องค์ความรู้ทางวิชาการ ชุด อิทธิพลจีนในภาคใต้ ตอน เครื่องถ้วยจีน
องค์ความรู้ทางวิชาการ ชุด อิทธิพลจีนในภาคใต้ ตอน เครื่องถ้วยจีน
 
 
     เครื่องถ้วย....คือ คำเรียกเครื่องปั้นดินเผา ตรงกับภาษาอังกฤษว่า เซรามิกส์ (Ceramics)  คือการทำขึ้นโดยมีดิน เป็นส่วนประกอบหลัก สามารถแบ่งออกได้เป็น ๓ ชนิด ตามลักษณะของเนื้อดิน และอุณหภูมิที่ใช้เผา ได้แก่ 
๑. เนื้อดินธรรมดา (Earthenware) เป็นเครื่องปั้นดินเผาเนื้อหยาบ เนื้อดินสีแดง เผาในอุณหภูมิต่ำ ราว ๘๐๐ - ๙๐๐ องศา 
๒. เนื้อดินแกร่ง (Stoneware) เป็นเครื่องปั้นดินเผาที่มีส่วนผสมของหินจำพวกซิลิกาปนอยู่เกินครึ่งหนึ่ง เผาในอุณหภูมิสูง ๑๑๙๐ - ๑๓๙๐ องศา
๓. เครื่องถ้วยเนื้อดินชนิดพอร์สเลน (Porcelain)  หรือเนื้อกระเบื้อง เป็นเครื่องถ้วยที่ต้องเตรียมดินขึ้นเป็นพิเศษ มีส่วนผสมของหินควอตซ์ (หินฟันม้า) ดินเกาลิน ดินเหนียวขาว (ball clay) และวัตถุอื่นๆ เมื่อเผาสุกตัวจะมีสีขาว และโปร่งแสง โดยเผาในอุณหภูมิตั้งแต่ ๑,๒๕๐ องศาเซลเซียส ขึ้นไป 
 
เครื่องถ้วยจีน.....จดหมายเหตุจีน กล่าวว่า มีชาวจีนเดินทางเข้ามาติดต่อกับดินแดนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจีนเรียกว่า “ประเทศในแถบทะเลจีนใต้” มาเป็นเวลากว่าพันปีแล้ว รวมทั้งดินแดนของประเทศไทยในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นแหล่งกำเนิดของสมุนไพร ของป่า และเครื่องเทศ ซึ่งชาวจีนใช้ปรุงยาและประกอบอาหาร 
         ด้วยสภาพภูมิประเทศบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ อันมีลักษณะเป็นคาบสมุทรยื่นขนาบด้วยชายทะเลทั้งสองฝั่งมีอ่าวและแหลมยื่น ซึ่งเป็นลักษณะทางภูมิประเทศที่เหมาะสำหรับการเดินเรือ และเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในเส้นทางการค้าทางทะเล เนื่องจากเป็นสถานที่เหมาะสมสำหรับการพักสินค้าและพบปะระหว่างพ่อค้าจีนกับพ่อค้าอินเดีย ซึ่งต่างก็อาศัยลมมรสุมเดินทางมาพบกันครึ่งทาง จึงทำให้พื้นที่บริเวณภาคใต้มีการค้นพบเครื่องถ้วยจีนจากแหล่งโบราณคดีต่างๆจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่พบตามแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งหลุมฝังศพ แหล่งเรืออับปาง และแหล่งศาสนสถานบริเวณฐานของโบสถ์หรือวิหาร ซึ่งเป็นที่ฝังภาชนะที่ทำหน้าที่การใช้งานเป็นโกศบรรจุอัฐิของผู้ตาย หรือเป็นของอุทิศบรรจุไว้ในโถหรือไหพร้อมกับสิ่งของอื่นๆ เช่น เครื่องใช้หรือเครื่องประดับที่ทำด้วยสำริด เงิน หรือทอง เพื่ออุทิศให้แก่ผู้ตาย หรือบรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาตามความเชื่อถือทางศาสนาพุทธ และมักพบร่วมกับโบราณวัตถุอื่นๆ อยู่เสมอ ทั้งในสภาพสมบูรณ์และสภาพแตกหัก (ณัฐพงษ์ แมตสอง, ๒๕๕๖) 
         จากการสำรวจและขุดค้นของกรมศิลปากร ได้มีการค้นพบเครื่องถ้วยจีน โดยเครื่องถ้วยจีนที่พบส่วนใหญ่มีอายุตั้งแต่ปลายสมัยราชวงศ์ถังลงมา ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๔ (กลางคริสต์ศตวรรษที่ ๙)  โดยเฉพาะจากแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ ๒ แหล่ง คือ แหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และแหล่งโบราณคดีเหมืองทอง ตำบลเกาะคอเขา อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา นอกจากนั้นได้ค้นพบเครื่องถ้วยจีนกระจายอยู่ในหลายแหล่งโบราณคดีในพื้นที่คาบสมุทรภาคใต้ รวมไปถึงในเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของการส่งออกเครื่องถ้วยในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๔ (กลางคริสต์ศตวรรษที่ ๙)  โดยอาศัยการเดินเรือและการค้าทางทะเล ที่สามารถเชื่อมต่อชุมชนโบราณของทั้งสองฝั่งทะเลผ่านเส้นทางข้ามคาบสมุทร
(ปริวรรต ธรรมาปรีชากร, มปพ)
 
++ เครื่องถ้วยจีนที่ค้นพบในภาคใต้แบ่งออกเป็น ๖ สมัย ได้แก่
๑. ปลายสมัยราชวงศ์ถังถึงสมัยห้าราชวงศ์
๒. สมัยราชวงศ์ซ่ง
๓. สมัยราชวงศ์เยวี๋ยน (หยวน)
๔. สมัยราชวงศ์หมิง
๕. สมัยราชวงศ์ชิง
๖. สมัยสาธารณรัฐ
 
เรียบเรียง : 
นางสาวจุตินาฏ บวรสาโชติ นักโบราณคดีชำนาญการ  
นางสาวอนุธิดา ส่งบำเพ็ญ และ นางสาวลัดดาวัลย์ สุวรรณคีรี นักวิชาการวัฒนธรรม
กราฟฟิก : นางสาวอนุธิดา ส่งบำเพ็ญ 
กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช
      
อ้างอิง : 
ปริวรรต ธรรมาปรีชากร. (มปพ). ความรู้ใหม่เกี่ยวกับการกำหนดอายุและแหล่งผลิตของเครื่องปั้นดินเผาจีน ที่พบจากแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย, เอกสารอัดสำเนา 
ปิยชาติ สึงตี. (๒๕๕๐). การศึกษาเปรียบเทียบบทบาทของเมืองท่าปัตตานี นครศรีธรรมราช สงขลา ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๓๓ – ๒๒๓๑. 
สำนักศิลปากรที่ ๑๔ นครศรีธรรมราช. (๒๕๕๖). เอกสารประกอบการสัมมนาการประชุมสัมมนาถวายความรู้แด่พระสังฆาธิการและฆราวาสผู้สนับสนุนวัด. นครศรีธรรมราช : สำนักศิลปากรที่ ๑๔ นครศรีธรรมราช กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม.
Li Pingshun. (๒๕๔๙). เครื่องถ้วยจีน การสำรวจขุดค้นในประเทศไทย. เอกสารอัดสำเนา. (ม.ป.ท.)
 
ที่มาภาพ : สำนักศิลปากรที่ ๑๔ นครศรีธรรมราช. (๒๕๕๖). เอกสารประกอบการสัมมนาการประชุมสัมมนาถวายความรู้แด่พระสังฆาธิการและฆราวาสผู้สนับสนุนวัด. นครศรีธรรมราช : สำนักศิลปากรที่ ๑๔ นครศรีธรรมราช กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม.

(จำนวนผู้เข้าชม 100 ครั้ง)