มนุษยนาค นาคจำแลง นาคแปลง
นาค และนางนาคี ปกติมีร่างเป็นงูใหญ่ แต่มีฤทธิ์นิรมิตรูปกายอื่นได้ ตามตระกูลแห่งนาค ซึ่งแบ่งเป็นนาคนิมิตกายได้ กับนาคนิมิตกายไม่ได้ นาคจำพวกนิมิตกายได้ ยังขึ้นอยู่กับถิ่นที่อาศัย คือ นาคอยู่บก นิมิตกายได้แต่ในบก และนาคอยู่ในน้ำ นิมิตได้แต่ในน้ำ ตระกูลนาคทั้งหลายเมื่อปรารถนาจะหาอาหาร หรือมีเหตุอื่นใด ก็จำแลงรูปเป็นเทพบุตร เทพธิดา บางทีมีเพศเป็นงูเห่าดำ เป็นเพศงู เพศกระแต ตามแต่จะแสวงหาอาหาร นาคแม้มีฤทธิ์เพียงใดก็ตาม แต่ไม่อาจละชาติของตนได้ ย่อมคืนร่างเป็นนาคในวาระทั้ง ๕ คือ ๑) เมื่อตายหรือจุติ ๒) เมื่อเวลาเกิด ๓) เมื่อนอนหลับ ๔) เมื่อเสพเมถุนธรรมกับนาคงู อันเป็นชาติของตน ๕) เมื่อลอกคราบ
ตามคติพระพุทธศาสนา นาคมีทั้งที่เป็นสัมมาทิฐิ และมิจฉาทิฐิ นาคเคยปรากฏเรื่องเป็นต้นบัญญัติพระวินัย เนื่องจากนาคจำแลงเป็นบุรุษมาบวชในพระพุทธศาสนา เมื่อนอนหลับ กายกลับคืนเป็นชาติของตน ทำให้พระสงฆ์ตื่นตกใจ พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติห้ามนาคบวช เนื่องจากมีชาติเป็นดิรัจฉาน ไม่สามารถเข้าถึงสัทธรรมได้
ในมหาสมัยสูตร อันเป็นพระสูตรว่าด้วยการชุมนุมใหญ่ของเทพยดาทั้งปวง เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ครั้งประทับ ณ ป่ามหาวัน ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ กล่าวว่านาคฝ่ายสัมมาทิฐิ พร้อมด้วยบริวาร มาร่วมเข้าเฝ้า ๖ เหล่า คือ นาสภะ หมายถึง เหล่านาคผู้อาศัยอยู่ในสระนภสะ เวสาละ นาคที่อยู่ในเมืองเวสาลี กัมพลอัสดร นาคอยู่ยังเชิงเขาพระสุเมรุ ปายาคะ นาคอยู่ที่ท่าปยาคะ ยามุนะ นาคอยู่ในลำน้ำยมุนา และ ธตรฐ นาคเกิดในตระกูลธตรฐ บรรดานาคเหล่านี้ ย่อมพิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนาในกาลทุกเมื่อ จึงมักปรากฏรูปนาคสร้างประกอบไว้ในศาสนสถานเสมอ
ในงานพุทธศิลป์ มักสร้างรูปนาคผู้มีฤทธิ์ มีพิษร้ายแรง มีอำนาจบันดาลให้ฝนตก เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยทรัพย์ มีความสุขมาก และมีอายุยืนนาน เป็นทวารบาล หรือประดับยังส่วนแห่งอาคาร เพื่อพิทักษ์ปกป้องศาสนาสถาน นำความสุข ความเจริญ ให้แก่พุทธบริษัท โดยทั่วไปสร้างรูปเป็น ๓ ลักษณะ คือ
๑) รูปเป็นงู มีหลายเศียร ตั้งแต่ ๓ เศียร ๕ เศียร ๗ เศียร และ ๙ เศียร เป็นต้น
๒) รูปครึ่งมนุษย์ครึ่งงู เรียกว่า นาคจำแลง หรือ นาคแปลง
๓) รูปมนุษย์ มีพังพานงูแผ่ปกที่คอและเศียร เรียกว่า มนุษยนาค
เรียบเรียงโดย นางสาวเด่นดาว ศิลปานนท์ ภัณฑารักษ์เชี่ยวชาญ (ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ) สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร
หนังสืออ้างอิง
๑. นิยะดา เหล่าสุนทร. ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา สำนวนที่ ๑. กรุงเทพฯ : ลายคำ, ๒๕๕๕.
๒. หอสมุดแห่งชาติ, กรมศิลปากร. จักวาฬทีปนี. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๒๓.นาค และนางนาคี ปกติมีร่างเป็นงูใหญ่ แต่มีฤทธิ์นิรมิตรูปกายอื่นได้ ตามตระกูลแห่งนาค ซึ่งแบ่งเป็นนาคนิมิตกายได้ กับนาคนิมิตกายไม่ได้ นาคจำพวกนิมิตกายได้ ยังขึ้นอยู่กับถิ่นที่อาศัย คือ นาคอยู่บก นิมิตกายได้แต่ในบก และนาคอยู่ในน้ำ นิมิตได้แต่ในน้ำ ตระกูลนาคทั้งหลายเมื่อปรารถนาจะหาอาหาร หรือมีเหตุอื่นใด ก็จำแลงรูปเป็นเทพบุตร เทพธิดา บางทีมีเพศเป็นงูเห่าดำ เป็นเพศงู เพศกระแต ตามแต่จะแสวงหาอาหาร นาคแม้มีฤทธิ์เพียงใดก็ตาม แต่ไม่อาจละชาติของตนได้ ย่อมคืนร่างเป็นนาคในวาระทั้ง ๕ คือ ๑) เมื่อตายหรือจุติ ๒) เมื่อเวลาเกิด ๓) เมื่อนอนหลับ ๔) เมื่อเสพเมถุนธรรมกับนาคงู อันเป็นชาติของตน ๕) เมื่อลอกคราบ
ตามคติพระพุทธศาสนา นาคมีทั้งที่เป็นสัมมาทิฐิ และมิจฉาทิฐิ นาคเคยปรากฏเรื่องเป็นต้นบัญญัติพระวินัย เนื่องจากนาคจำแลงเป็นบุรุษมาบวชในพระพุทธศาสนา เมื่อนอนหลับ กายกลับคืนเป็นชาติของตน ทำให้พระสงฆ์ตื่นตกใจ พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติห้ามนาคบวช เนื่องจากมีชาติเป็นดิรัจฉาน ไม่สามารถเข้าถึงสัทธรรมได้
ในมหาสมัยสูตร อันเป็นพระสูตรว่าด้วยการชุมนุมใหญ่ของเทพยดาทั้งปวง เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ครั้งประทับ ณ ป่ามหาวัน ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ กล่าวว่านาคฝ่ายสัมมาทิฐิ พร้อมด้วยบริวาร มาร่วมเข้าเฝ้า ๖ เหล่า คือ นาสภะ หมายถึง เหล่านาคผู้อาศัยอยู่ในสระนภสะ เวสาละ นาคที่อยู่ในเมืองเวสาลี กัมพลอัสดร นาคอยู่ยังเชิงเขาพระสุเมรุ ปายาคะ นาคอยู่ที่ท่าปยาคะ ยามุนะ นาคอยู่ในลำน้ำยมุนา และ ธตรฐ นาคเกิดในตระกูลธตรฐ บรรดานาคเหล่านี้ ย่อมพิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนาในกาลทุกเมื่อ จึงมักปรากฏรูปนาคสร้างประกอบไว้ในศาสนสถานเสมอ
ในงานพุทธศิลป์ มักสร้างรูปนาคผู้มีฤทธิ์ มีพิษร้ายแรง มีอำนาจบันดาลให้ฝนตก เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยทรัพย์ มีความสุขมาก และมีอายุยืนนาน เป็นทวารบาล หรือประดับยังส่วนแห่งอาคาร เพื่อพิทักษ์ปกป้องศาสนาสถาน นำความสุข ความเจริญ ให้แก่พุทธบริษัท โดยทั่วไปสร้างรูปเป็น ๓ ลักษณะ คือ
๑) รูปเป็นงู มีหลายเศียร ตั้งแต่ ๓ เศียร ๕ เศียร ๗ เศียร และ ๙ เศียร เป็นต้น
๒) รูปครึ่งมนุษย์ครึ่งงู เรียกว่า นาคจำแลง หรือ นาคแปลง
๓) รูปมนุษย์ มีพังพานงูแผ่ปกที่คอและเศียร เรียกว่า มนุษยนาค
เรียบเรียงโดย นางสาวเด่นดาว ศิลปานนท์ ภัณฑารักษ์เชี่ยวชาญ (ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ) สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร
หนังสืออ้างอิง
๑. นิยะดา เหล่าสุนทร. ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา สำนวนที่ ๑. กรุงเทพฯ : ลายคำ, ๒๕๕๕.
๒. หอสมุดแห่งชาติ, กรมศิลปากร. จักวาฬทีปนี. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๒๓.
(จำนวนผู้เข้าชม 36291 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน