...

เรื่อง "ขันหมากไม้ ความงามในจารีตวิถี"
องค์ความรู้ เรื่อง "ขันหมากไม้ ความงามในจารีตวิถี"
“ขันหมาก” หรือ “เชี่ยนหมาก” คือภาชนะสำหรับวางอุปกรณ์ในการกินหมาก ได้แก่ ซองพลู เต้าปูน กรรไกรหนีบหมาก(มีดสนาก) ตะบันหมาก ตลับสีผึ้ง ผอบ ที่ใช้ใส่หมาก ยาเส้นและเครื่องหอม
วัฒนธรรมการกินหมากในไทย มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ สันนิษฐานว่ารับอิทธิพลมาจากพ่อค้าชาวอินเดีย และในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ 1 (สมัยสุโขทัย) กล่าวถึงป่าหมาก ป่าพลู แสดงให้เห็นความสำคัญของการปลูกหมากพลู วัฒนธรรมการกินหมากจึงน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ขันหมากทำจากวัสดุหลายประเภท เช่น ทอง เงิน ทองเหลือง ไม้ เครื่องเขินหรือเครื่องจักสานมีลักษณะหลากหลายรูปแบบทั้ง ทรงกลมแบน ทรงรี หรือทรงเหลี่ยม เป็นเครื่องใช้ในครัวเรือนที่มีความสำคัญ แต่ละบ้านจะใส่เครื่องกินหมากที่จัดเรียงอย่างประณีตไว้ต้อนรับแขก และยังใช้ในพิธีแต่งงานโดยฝ่ายเจ้าบ่าวต้องนำขันหมากยกไปสู่ขอเจ้าสาว และในสมัยก่อนขันหมากยังเป็นเครื่องแสดงฐานะทางสังคมของเจ้าของอีกด้วย
ในอีสาน “ขันหมาก” นิยมทำด้วยไม้มงคลในท้องถิ่น เช่น ไม้คูณ หมายถึงการค้ำคูณ ไม้ยอ หมายถึงการสรรเสริญเยินยอ เนื่องจากเป็นไม้เนื้ออ่อนแกะสลักง่าย หรือ ไม้มะค่า ไม้มะเกลือ ไม้ประดู่ ที่เป็นไม้เนื้อแข็งเพื่อความทนทาน
ลักษณะขันหมากอีสานส่วนใหญ่มี ๒ แบบ คือทรงกล่องสี่เหลี่ยม และทรงแอว(เอว)ขันปากพาน
มีส่วนประกอบ ๔ ส่วน ได้แก่
๑. ปากหรือส่วนบน แบ่งช่องเป็น ๓ - ๔ ช่อง อาจน้อยกว่าหรือมากกว่านั้นก็ได้ บางชิ้นประดับกระดูกซี่โครงควายหรือโลหะสังกะสีที่ขอบปากเพื่อความงามและทนทาน
๒. ลำตัว มีลักษณะเป็นแผ่นไม้ทรงสี่เหลี่ยม แกะสลักลวดลายเหมือนกันทั้ง ๔ ด้านหรือแตกต่างกันทั้ง ๔ ด้าน ตามความคิดสร้างสรรค์ของช่างฝีมือ
๓. แอว (เอว) เป็นส่วนที่เชื่อมระหว่างลำตัวและขา ส่วนมากไม่มีการตกแต่งมีบางตัวเท่านั้นที่ใส่คิ้วเดินรอบ บางตัวมีการเจาะช่องใส่ลิ้นชักด้วย
๔. ขา มีการเจาะเป็นช่องหรือฉลุเป็นรูปขา หรือแค่สลักลายเป็นรูปขา
ลวดลายของขันหมาก ส่วนมากเป็นลายเรขาคณิต เช่น ลายฟันปลา สามเหลี่ยม เส้นกากบาทข้าวหลามตัด เส้นทแยง และลวดลายซึ่งมีความหมายมงคล เช่น ลายประแจจีน ลายเหรียญเงิน และเครื่องหมายสวัสดิกะ ที่หมายถึงความเป็นอยู่ที่ดี ลายเส้นสายไขว้กันคล้ายเครื่องจักสาน ลายดอกไม้ หรือลวดลายตามจินตนาการของช่าง
สีของขันหมากส่วนมาก จะลงรักเป็นสีดำ ทาชาด (สีแดง) มีการแกะสลักลวดลาย แล้วลงสีในร่องลาย นิยมใช้สีขาว สีแดง สีเหลือง สีเขียว สีน้ำเงิน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการประดับลวดลายด้วยกระดูกซี่โครงควาย เปลือกหอยน้ำจืด กระจกสี และโลหะสังกะสี หรือบางตัวปรากฏเพียงแค่ลวดลายแกะสลักเท่านั้น
ขันหมากไม้อีสาน เป็นภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษได้คิดประดิษฐ์ขึ้น มีรูปแบบศิลปกรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เต็มไปด้วยความงามแบบเรียบง่าย ความทนทานและความเป็นสิริมงคล ตั้งแต่การเลือกไม้ การประดับลวดลายมงคลต่างๆ แต่ละชิ้นงานแสดงให้เห็นถึงฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ของช่างแต่ละบุคคลที่พอจะกล่าวได้ว่า “ขันหมากไม้อีสาน” แต่ละชิ้นมีเพียงชิ้นเดียวในโลก
นิทรรศการ "ขันหมากไม้ ความงามในจารีตวิถี" จัดแสดงให้ทุกท่านได้ชมตั้งแต่ ๑๓ กรกฎาคม - ๓๐ กันยายน ๒๕๖๕ มาชมกันเยอะๆนะคะ^^

(จำนวนผู้เข้าชม 4944 ครั้ง)


Messenger