โบราณสถานวัดสวนหลวง
โบราณสถานวัดสวนหลวง
 
วัดสวนหลวง เป็นวัดโบราณ ตั้งอยู่ในเขตเมืองโบราณพระเวียง อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวกันว่าพื้นที่ตั้งวัดนั้น เดิมเป็นอุทยานหลวงของพระเจ้าศรีธรรมโศกราชผู้ครองเมืองพระเวียง ต่อมาสถาปนาขึ้นเป็นวัดให้ชื่อว่าวัดสวนหลวง เดิมวัดสวนหลวงมีเนื้อที่ถึง ๕๐ ไร่ แต่ปัจจุบันมีเนื้อเหลืออยู่เพียง ๒๒ ไร่ ๑ งาน ๓๐ ตาราวา เนื่องจากเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ ทางราชการได้ตัดถนน นครศรีธรรมราช – ร่อนพิบูลย์ หรือ “ถนนราชดำเนิน” จึงทำให้วัดสวนหลวง ถูกแบ่งออกเป็น ๒ วัด คือ วัดสวนหลวงตะวันออก และวัดสวนหลวงตะวันตก กระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ วัดสวนหลวงตะวันออกได้ร้างไป เหลือเพียงวัดสวนหลวงตะวันตก เจ้าอาวาสในสมัยนั้นจึงใช้เรียกนามวัดในทางราชการและคณะสงฆ์ว่า “วัดสวนหลวง” แต่นั้นมา
 
ภายในวัดสวนหลวงปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีสำคัญ ได้แก่ 
(๑) อุโบสถ มีการตกแต่งด้วยประติมากรรมปูนปั้นภาพพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ตอนเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ประกอบด้วยพระกกุสันโธ พระโกนาคม พระกัสสปะ พระโคตมะ เเละพระศรีอริยเมตไตรย บริเวณผนังด้านในอุโบสถ และตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์บริเวณผนังด้านหน้าอุโบสถ / มีการตกแต่งด้วยประติมากรรมปูนปั้นรูปเทวดานพเคราะห์บริเวณเสาภายในอุโบสถ / และตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมภาพทศชาติชาดก ประกอบด้วย เตมีย์ชาดก มหาชนกชาดก สุวรรณสามชาดก เนมิราชชาดก ภูริทัตชาดก และจันทกุมารชาดก (พบว่าภายในอุโบสถมีการแสดงภาพทศชาติชาดกเพียง ๗ เรื่อง โดยขาด ๓ เรื่อง ได้แก่ มโหสถชาดก วิธูรบัณฑิตชาดก และพระเวสสันดรชาดก )
(๒) พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร ทรงเครื่อง สำริด ศิลปะอยุธยา สูงรวมฐาน ๑.๙๐ เมตร พระนามสมเด็จเจ้าลาวทอง 
(๓) บ่อน้ำดินเผา บริเวณด้านทิศตะวันออกใกล้กำแพงวัด ขุดพบในปี ๒๕๕๒ ปัจจุบันทำศาลาครอบไว้
(๔) ธรรมมาสน์ไม้พร้อมบันไดนาค ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช
 
ปัจจุบันวัดสวนหลวงได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๔๐ ตอนพิเศษ ๑๓๔ ง หน้า ๘ วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๖ พื้นที่โบราณสถาน พื้นที่ ก. ประมาณ ๑ ไร่ ๖๒.๙๑ ตารางวา พื้นที่ ข. ประมาณ ๓ งาน ๓๗.๕๐ ตารางวา

(จำนวนผู้เข้าชม 342 ครั้ง)