...

แหล่งโบราณคดี โบราณสถานในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์
 #พี่โข๋ทัยมีเรื๋องเล๋า ขอนำเสนอข้อมูลแหล่งโบราณคดี โบราณสถานในพื้นที่ วันนี้เราพาขึ้นเหนือไปที่ลุ่มแม่น้ำน่านที่จังหวัดอุตรดิตถ์กันค่ะ มาเรียนรู้ข้อมูลแหล่งโบราณคดีในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในจังหวัดอุตรดิตถ์กันนะคะ
.
           ที่ราบลุ่มแม่น้ำน่านในจังหวัดอุตรดิตถ์เป็นอีกบริเวณหนึ่งที่ปรากฏหลักฐานการเข้ามาอยู่ของมนุษย์ หลักฐานจากการสำรวจโดยกรมศิลปากร พบว่า ตามเส้นทางลำน้ำน่านบริเวณตอนใต้เขื่อนสิริกิติ์ลงมาที่แหล่งโบราณคดีบ้านวังแพวน แหล่งโบราณคดีแก่งตาน ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา แหล่งโบราณคดีปางต้นผึ้ง และแหล่งโบราณคดีม่อนอารักษ์ อำเภอลับแล ได้พบหลักฐานการเข้ามาอยู่อาศัยของมนุษย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีการใช้เครื่องมือหินขัด คือ ประมาณ 3,000 - 2,500 ปีมาแล้ว แต่หลักฐานที่พบมีน้อยมาก สันนิษฐานได้เพียงว่า น่าจะเป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราวของกลุ่มชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในสังคมระบบเร่ร่อน จับสัตว์ หาปลา (Hunting and Gathering Society) ซึ่งยังไม่มีการตั้งถิ่นฐานที่แน่นอน อาศัยความอุดมสมบูรณ์จากธรรมชาติเพื่อดำรงชีวิต ส่วนแหล่งโบราณคดีถ้ำกระดูก จากหลักฐานที่พบสันนิษฐานว่า คงจะใช้เป็นที่ฝังศพ ซึ่งน่าจะแยกจากแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์ในสมัยโบราณที่รู้จักการใช้เครื่องมือสำริดแล้ว จัดอยู่ในยุคสังคมกสิกรรมเช่นกัน
              แหล่งโบราณคดีที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่ง คือ แหล่งภาพเขียนสีเขาตาพรม อำเภอทองแสนขัน ซึ่งปรากฏภาพเขียนสีในรูปแบบเชิงสัญลักษณ์แบบเดียวกับที่พบที่บ้านผือ จังหวัดอุดรธานี สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นภาพเขียนสีของกลุ่มชนที่รู้จักทำการกสิกรรมแล้ว และภาพเขียนสีเหล่านี้อาจจะเป็นภาพเขียนสีที่แสดงออกถึงการประกอบพิธีกรรมนั้น 
              การขุดพบกลองมโหระทึก กาน้ำ และพร้าสำริด ที่บริเวณวัดเกษมจิตตาราม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ นั้น น่าจะแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมด่งเซินของเวียดนาม (Dong Son Culture) เนื่องจากกลองมโหระทึกนั้นเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมของกลุ่มชนในสมัยโบราณ
.
               เมื่อประมวลหลักฐานทางโบราณคดีเท่าที่ค้นพบแล้ว ทำให้ทราบในขั้นต้นว่า ในเขตพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ได้เคยมีมนุษย์เข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และน่าจะมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันของหลักฐานทางโบราณคดีระหว่างท้องถิ่นต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณที่ราบลุ่มแม่
น้ำน่านและลำน้ำสาขา แสดงว่า ชุมชนเหล่านี้น่าจะมีการติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างมนุษย์ในท้องถิ่น จนเกิดเป็นชุมชนขึ้นมา และมีความสัมพันธ์ไปถึงที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งได้แก่ ดินแดนทางภาคอีสานเหนือของไทย แขวงไชยบุรีของลาว และอาจจะเลยไปถึงแหล่งวัฒนธรรมด่งเซินในเวียดนามด้วย 
การพบหลักฐานทางโบราณคดีในสมัยโลหะ พบโบราณวัตถุ เครื่องมือเครื่องใช้และอาวุธ รวมทั้งเครื่องประดับ เช่น กำไล ตุ้มหู ที่ทำจากเหล็กและสำริด 
.
               อาจจะกล่าวได้ว่า สมัยโลหะนี้เป็นช่วงสมัยที่บางชุมชนได้พัฒนาเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ที่ประดิษฐ์อักษรสื่อสารกันได้ บางชุมชนก็ยังคงเป็นสมัยก่อนประวัติศาสตร์อยู่แต่คงมีการพัฒนาวิถีชีวิตให้ดีขึ้น มีการอยู่รวมเป็นชุมชน มีระบบการปกครอง มีผู้นำเป็นหัวหน้า มีการแบ่งชนชั้นในสังคม  มีการติดต่อกับชุมชนอื่นที่อยู่ห่างไกลและมีการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ ดังที่ได้พบหลักฐานคือ กลองมโหระทึกสำริด ซึ่งใช้ในพิธีกรรมขอฝนหรือพิธีศพ เรียกวัฒนธรรมนี้ว่า “วัฒนธรรมด่งเซิน” (Dong Son Culture) ตามแหล่งที่พบครั้งแรกที่เวียดนาม แต่ก็ยังมีข้อสันนิษฐานบางประการในการขุดพบกลองมโหระทึกว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่อาจจะมีการเคลื่อนย้ายกลองมโหระทึกเหล่านี้เข้ามาพร้อมกับกลุ่มชนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้ เนื่องจากบริเวณที่ขุดพบกลองมโหระทึกนี้ ไม่พบเศษชิ้นส่วนของแม่พิมพ์ดินเผา , เศษตะกรัน (Slag) ที่เกิดจากการหลอมโลหะ หรือชิ้นส่วนเบ้าหลอมโลหะดินเผาภายในบริเวณนี้ ซึ่งในอนาคตควรที่จะดำเนินการศึกษาขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
.
              ส่วนการตั้งถิ่นฐานของสมัยโลหะในระยะแรกคงเป็นการรวมตัวเป็นชุมชนเล็กๆ มีเครื่องมือเครื่องใช้ทำด้วยโลหะ  ต่อมาเมื่อสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น จึงเริ่มมีการแลกเปลี่ยนค้าขายกับดินแดนทั้งใกล้เคียงและห่างไกลเพิ่มขึ้นด้วยเป็นผลให้ชุมชนขยายเติบโตขึ้น เกิดการขยายอำนาจไปยังชุมชนใกล้เคียง มีการรวมตัวกันสร้างคันดิน ขุดคูน้ำ เพื่อป้องกันการรุกรานจากชุมชนอื่นๆ ซึ่งแสดงถึงระบบของการควบคุมกำลังคน จนบางชุมชนสามารถขยายตัวกลายเป็นบ้านเมืองได้ในที่สุด
.
             อย่างไรก็ตาม การเขียนบทความในครั้งนี้เป็นเพียงการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นจากเอกสารที่กล่าวถึงแหล่งโบราณคดีซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ และ พ.ศ. ๒๕๕๑ เท่านั้น และในปัจจุบันแหล่งโบราณคดีเหล่านี้ยังไม่ได้มีการขุดค้นทางโบราณคดีเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการศึกษาเก็บข้อมูลทางวิชาการอย่างเป็นระบบ หากในอนาคตได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อนำมาดำเนินงานขุดค้นทางโบราณคดี ข้อมูลที่ได้จากการขุดค้นจะช่วยให้เราเข้าใจและมองเห็นภาพรวมของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของจังหวัดอุตรดิตถ์ได้มากยิ่งขึ้น และสามารถนำเรื่องราวเหล่านั้นไปเผยแพร่ให้กับประชาชนและผู้สนใจได้ต่อไป












(จำนวนผู้เข้าชม 2789 ครั้ง)