว่ามีการเข้ามาใช้พื้นที่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ สมัยโลหะตอนปลาย สมัยทวารวดี สมัยลพบุรี เรื่อยมาจนถึงสมัยสุโขทัย 
.
        หากพิจารณาประเด็นของการสร้างบ้านแปงเมืองสมัยสุโขทัยในบริบทโลกและระบบเศรษฐกิจมหภาค พื้นที่บริเวณนี้ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของกลุ่มอำนาจทางเศรษฐกิจ และสังคม บนพื้นกระแสของอาณาจักรต่างๆ เช่น จีนโบราณ พุกาม   ขอมโบราณ ฯลฯ การพยายามรวมกลุ่มและปฏิสัมพันธ์ของผู้คนเพื่อสร้างอำนาจและตัวตนจึงเกิดขึ้นดังตัวอย่างแผนที่แสดงตำแหน่งบ้านเมืองและชุมชนที่กระจายตัวอยู่ แนวคิดดังกล่าวนำไปสู่การศึกษาพัฒนาการของพื้นที่ก่อนสมัยสุโขทัยในภาพรวม เพื่อศึกษาเรื่องราวในแง่มุมต่างๆ ของชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับเมืองโบราณต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ลำพันซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งของเมืองสุโขทัย และสายน้ำดังกล่าวยังเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ราบระหว่างเทือกเขาสูงในเขตเมืองเก่าสุโขทัยและเทือกเขาสูงตอนบนซึ่งเป็นเส้นทางการค้าโบราณและแหล่งทรัพยากรที่สำคัญมาตั้งแต่อดีต
        ขอบเขตพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ลำพันนั้นอ้างอิงจากจุดกำเนิดต้นน้ำแม่ลำพันบริเวณด้านเหนือสุดคือเทือกเขาสูงในเขตรอยต่ออำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัยและอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ความสูงประมาณ 750เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลางเป็นแนวเทือกเขาสูงแรกก่อนจะเข้าสู่พื้นที่ภาคเหนือตอนบน และทางด้านตะวันตกติดต่อกับเทือกเขาสูงของจังหวัดตากที่ต่อเนื่องไปถึงประเทศเมียนมา โดยคลองแม่ลำพันจะไหลลงสู่ที่ราบลุ่มเมืองเก่าสุโขทัยใกล้ทำนบ 7 อ  ผ่านที่ราบลุ่มต่ำลงสู่แม่น้ำยม เป็นระยะทางกว่า 100 กิโลเมตรตลอดเส้นทางของลำน้ำสายนี้
.
         จากการดำเนินงานทางโบราณคดีในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ลำพันที่ผ่านมาพบหลักฐานทางโบราณคดีที่เป็นประจักษ์พยานถึงกลุ่มชุมชนระยะแรกเริ่มสืบเนื่องจนถึงสมัยสุโขทัย โดยพบหลักฐานทางโบราณคดี เช่น เครื่องมือขวานหินขัด กำหนดอายุในเบื้องต้นประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว กลองมโหระทึกสำริด เครื่องมือโลหะ และหลักฐานที่เกี่ยวกับงานโลหะกรรม ที่แสดงให้เห็นว่า ชุมชนบิเวณนี้มีบทบาทสำคัญในฐานะที่เป็นแหล่งทรัพยากร และผู้มีองค์ความรู้ในการใช้สินแร่ ประกอบกับเป็นพื้นที่สำคัญบนเส้นทางที่จะใช้ในการเชื่อมโยงโครงข่ายชุมชนต่าง ๆ สอดคล้องกับกระจายตัวของแหล่งถลุงโลหะจำนวนมากในเขตพื้นที่เทือกเขาสูงตอนบนของประเทศไทย ซึ่งชุมชนเหล่านี้ส่งผลต่อการเจริญขึ้นของชุมชน และพัฒนาเป็นเมืองต่างๆในสมัยสุโขทัยในที่ราบลุ่มตอนล่างในที่สุด (ดูเพิ่มเติมใน ธีรศักดิ์ ธนูศิลป์, 2561)  
.
        การศึกษาเรื่องของคนก่อนสุโขทัยในปัจจุบัน นอกจากจะเป็นการขยายกรอบองค์ความรู้ทางวิชาการ ยังก่อให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของเศรษฐกิจต่อยอดจากต้นทุนทางวัฒนธรรม (มรดกโลก) ที่ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน
.
อ้างอิง
จารึก วิไลแก้ว. “โครงกระดูกสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านบึงหญ้า อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย” นิตยสารศิลปากร ปีที่ 41 ฉบับที่ 3. (พฤษภาคม – มิถุนายน). 2541.
จตุรพร เทียมทินกฤต. รายงานการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านบึงหญ้า ตำบลหนองจิก อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย. เอกสารอัดสำเนา. 2540.           
สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย. รายงานการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบ ตำบลวังประจบ อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก. เอกสารอัดสำเนา. 2550.
ธาดา สุทธิเนตร และคณะ. วัดชมชื่น. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. 2540.   
ธีรศักดิ์ ธนูศิลป์. 111 โบราณคดีสโมสร. กรุงเทพฯ : สมาคมนักโบราณคดี. 2561.






(จำนวนผู้เข้าชม 7554 ครั้ง)