...

พระบารมีปกเกล้าชาวอุบล ๒
พระบารมีปกเกล้าชาวอุบล ๒
เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเสด็จเยี่ยมพสกนิกรชาวอุบลฯ ครั้งแรก ระหว่างวันที่ ๑๖ - ๑๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๘ นั้น
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงฉลองพระองค์ด้วยซิ่นยกไหมเงินลายดอกพิกุล ที่ชาวอุบลฯ ทอถวาย ทรงตรัสกับชาวอุบลฯ ที่เฝ้ารับเสด็จว่า "นุ่งผ้าซิ่นของชาวอุบลฯ ให้คนอุบลฯ เขาดู"
โดยการทอผ้าซิ่นยกไหมเงินไหมคำ คงมีการทอต่อเนื่องมาตั้งแต่รัซกาลที่ ๕ จนกระทั่งถึงมีเหตุการณ์สำคัญ คือ เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓ ชาวอุบลฯ ได้ร่วมใจทูลเกล้าฯ ถวายผ้ายกไหมเงินลายดอกแก้ว (ดอกพิกุล) สีเม็ดมะปราง เชิงรูปนกยูงรำแพนสีขาวนวล เนื่องในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ผ้าซิ่นผืนนี้ทอที่บ้านของหมี่นวิชิตอักษร โดยคุณยายสงวนศักดิ์ คูณผล เป็นผู้เริ่มต้นทอ และยังมีช่างทอฝีมือดีอีกหลายคน มาร่วมกันทอ คุณพ่อสุวิชช คูณผล (๒๕๔๗) บุตรของคุณยายสงวนศักดิ์ คูณผล เล่าว่า "ช่างทอผ้าที่มาร่วมกันทอครั้งนั้น เท่าที่จำได้มี นางอรพินท์ ไชยกาล ส.ส.อุบลฯ นางรักษ์ ทรัพยานนท์ ภรรยาพระพรพิทักษ์
สาธารณสุขมณฑลอุบลฯ ในอดีต นางปรียา ถิระกิจ ครูใหญ่โรงเรียนวิไลวัฒนา นางกสิน ศรีทานันท์ ภรรยาครูเฉลิม ศรีทานันท์ ครูโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช นางทองเมี้ยน โมฬีชาติ ภรรยานายสุเมธ โมฬีชาติ ครูใหญ่
โรงเรียนอุบลวิทยาคม, นางคำหมั้น สันฑมาศ และนางบุญมี สุขประสงค์ และได้มีช่างถ่ายรูปจากร้านโปกวงไปถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐาน และส่งไปลงหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทยรายวันด้วย"
ต่อมาภายหลังเมื่อการทอผ้าในเขตตัวเมืองอุบลราชธานีหมดไปตามความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย จึงทำให้ผ้ายกเมืองอุบลฯ ขาดช่วงการสืบทอดไปอย่างน่าเสียดาย คงเหลือไว้แต่ผ้าโบราณบางผืน ที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี สำหรับการศึกษาค้นคว้าและฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ในอนาคต
อ้างอิง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี, กรมศิลปากร. ผ้าทอเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัย.กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, ๒๕๖๑.

(จำนวนผู้เข้าชม 413 ครั้ง)


Messenger