องค์ความรู้ชุด อิทธิพลจีนในภาคใต้ตอนบน EP. ๒ ตอน เหมืองสร้างเมือง
องค์ความรู้ชุด อิทธิพลจีนในภาคใต้ตอนบน
EP. ๒ ตอน เหมืองสร้างเมือง
 
     เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับชาวจีนและวัฒนธรรมจีนในประเทศไทย ปรากฏในหลักฐานทางโบราณคดีมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และปรากฏอยู่อย่างสม่ำเสมอเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ผ่านข้าวของเครื่องใช้ โบราณวัตถุต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานศิลปกรรม สถาปัตยกรรม วรรณกรรม และความเชื่อ ทั้งนี้เอกสารทางประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่ามีชาวจีนจำนวนมากเดินทางเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในดินแดนประเทศไทยผ่านการค้าขาย และเป็นแรงงานในทุกภาคส่วน สำหรับภาคใต้ตอนบน ปรากฏหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการเข้ามาของชาวจีนและอิทธิพลวัฒนธรรมจีน อย่างเด่นชัดผ่านเครื่องถ้วยจีน ดังนำเสนอแล้วใน EP.๑ ซึ่งสะท้อนตัวตนคนจีนผ่านการแลกเปลี่ยนสินค้า และค่านิยมความเชื่อที่แฝงมากับลวดลายบนเครื่องถ้วย อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมมองหนึ่ง ชาวจีนผู้เป็นแรงงานสำคัญมาทุกยุคทุกสมัย ยังปรากฏร่องรอยหลักฐานที่หลงเหลืออยู่ผ่านร่องรอยการทำเหมืองแร่ เป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาบ้านเมืองจากป่าสู่เหมือง จากเหมืองสู่เมือง และก้าวข้ามเส้นกั้นแห่งสถานะทางสังคม จากกุลีสู่เจ้าเมือง และเป็นส่วนสำคัญยิ่งในการพัฒนาหมู่บ้านของชาวเหมือง โดยเฉพาะเหมืองดีบุกซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีอย่างล้นเหลือในภาคใต้ตอนบน ให้เป็นเมืองทางเศรษฐกิจ ดังในปัจจุบัน
 หลักฐานเอกสารที่กล่าวถึงเรื่องราวเกี่ยวกับการทำเหมืองดีบุกในประเทศไทย ปรากฏการผ่านสัญญาการค้าระหว่างสยามและโปรตุเกสในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๒๐๕๙ โดยกล่าวถึงการยินยอมส่งออกสินค้าหลายชนิดรวมถึงดีบุก เมื่อถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๑๙๙ – ๒๒๓๑) ปรากฏว่าราชสำนักสยามยินยอมให้ฮอลันดาได้รับสัมปทานดีบุกในพื้นที่เขต ชุมพร ไชยา บ้านดอน และกาญจนดิษฐ์ ส่วนฝรั่งเศสได้รับสัมปทานดีบุกที่ภูเก็ต ด้วยความต้องการแร่ดีบุกเพิ่มมากขึ้นของตลาดโลก ทำให้ชาวจีนโพ้นทะเลหลั่งไหลมาจากเกาะปีนังจำนวนมาก เข้ามาเป็นกุลีในเหมืองแร่บริเวณหัวเมืองทางภาคใต้ต่อมาชาวจีนเหล่านั้นจีนได้เปลี่ยนแปลงสถานะจากกุลีจีนขึ้นเป็นนายเหมือง
     การทำเหมืองแร่สมัยนั้นเป็นการทำบนไหล่เขา และมีการทำเหมืองแร่ทั้งทางบกและทางทะเล เช่น เหมืองแล่น เป็นการทำเหมืองแร่ที่มีวิธีการไม่ซับซ้อนมากนัก คือการใช้เครื่องมือขุดหน้าดินแล้วใช้แรงน้ำฉีดหน้าดินน้ำจะพาหน้าดินที่มีแร่ไปตามราง แร่ที่มีน้ำหนักจะจมลงแล้วจึงทำการกู้แร่ ซึ่งเหมืองแล่นต่อไปจะพัฒนาเป็น เหมืองสูบ คือเมื่อขุดไปหาจุดที่ต่ำที่สุดแล้วตั้งหัวสูบไว้แล้วสูบแร่ขึ้นไปตามรางแร่เพื่อกู้แร่ เหมืองหาบ เป็นการทำเหมืองที่ใช้กำลังคนในการแบกหาบเอาหน้าดินไปล้างในรางแล่นแร่เช่นเดียวกับเหมืองแล่น โดยแรงงานส่วนใหญ่เป็นกุลีจีนที่เข้ามารับจ้างสมัยนั้น เหมืองอุโมงค์ เป็นการทำเหมืองโดยการขุดดินเป็นอุโมงค์เพื่อหาสายแร่ แรงงานส่วนใหญ่เป็นกุลีจีน เหมืองฉีด มีวิธีการคล้ายเหมืองแล่นคือการฉีดน้ำไปยังหน้าดินแล้วปล่อยให้น้ำไหลไปสู้รางกู้แร่ เหมืองเรือขุด มักจะขุดในพื้นที่ที่เปิดหน้าดินแล้วและจะมีต้องมีน้ำในหลุมมากจึงมักขุดในพื้นที่ชายฝั่งทะเล 
 ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ มีผู้คนจากพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะชาวจีนที่อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งค้าขายและทำเหมืองแร่ดีบุก จากกุลีชาวจีนก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในเหมืองแร่มากขึ้นซึ่งต่อมาได้ดำเนินกิจการเหมืองแร่ให้เจริญรุ่งเรืองไปพร้อมกับการนำอิทธิพลจีนเข้าสู่ภาคใต้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น ทั้งยังได้รับการไว้วางใจจากส่วนกลางให้เป็นผู้ประมูลผูกขาดการส่งภาษีอากรดีบุก ชาวจีนที่ประกอบการเหมืองแร่มีส่วนสำคัญต่อการวางรากฐานบ้านเมืองปรากฏอิทธิพลจีนอย่างเด่นชัด คือพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง) จางวางกำกับราชการเมืองระนองคนแรก ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นชาวจีนฮกเกี้ยนอพยพมาจากประเทศจีน เริ่มต้นทำการค้าขายและเกษตรกรรมที่เกาะปีนัง ต่อมาเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยที่เมืองพังงา แล้วย้ายมาที่เมืองระนอง จึงได้ทำกิจการเหมืองแร่ดีบุกแล้วได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้คอซู้เจียง ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองระนอง นับว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเมืองให้มีความเจริญรุ่งเรืองทั้งสร้างศาลาว่าการเมืองสำหรับชำระคดีความ ถนนหนทาง หรือแม้แต่ด้านการทำนุบำรุงศาสนาด้วยการสร้างวัดสุวรรณคีรีทาราม หรือวัดสุวรรณคีรีวิหาร ริมคลองหาดส้มแป้น การปราบอั้งยี่ที่นำไปสู่การสร้างกำแพงรอบจวนเจ้าเมืองระนอง (ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานที่อยู่ในความดูแลของสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช) และจัดวางระบบเหมืองแร่จีนให้ดียิ่งขึ้น ถือเป็นผลงานที่สามารถสะท้อนให้เห็นว่าคนจีนเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเมืองผ่านกิจการเหมืองแร่ที่รุ่งเรือง 
     ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ความนิยมใช้แร่ดีบุกในอุตสาหกรรมเริ่มลดลงจากการเริ่มมีการนำพลาสติกเข้ามาใช้มากขึ้นประจวบกับการขยายตัวเศรษฐกิจโลกทำให้ความนิยมของแร่ดีบุกลดลง ประกอบกับราคาที่ตกต่ำลงทำให้เหมืองแร่ดีบุกส่วนใหญ่ต้องยุติกิจการไป แต่อย่างไรก็ตามชาวจีนที่ที่เข้ามาทำเหมืองแร่ดีบุกก็ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญหนึ่งในการขับเคลื่อนความเจริญให้เกิดขึ้นในภาคใต้ของประเทศไทย ถึงแม้ว่าจะมีสิ่งที่คอยบ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่ของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุกในอดีตอยู่ไม่มากนัก แต่โบราณสถานที่เป็นผลพวงจาการเข้ามาของแรงงานชาวจีนก็มีอิทธิพลในการสร้างสรรค์ความเจริญของเมืองได้เป็นอย่างดี สมกับคำที่ว่า “เหมืองสร้างเมือง”
     เรียบเรียง ทัศพร กั่วพานิช นักวิชาการวัฒนธรรม
     กราฟฟิค ทัศพร กั่วพานิช นักวิชาการวัฒนธรรม
     ตรวจทาน สิริยุพน ทับเป็นไทย นักโบราณคดีปฏิบัติการ

     แหล่งข้อมูลอ้างอิง
กรมศิลปากร. ประวัติและผลงานของชาวต่างชาติในประเทศไทย เล่ม ๔. กรุงเทพฯ: อัมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด, ๒๕๖๖.
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่. ๑ ทศวรรษ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ๑๒๑ ปี อุตสาหกรรมเหมืองแร่ไทย. กรุงเทพฯ: กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่, ๒๕๕๕.
จังหวัดระนอง. สมุดภาพเมืองระนอง. นนทบุรี: สำนักพิมพิมพ์ต้นฉบับ, ๒๕๖๑.
ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง. “มหาลัยเหมืองแร่ ตะกั่วป่า.” เมืองโบราณ ปีที่๔๔, ฉบับที่๒ (เมษายน -มิถุนายน ๒๕๖๑): ๔๒.
พวงทิพย์ เกียรติสหกุล. “กิจการเหมืองแร่ในมณฑลภูเก็ต พ.ศ. ๒๔๐๐ – ๒๔๗๕,” วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ๑๙, ๑ – ๒ (๒๕๔๐): ๗๑ – ๙๑
มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, ๒๕๕๔.
ศุภการ สิริไพศาล. ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยในปริทรรศน์ประวัติศาสตร์. ลำดับที่ ๘ พัฒนาการของกลุ่มทุนและเครือข่ายธุรกิจท้องถิ่นในภาคใต้ของประเทศไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน. กรุงเทพฯ: ศักดิ์โสภาการพิมพ์, ๒๕๖๐.
สำนักงานจังหวัดระนอง. แผนที่มรดกทางวัฒนธรรมเมืองเก่าระนอง. กรุงเทพฯ: เทสโก้, ๒๕๖๒.
หน่วยศิลปากรที่ ๘ นครศรีธรรมราช. รายงานการศึกษาวิจัยเพื่อจัดทำแผนแม่บท: โครงการอนุรักษ์เมืองประวัติศาสตร์ภูเก็ต. ม.ป.ท.: สำนักพิมพ์สมาพันธ์, ๒๕๓๗.

(จำนวนผู้เข้าชม 172 ครั้ง)