...

องค์ความรู้ : บุคคลสำคัญของไทย เรื่อง ตำราพระโอสถพระนารายณ์ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก่อให้เกิดการค้าการขาย ตลอดจนมีการนำวิทยาการสมัยใหม่จากตะวันตกที่หลากหลายด้านเข้ามาใช้ในประเทศสยาม รวมถึงในทางการแพทย์ที่ใช้แบบผสมผสาน กล่าวคือ การใช้สมุนไพรไทยร่วมกับสมุนไพรทางต่างประเทศ โดยมีการรวมเป็นคณะทางการแพทย์แบบบูรณาการ ประกอบด้วยแพทย์ไทย แพทย์จีน แพทย์อินเดีย และแพทย์ฝรั่ง เป็นผู้ประกอบยาหรือปรุงยาขึ้น เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทั้งนี้มีชื่อปรากฏในตำราพระโอสถพระนารายณ์ มีทั้งหมด ๙ คน ประกอบด้วยแพทย์หลวง ๗ คน (แบ่งเป็นแพทย์ไทย ๔ คน แพทย์จีน ๑ คน แพทย์อินเดีย ๑ คน และแพทย์ฝรั่ง ๑ คน) หมอเชลยศักดิ์ ๑ คน และหมอฝรั่ง ๑ คน ดังนี้

- แพทย์ไทย ๔ คน คือ ออกพระแพทย์พงษา ออกพระสิทธิสาร ออกขุนประสิทธิโอสถ และออกขุนทิพจักร

- แพทย์จีน ๑ คน คือ ขุนประสิทธิโอสถจีน

- แพทย์อินเดีย ๑ คน คือ ออกพระสิทธิสารพราหมณ์เทศ

- แพทย์ฝรั่ง ๑ คน คือ พระแพทย์โอสถฝรั่ง

- หมอเชลยศักดิ์ ๑ คน คือ นายเพ็ชรปัญญา

- หมอฝรั่ง ๑ คน คือ เมสีหมอฝรั่ง

ตำราพระโอสถพระนารายณ์ จึงเป็นการรวมคณะทางการแพทย์แบบบูรณาการหรือหมอหลวงในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะแพทย์ไทย แต่หากจะมีหมอทางเลือกจากต่างชาติที่เป็นแพทย์จีน แพทย์อินเดีย และแพทย์ฝรั่ง อีกด้วย

ตำราพระโอสถพระนารายณ์ เป็นหนังสือหายาก และถือว่าเป็นหลักฐานทางการแพทย์แผนไทย
ที่สำคัญมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย โดยเชื่อว่าตำราพระโอสถนี้จะเป็นยารักษาโรคได้ผลดี นอกจากนี้สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงดำรัสสั่งกรรมการของหอพระสมุดวชิรญาณให้ทำการคัดเลือกหนังสือในหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายสำหรับพิมพ์พระราชทานเป็นหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพพระยาแพทยพงษา (นาก โรจนแพทย์)

ตำราพระโอสถพระนารายณ์ มีจำนวนหน้าทั้งสิ้น ๔๔ หน้า โดยนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับตำรับยา สรรพคุณของสมุนไพร รวมถึงวิธีปรุงยาแบบโบราณแก้อาการต่างๆ เช่น ลักษณะเตโชธาตุออกจากกาย
ยาแก้เตโชธาตุพิการ ยาแก้โรคไฟธาตุเย็น ยาแก้ลมป่วง ลักษณะอาโปธาตุถอย ยาแก้ขัดปัสสาวะ
ยาแก้ปถวีธาตุวิการ ยาแก้ไข้ให้อาเจียน ยาแก้ไข้ลิ้นหด ยามหาวัฒนะแก้ฉันนะวิตติโรค ๙๖ ประการ
และสีผึ้งพระเส้นให้หย่อน ฯลฯ

ในปัจจุบันวงการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ตำรา
พระโอสถพระนารายณ์ สามารถนำมาใช้ประกอบเป็นองค์ความรู้จากบรรพชนรวบรวมไว้ในการต่อยอดได้จากการแพทย์แผนไทย หรือแนวทางในการปรุงยาแผนโบราณ ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงให้ถึงภูมิปัญญาของยุคสมัยก่อนที่รักษาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ทำการศึกษาค้นคว้าได้เป็นอย่างดีจนมาถึงปัจจุบัน

เรียบเรียงโดย : นายธีรบูลย์ มิตรมโนชัย นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

แหล่งอ้างอิง :

ชยันต์ พิเชียรสุนทรแม้นมาส ชวลิตคุณหญิง และวิเชียร จีรวงส์.  คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์ : ฉบับเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา มหาราชา ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒. 
         พิมพ์ครั้งที่ ๒.  กรุงเทพฯ: อมรินทร์
๒๕๔๔.

ตำราพระโอสถพระนารายณ์.  กรุงเทพฯ: ด่านสุทธาการพิมพ์พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ อำมาตย์เอก พระสุธรรมกิตยารักษ์ ต.ช. (ชู  หังสสูต)
         ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๒๖).

ตำราพระโอสถพระนารายน์.  พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร๒๔๖๐. (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทาน
         ในงานพระราชทานเพลิงศพพระยาแพทยพงษา (นาก โรจนแพทย์)).

ทรงสรรค์ นิลกำแหง และสมชัย บวรกิตติ.  โรคภัยไข้เจ็บในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช.  วารสารราชบัณฑิตยสถาน.  ๒๗, ๓ (กรกฎาคม-กันยายน ๒๕๔๕): ๘๕๘-๘๗๐.

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ลพบุรี.   ย้อนอดีตไปกับชุดภาพถ่ายเก่าใน เสน่ห์วังนารายณ์ จากภาพถ่ายผ่านเลนส์”.  [ออนไลน์].  สืบค้นเมื่อ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘,
         จาก: 
https://finearts.go.th/somdetphranaraimuseum/view/48354-ย้อนอดีตไปกับชุดภาพถ่ายเก่าใน--เสน่ห์วังนารายณ์-จากภาพถ่ายผ่านเลนส์-

พิมพ์พรรณ ไพบูลย์หวังเจริญอุษา เก็จวลีวรรณ และณิชารีย์ เนตรทอง.  คัมภีร์ธาตุพระนารายณ์ ฉบับใบลาน (ตำราพระโอสถพระนารายณ์).  
         กรุงเทพฯ: กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก
๒๕๕๕.

พิมพ์พรรณ ไพบูลย์หวังเจริญอุษา เก็จวลีวรรณ และณิชารีย์ เนตรทอง.  คัมภีร์ธาตุพระนารายณ์ ฉบับใบลาน (ตำราพระโอสถพระนารายณ์).  [ออนไลน์].  
         สืบค้นเมื่อ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘
จาก: https://indi.dtam.moph.go.th/images/คมภรธาตพระนารายณ_ฉบบใบลาน.pdf

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน).  พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช. [ออนไลน์].  
         สืบค้นเมื่อ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘
, จาก: https://cbtthailand.dasta.or.th/webapp/relattraction/content/776

(จำนวนผู้เข้าชม 12 ครั้ง)