...

องค์ความรู้ : วัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาวล้านนาไทย เรื่อง ฟ้อนเจิง

องค์ความรู้ : วัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาวล้านนาไทย
เรื่อง ฟ้อนเจิง

ฟ้อนเจิง เป็นการฟ้อนของผู้ชาย นับเป็นการรำอาวุธชนิดหนึ่ง คือการร่ายรำด้วยเชิงดาบและมือเปล่าในท่าทางต่างๆ ซึ่งมักจะแสดงออกในลีลาของนักรบ ซึ่งท่าในการฟ้อนเจิงนี้มีหลายสิบท่า รวมทั้งใช้ดาบและมือเปล่า สำหรับการใช้ดาบนั้นก็ใช้ตั้งแต่ดาบเดี่ยว ดาบคู่ และใช้ดาบ ๔ เล่ม ๘ เล่ม ๑๒ เล่ม ซึ่งผู้ฟ้อนจะต้องมีความสามารถเป็นพิเศษ และก่อนที่จะมีการฟ้อนเจิง ก็ต้องมีการฟ้อนตบมะผาบเสียก่อน การฟ้อนตบมะผาบ เป็นการฟ้อนด้วยมือเปล่าที่ใช้ลีลาท่าทางยั่วเย้าให้คู่ปรปักษ์บันดาลโทสะ ในสมัยก่อนการรบกันใช้อาวุธสั้น เช่น ดาบ หอก แหลน เข้าโหมรันกัน โดยเหล่าทหารหาญจะรำดาบเข้าประชันกันเป็นคู่ๆ หรือเป็นพวกๆ ใครมีชั้นเชิงดีก็ชนะ ด้วยการรำตบมะผาบในท่าทางต่างๆ โดยถือหลักว่าคนที่มีโทสะจะขาดความยั้งคิด และเมื่อนั้นย่อมจะเสียเปรียบคนที่ใจเย็นว่า เมื่อมีการรำตบมะผาบแล้ว ก็จะมีการฟ้อนเจิงประกอบอีกด้วย เมื่อเห็นว่ามีความกล้าหาญพอแล้วก็เข้าปะทะกันได้ และการฟ้อนเจิงนั้น อาจจะใช้มือเปล่าได้ในท่าทางต่างๆ ที่ต้องใช้ความรวดเร็วว่องไว การเกร็งกล้ามเนื้อทุกส่วนเป็นการปลุกตัวเองไปก่อนที่จะเริ่มต่อสู้จริงๆ (หอสมุดแห่งชาติ, ๒๕๓๒ : ๒๒)

ฟ้อนเจิง เป็นนาฏกรรมที่สะท้อนรูปแบบศิลปวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของคนไทยทางภาคเหนือที่นำเอาเรื่องราวของศิลปะป้องกันตัว ซึ่งเมื่อครั้งอดีตผู้ชายชาวล้านนามักจะมีการแสวงหาเรียนรู้ เจิงเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันภัยให้กับตัวเอง ด้วยรูปแบบและลีลาท่าทางในการแสดงออกที่มีทั้งความเข้มแข็ง สง่างาม ที่ซ่อนเร้นชั้นเชิงอันเป็นแม่ไม้เฉพาะตน ซึ่งสลับท่าทาง ไปมา ยากในการที่จะทำความเข้าใจ ฟ้อนเจิงเป็นศิลปะการฟ้อนที่แสดงให้เห็นถึงชั้นเชิง ลีลาการต่อสู้ อันเป็นภูมิปัญญาของบรรพชนไทย มีการต่อสู้ทั้งรุกและรับ หลอกล้อกันอย่างสนุกสนาน ประลองไหวพริบปฏิภาณกัน เอาชนะกันอย่างมีชั้นเชิงให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ข่มเหงเอาเปรียบกัน ฟ้อนเจิง แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ ๑. ฟ้อนเจิงมือเปล่า ๒. ฟ้อนเจิงที่ใช้อาวุธ เช่น เจิงหอก เจิงดาบ เจิงไม้ค้อน เป็นต้น (สนั่น ธรรมธิ, ๒๕๓๗)

สำหรับการเรียนฟ้อนเจิงนั้น ผู้เรียนต้องหามื้อจั๋นวันดี เป็นวันอุดมฤกษ์ ไปขอเรียนกับครูที่มีความสามารถ โดยต้องมีการขึ้นขันหรือ การจัดเครื่องคารวะ คือกรวยดอกไม้ธูปเทียน พลู หมาก ข้าวเปลือก ข้าวสาร สุรา ผ้าขาว ผ้าแดง กล้วย อ้อย มะพร้าว และค่าครูตามกำหนด ครูบางท่านอาจเสี่ยงทายโดยให้ผู้จะสมัครเป็นศิษย์นำไก่ไปคนละตัว ครูเจิงคือผู้สอนฟ้อนเจิงจะขีดวงกลมที่ลานบ้านแล้วเชือดคอไก่ และโยนลงในวงนั้น หากไก่ของผู้ใดดิ้นออกไปตายนอกเขตวงกลม ก็คือว่าผีครูไม่อนุญาตให้เรียน และหากเรียนจนสำเร็จแล้ว ครูเจิง อนุญาตให้นำวิชาไปใช้ได้เรียกว่าปลดขันตั้ง โดยทำพิธียกขันตั้งคือพานเครื่องสักการะจากหิ้งผีครู แจกธูปเทียนดอกไม้จากในพานให้แก่ศิษย์ เป็นเสร็จพิธี (สนั่น ธรรมธิ, ๒๕๕๐)

กล่าวโดยสรุปวัฒนธรรมการฟ้อนเจิง คือ ท่าทางที่ใช้ในการแสดงอย่างมีชั้นเชิง มีทั้งท่าทางที่เป็นการร่ายรําตามกระบวนท่าต่าง ๆ ตามแบบแผนที่แสดงออกถึงศิลปะในการต่อสู้ หรือเพื่อใช้ในการแสดง โดยท่ารํามีทั้งที่เป็นหลักสากล หรือท่ารําของแต่ละคนใช้ความสามารถในการแสดงเฉพาะตัว พลิกแพลง ดัดแปลง ประยุกต์ให้ดูสวยงาม ทั้งนี้สามารถฟ้อนโดยปราศจากอาวุธ หรือประกอบอาวุธ เช่น หอก ดาบ และไม้ค้อน เป็นต้น ทั้งหมดล้วนเป็นศิลปะของชาวล้านนาไม่ว่าจะใช้แสดงในงานบวช หรือประเพณีสำคัญต่าง ๆ จึงควรคู่แก่การอนุรักษ์ไว้ให้กับลูกหลานได้เรียนรู้และสืบทอดต่อไปอย่างยั่งยืน

เรียบเรียงและรวบรวมโดย : นายธีรบูลย์ มิตรมโนชัย นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ
หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่

 แหล่งอ้างอิง :
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรม สร้างเสริมสุขภาพ.  สื่อการสอนเพื่อการสืบสานภูมิปัญญาล้านนาฟ้อนเจิงขั้นพื้นฐาน (ตอนที่ ๑). [ออนไลน์].  สืบค้นเมื่อ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๔, 
     จาก https://www.youtube.com/watch?v=3mL29vzCxlY, ๒๕๖๐.
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรม สร้างเสริมสุขภาพ.  สื่อการสอนเพื่อการสืบสานภูมิปัญญาล้านนาฟ้อนเจิงขั้นพื้นฐาน (ตอนที่ ๒). [ออนไลน์].  สืบค้นเมื่อ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๔, 
     จาก https://www.youtube.com/watch?v=zGmd19oUvmQ , ๒๕๖๐.
แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรม สร้างเสริมสุขภาพ.  สื่อการสอนเพื่อการสืบสานภูมิปัญญาล้านนาฟ้อนเจิงขั้นพื้นฐาน (ตอนที่ ๓). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๔,
     จาก https://www.youtube.com/watch?v=S-LpC0M9C6I, ๒๕๖๐.
สนั่น  ธรรมธิ.  นาฏดุริยการล้านนา.  เชียงใหม่ : สุเทพการพิมพ์, ๒๕๕๐.
สนั่น  ธรรมธิ (บรรณาธิการ).  ฟ้อนเชิง : อิทธิพลที่มีต่อฟ้อนล้านนา.  เชียงใหม่ : โครงการศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๓๗.
สนั่น  ธรรมธิ และธนชัย มณีวรรณ์.  สื่อเพื่อการเรียนรู้ภูมิปัญญาล้านนา ตอน ฟ้อนเชิง. [ซีดี - รอม].  เชียงใหม่ : โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา,  ๒๕๔๕.
หอสมุดแห่งชาติ.  ระบำ รำ ฟ้อน.  พิมพ์ครั้งที่
 ๒. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๓๒.
หอสมุดแห่งชาติ.  ระบำ รำ ฟ้อน.
[ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๔, จาก https://www.finearts.go.th/chiangmailibrary/view/7209-ระบำ-รำ-ฟ้อน, ๒๕๖๐.

(จำนวนผู้เข้าชม 26099 ครั้ง)


Messenger