ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ : วันวิสาขบูชา
ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ : วันวิสาขบูชา
 
“วันวิสาขบูชา” เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า คือ เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ซึ่งทั้งสามเหตุการณ์ล้วนเกิดขึ้นตรงกันในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ชาวพุทธจึงเรียกการบูชาในวันนี้ว่า “วันวิสาขบูชา” ซึ่งย่อมาจาก “วิสาขปุรณมีบูชา” หมายถึง “การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ” หรือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ (ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือนแปดสองหน ก็จะเลื่อนไปเป็นกลางเดือนเจ็ด) ซึ่งในปีนี้วันวิสาขบูชาตรงกับวันพุธที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔
 
วันนี้จึงยกเอาหลักธรรม “เย ธมฺมาฯ” หรือที่มักเรียกว่า “คาถาเย ธมฺมาฯ” ที่ปรากฏอยู่บนผนังอุโบสถวัดสามแก้ว อำเภอเมืองฯ จังหวัดชุมพร มานำเสนอ ซึ่งคาถาเย ธมฺมา ดังกล่าวนี้ เขียนอยู่บนผนังหลังพระประธาน ภายในกรอบด้านล่างของจิตรกรรมภาพเทพชุมนุม ความว่า “เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต อาหเตสญฺจ โย นิโรโธจ เอวํ วาที มหาสมโณ” ซึ่งมีความหมายว่า “ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะทรงสั่งสอนอย่างนี้” พระคาถาเย ธมฺมา ภายในอุโบสถวัดสามแก้วดังกล่าวมานี้ เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๖ โดยช่างหลวงคนสำคัญ คือพระยาอนุศาสน์จิตรกร โดยเขียนร่วมกับภาพจิตรกรรมฝาผนัง ประกอบด้วยภาพเทพชุมนุม เทพเจ้าเนื่องในศาสนาพราหมณ์ พระฤาษี และโพธิสัตว์ในพุทธศาสนานิกายมหายาน ส่วนผนังส่วนล่างระหว่างช่องหน้าต่างเขียนเป็นภาพพุทธประวัติ
 
คาถาเย ธมฺมา เป็นคาถาคัดมาจากพระวินัยปิฎก มหาวรรค มหาขันธกะ ตอนพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะบรรพชา ซึ่งมีใจความกล่าวถึง พระสารีบุตรได้ดวงตาเห็นธรรม เนื่องจากได้ฟัง “พระคาถาเย ธมฺมา” จากพระอัสสชิ ดังความว่า “สมัยนั้น สัญชัยปริพาชกอาศัยอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยบริษัทปริพาชกหมู่ใหญ่ จำนวน  ๒๕๐ คน และสมัยนั้น สารีบุตรและโมคคัลลานะประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักสัญชัยปริพาชก ต่างทำกติกากันว่า ใครได้บรรลุอมตธรรมก่อน จงบอกแก่อีกคนหนึ่ง สารีบุตรปริพาชกได้เห็นพระอัสสชิเข้าไปสู่กรุงราชคฤห์เพื่อบิณฑบาต มีความเลื่อมใสในความสงบเสงี่ยมเรียบร้อยของท่าน จึงรอจนได้โอกาสก็เข้าไปถามถึงหลักธรรมในศาสนาที่ท่านบวช ท่านกล่าวหลักธรรมเพียงย่อ ๆ ให้ฟังว่า “ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น” สารีบุตรได้ฟังก็ได้ดวงตาเห็นธรรม แล้วนำมาเล่าให้โมคคัลลานะฟัง โมคคัลลานะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม จึงพากันไปลาปริพาชก ๒๕๐ คน เพื่อจะไปบวชในสำนักพระบรมศาสดา แต่ปริพาชกเหล่านั้นขอไปด้วย จึงพร้อมกันไปลาสัญชัยผู้เป็นอาจารย์ สัญชัยขอให้อยู่กันบริหารหมู่คณะถึง ๓ ครั้ง แต่สาริบุตรกับโมคคัลลานะไม่ยอม คงลาไป พร้อมทั้งปริพาชก อีก ๒๕๐ คน สัญชัยเสียใจ ถึงอาเจียนเป็นโลหิต เมื่อปริพาชกทั้งหลาย ได้ไปเฝ้าทูลขอบวชในพระพุทธศาสนาต่อพระผู้มีพระภาคก็ได้รับพระพุทธานุญาตให้เป็นภิกษุ ด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา”
 
ด้วยความสำคัญของ พระคาถา เย ธมฺมาฯ ซึ่งสามารถยังบุคคลให้เข้าถึงธรรม แม้เพียงกล่าวธรรมโดยย่อ จึงมักปรากฏพระคาถา เย ธมฺมา ในงานศิลปกรรมทางพุทธศาสนาอยู่เสมอ โดยพบมากในเมืองโบราณสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในภาคกลางและภาคใต้ของไทย เช่น จารึกเยธมฺมาฯ ๒ (บนสถูปศิลา) พบที่วัดพระปฐมเจดีย์ ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม (อายุพุทธศตวรรษที่ ๑๒) จารึกเยธมฺมาฯ บนพระพุทธรูปศิลา พบที่วัดเพลง (ร้าง) ตำบลหลุมดิน อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี (อายุพุทธศตวรรษที่ ๑๒) และจารึกเยธมฺมาฯ บนพระสถูปพิมพ์ดินดิบ พบที่เมืองยะรัง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี (อายุพุทธศตวรรษที่ ๑๒) ด้วยเหตุนี้ "คาถา เย ธมฺมา" จึงนับเป็นหนึ่งหลักธรรมสำคัญ ซึ่งถือกันว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา
 
เรียบเรียง/ภาพ: นภัคมน ทองเฝือ นักโบราณคดีชำนาญการ
กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช
ดาวน์โหลดไฟล์: วันวิสาขบูชา.jpeg

(จำนวนผู้เข้าชม 754 ครั้ง)