โบราณสถานวัดท้าวโคตร
องค์ความรู้ทางวิชาการ เรื่อง โบราณสถานวัดท้าวโคตร
ที่ตั้ง : ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช
ประวัติและความสำคัญ
วัดท้าวโคตร เป็นวัดเก่าแก่ตั้งอยู่นอกกําแพงเมืองนครศรีธรรมราช ทางด้านทิศใต้ เดิมบริเวณนี้มีวัด ตั้งอยู่ ๕ วัด คือ วัดประตูทอง วัดธาราวดี (วัดไฟไหม้) วัดวา วัดศพเดิม และวัดท้าวโคตร
 โบราณสถานสําคัญภายในวัดได้แก่ เจดีย์ขนาดใหญ่ก่อด้วยอิฐและหินปะการัง ส่วนยอดพังทลาย ได้รับการขุดแต่งและบูรณะโดย หน่วยศิลปากรที่ ๘ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ อุโบสถหลังเก่ามีลักษณะเป็นอาคารทรงไทย ขนาด ๕ ห้อง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยลงรักปิดทอง จีวรทาสีชาด และมีภาพจิตรกรรมแบบไทยประเพณีเขียนบนไม้กระดานคอสอง เล่าเรื่องพุทธประวัติและทศชาติชาดก บางภาพปรากฏภาพชาวตะวันตกทำให้กำหนดอายุได้ว่าน่าจะเขียนขึ้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา โดยรอบอุโบสถปักใบเสมา สลักลวดลาย นอกจากนี้ทางด้านทิศใต้ของอุโบสถยังเคยมีเนินโบราณสถาน ปัจจุบันได้สร้างอาคารขนาดเล็ก บนเนินนี้ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่ง ๓ องค์ เรียกว่า วิหารหลวงพ่อสบเดิม.
--------------------------------------------------------------------------
ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๖ ตอนที่ ๑๔๕ หน้า ๒๙๕๔ วันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๒๒ 
พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๒ ไร่ ๒ งาน ๓๑ ตารางวา
อายุสมัย  สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา)
--------------------------------------------------------------------------
สิ่งสำคัญ
๑. เจดีย์ ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมบนฐานสี่เหลี่ยม ด้านทิศตะวันออกมีมุขยื่นออกมา ขนาดของฐานกว้าง ๑๓.๓๐ เมตร ยาว ๑๗.๓๐ เมตร ทางด้านมุขหน้ามีการย่อขนาดแล้วตัดตรง ส่วนยอดพังทลาย
๒. อุโบสถหลังเก่า เป็นอาคารทรงไทย ขนาด ๕ ห้อง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีลานปูอิฐบริเวณส่วนหน้าของอาคารภายในกำแพงซึ่งผนังกำแพงเป็นผนังเดียวกันกับผนังของอุโบสถ เสาร่วมในของอุโบสถเป็นเสาไม้แก่น ด้านนอกมีเสาปูนติดอยู่กับส่วนผนังอาคาร ผนังอาคารมีความสูง ๒ เมตร ถัดขึ้นไปเป็นช่องลมทำด้วยบานไม้เกล็ดสูงขึ้นไปจนถึงเชิงชาย เครื่องบนเป็นเครื่องไม้ ไม่ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา หน้าบันไม่มีการตกแต่งลวดลายด้านในของเสาร่วมในทั้งสองแถวประดับด้วยแผงไม้คอสองด้านละ ๑ แถว ภายในอุโบสถประดิษฐาน พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง จีวรสีทาชาด
๓.วิหารหลวงพ่อสบเดิม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเจดีย์ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่ง ๓ องค์ 
--------------------------------------------------------------------------
#ภาพจิตรกรรม:
ภายในอุโบสถหลังเก่ามีภาพจิตรกรรมเขียนบนไม้กระดานคอสอง เขียนด้วยสีฝุ่นบนไม้ มีภาพทั้งหมด  ๔๐ ห้อง ฝั่งทิศใต้เขียนเรื่องพุทธประวัติ ฝั่งทิศเหนือเขียนเรื่องทศชาติชาดก
--------------------------------------------------------------------------
จัดทำโดย
นายสรรชัย แย้มเยื้อน และ นายสหภาพ ขนาน นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ สาขาการจัดการสารสนเทศ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
--------------------------------------------------------------------------
อ้างอิง
นภัคมน ทองเผือ. โบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนในเขตพื้นที่สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช: สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, ๒๕๖๓
สำนักศิลปากรที่ ๑๔ นครศรีธรรมราช. จิตรกรรมบนคอสองอุโบสถหลังเก่าวัดท้าวโคตร. สำนักศิลปากรที่ ๑๔ นครศรีธรรมราช, ๒๕๕๐.

(จำนวนผู้เข้าชม 488 ครั้ง)