...

องค์ความรู้ : วัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาวล้านนาไทย เรื่อง พิธีทำบุญสืบชะตาเมืองเชียงใหม่

พิธีทำบุญสืบชะตาเมืองเชียงใหม่ เป็นประเพณีที่ยึดถือมาช้านานของชาวล้านนา  โดยชาวเมืองเชียงใหม่เชื่อว่าเป็นสิริมงคลตัวเอง ครอบครัว อีกทั้งยังเป็นการต่ออายุให้ยืนยาว และช่วยขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข รวมถึงเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของชาวล้านนาที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต โดยก่อนประกอบพิธีทำบุญสืบชะตาเมืองเชียงใหม่ จะประกอบพิธีหลังประเพณีใส่ขันดอกบูชาเสาอินทขีล (เสาหลักเมืองเชียงใหม่) ซึ่งเป็นประเพณีขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข ซึ่งประเพณีใส่ขันดอกบูชาเสาอินทขีล จะกระทำพิธีสักการบูชาเป็นประจำทุกปี เรียกว่า เดือนแปดเข้า เดือนเก้าออก

หลังจากนั้นจึงประกอบพิธีทำบุญสืบชะตาเมืองเชียงใหม่ ซึ่งนอกจากจะเป็นการประกอบพิธีกรรมตามศรัทธา และความเชื่อของประชาชนแล้ว ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามัคคี และร่วมแรงร่วมใจกันเป็นหนึ่งเดียว ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่ออกมาร่วมทำบุญในพิธีอันศักดิ์สิทธิ์นี้ โดยจัดขึ้นทั้งหมด ๑๐ หน่วยพิธี คือ บริเวณประตูเมืองทั้ง ๕ ประตู ได้แก่ ประตูช้างเผือก ประตูท่าแพ ประตูเชียงใหม่ ประตูสวนดอก และประตูแสนปุง แจ่งเมือง ๔ แจ่ง ได้แก่ แจ่งหัวลิน แจ่งศรีภูมิ แจ่งก๊ะต๊ำ และแจ่งกู่เฮือง และบริเวณใจกลางเมือง หรือสะดือเมืองตรงพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ ซึ่งจะกระทำการจุดพลุเพื่อให้สัญญาณประกอบพิธีจากบริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ (กลางเวียง) ได้อย่างพร้อมเพรียงกัน โดยพิธีทำบุญสืบชะตาเมืองเชียงใหม่ ในปีพ.ศ. ๒๕๖๗ นี้ ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๗ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ (เดือน ๙ เหนือ)

เรียบเรียงโดย : นายธีรบูลย์ มิตรมโนชัย นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ
หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

แหล่งอ้างอิง :

คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี.  ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่.  พระนคร: โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, ๒๕๑๔.

พระครูโสภณกวีวัฒน์ (ธนจรรย์ สุระมณี).  ตำนานเมืองเชียงใหม่ สายธาร อารยธรรม ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ในล้านนา.  เชียงใหม่: โรงพิมพ์มิ่งเมือง, ๒๕๕๐.

มณี พยอมยงค์.  ประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย.  (พิมพ์ครั้งที่ ๒).  กรุงเทพฯ: ส. ทรัพย์การพิมพ์, ๒๕๓๓.

ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์ศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏเชียงใหม่.  ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่  ฉบับ เชียงใหม่ ๗๐๐ ปี.  เชียงใหม่: โรงพิมพ์มิ่งเมือง, ๒๕๓๘.

(จำนวนผู้เข้าชม 608 ครั้ง)


Messenger