โบราณสถานในเขตกำแพงเมืองชั้นใน
ชื่อโบราณสถาน วัดมหาธาตุ
ที่ตั้ง ตั้งอยู่บริเวณกลางเมืองสุโขทัย ในเขตตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองจังหวัดสุโขทัย
พิกัดทางภูมิศาสตร์ รุ้ง ๑๗ องศา ๑ ลิปดา ๐ พิลิปดาเหนือ
แวง ๙๙ องศา ๔๒ ลิปดา ๒๐ พิลิปดาตะวันออก
อายุสมัย สุโขทัย
ลักษณะและสภาพ วัดมหาธาตุเป็นวัดที่สำคัญของสุโขทัยมาแต่โบราณ เป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่บริเวณกลางเมืองสุโขทัย พื้นที่บริเวณวัดกว้าง ยาว ด้านละ ๒๐๐ เมตร มีพระเจดีย์มหาธาตุรูปดอกบัวตูมหรือพุ่มข้าวบิณฑ์เป็นหลักของวัด ภายในรายรอบไปด้วยเจดีย์แบบต่างๆ ฐานวิหาร ฐานโบสถ์ และซุ้มคูหาพระพุทธรูป ซึ่งประกอบด้วยรายละเอียดดังต่อไปนี้
๑. เจดีย์มหาธาตุ เป็นเจดีย์ประธานตั้งอยู่กลางวัด ลักษณะรูปทรงแบบดอกบัวตูมหรือพุ่มข้าวบิณฑ์ ตั้งอยู่บนชั้นแว่นฟ้า ๓ ชั้น รอบฐานชั้นล่างสุดมีปูนปั้นรูปพระสาวกเดินพนมมือโดยรอบ ขนาดของฐานเจดีย์ กว้างยาวด้านละ ๒๗ เมตร สูง ๒๙ เมตร บนฐานอันเดียวกันโดยรอบมีปรางค์ ๔ องค์ ตั้งอยู่ด้านหน้าเจดีย์ทั้ง ๔ ทิศ และบริเวณที่มุม ทั้ง ๔ ทิศ มีเจดีย์ทรงปราสาทแบบศรีวิชัยผสมลังกา ๔ องค์ ตั้งอยู่เป็นเจดีย์บริวารของเจดีย์ประธาน
๒. เจดีย์รายแบบต่างๆ รายรอบภายในบริเวณวัด จำนวน ๒๐๐ องค์
๓. ฐานวิหาร ขนาดต่างๆกัน ๑๐ แห่ง ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดวิหารที่สำคัญมีขนาดใหญ่ ได้แก่ วิหารพระศรีศากยมุนี ตั้งอยู่ด้านหน้า หรือตะวันออกของเจดีย์พระมหาธาตุ
๔. ซุ้มคูหา จำนวน ๘ ซุ้ม เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ตั้งอยู่ทั่วไปในวัด
๕. ฐานโบสถ์ ตั้งอยู่ด้านเหนือของเจดีย์มหาธาตุ กว้าง ๑๔ เมตร ยาว ๒๕ เมตร ก่อด้วยอิฐ
๖. สระน้ำ ๔ สระ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือและทิศตะวันตก
๗. กำแพงแก้ว ก่อด้วยอิฐ ล้อมรอบบริเวณวัดทั้ง ๔ ด้าน กว้างยาวด้านละ ๒๐๐ เมตร
ประวัติ วัดมหาธาตุเป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยตอนต้น ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง พุทธศักราช ๑๘๓๕ (หลักที่ ๑ ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๒๓ –๒๖) ได้กล่าวว่า “กลางเมืองสุโขทัยนี้ มีพิหาร มีพระพุทธรูปอันราม” ที่วัดมหาธาตุ กลางเมืองสุโขทัยนี้จะพบว่ามีพระเจดีย์มหาธาตุเป็นเจดีย์ประธานของวัด และยังมีปรางค์เจดีย์อื่นๆมากมาย
ภายในวิหารหลวง ทางด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ เคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดแบบสุโขทัย หน้าตักกว้าง ๖.๒๕ เมตร พระมหาธรรมราชาลิไทโปรดฯ ให้หล่อขึ้นและทำการฉลองในปี พ.ศ. ๑๙๐๔ มีความบางตอนจากศิลาจารึกกล่าวถึงพระพุทธรูปองค์นี้ด้วยเช่นกัน จากศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาไทย หลักที่ ๑ พุทธศักราช ๑๙๐๔ (หลักที่ ๕ ด้านที่ ๓ บรรทัดที่ ๘ –๑๓) กล่าวไว้ว่า
“เมื่อแล้วออกพรรษา จึงกระทำมหาทานฉลองพระสัมฤทธิ์อันหล…ตนพระพุทธเจ้าเราอันประดิษฐานกลางเมืองสุโขทัย ซึ่งลวงตะวันออกพระศรีรัตนมหาธาตุนั้น ฉลองสดับธรรมทุกวัน ถ้วนร้อยวัน”
ยังมีข้อความบางตอนบันทึกไว้ในจารึกกรุงสุโขทัยกล่าวถึงเชิงประวัติศาสตร์โบราณสถานแห่งนี้อีก จากศิลาจารึกวัดศรีชุม ประมาณพุทธศักราช ๑๘๘๔-๑๙๑๐ (หลักที่ ๒ ด้าน ๒ บรรทัดที่ ๒๑ –๓๕) ความว่า
“พระศรีราชจุฬามุนีเป็นเจ้าพยายามให้แผ้วแล้วจึงก่ออิฐขึ้นเจ็ดวา สทายปูนแล้วบริบวรณพระธาตุหลวงก่อใหม่เก่าด้วยสูงได้ร้อยสองวาขอมเรียกพระธมนั้นแล๐ สถิตครึ่งกลางนครพระกฤษณ์๐ เมื่อจักสทายปูนในกลางป่านั้นหาปูนยากหนักหนา หาปูนมิได้ พระศรีราชจุฬามุนีเป็นเจ้า จึงอธิษฐานว่าดังนี้…กูแลยังจักได้ตรัสแก่สรรเพญุเดญาณเป็นพระพุทธจริงว่าไซร้ จงให้พบปูน ครั้นกูอธิษฐานบัดแมงแห่งนั้นดายกลายพบโป่งปูน อนึ่งทายาดหนักหนา เอามาสทายพระธาตุก่อใหม่เก่าแล้วเอามาต่อพระพุทธรูปหินอันหักอันพังบริบวรณแล้ว ปูนก็ยังเหลือเลย๐ พระมหาธาตุหลวงนั้นกระทำปาฏิหาริย์อัศจรรย์หนักหนา และมีพระธาตุอันใหญ่ล้อมหลายแก่กม๐ ก่อทั้งมหาพิหารใหญ่ด้วยอิฐเสร็จบริบวรณแล้ว จึงไปสืบค้นหาเอาพระพุทธรูปหินเก่าแก่แต่บูราด้วยไกล ชั่วสองสามคืน เอามาประดิษฐานไว้ในมหาพิหารลางแห่งได้คอได้ตน ลางแห่งได้ผมได้แขนได้อก ลางแห่งได้หัวตกไกล แลสี่คนหาม เอามาจึงได้๐ ลางแห่งได้แข้งได้ขา ลางแห่งได้มือได้ตีน ย่อมพระหินอันใหญ่ ชักมาด้วยล้อเกวียน เข็นเข้าในมหาพิหารเอามาต่อติดประกิดด้วยปูน มีรูปโฉมพรรณอันงามพิจิตรดังอินทรนิรมิตเอามาประกิดชิดชนเป็นตนพระพุทธรูป อันใหญ่ อันถ่าว อันรามงามหนักหนา เอามาไว้เต็มในมหาพิหารเรียงหลายถ่อง ช่องงามหนักหนาแก่กม…..”
วัดมหาธาตุเป็นวัดที่สำคัญและเป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ที่สุดของเมืองสุโขทัย ดังนั้นจึงเป็นจุดศูนย์รวมทั้งงานด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมในสมัยสุโขทัยที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
ในบริเวณวัดมหาธาตุนี้ ได้จบจารึกจำนวน ๓ หลักด้วยกัน จารึกหลักแรกคือ ศิลาจารึกปู่ขุนจิดขุนจอด พุทธศักราช ๑๙๓๕ อักษรไทยสุโขทัย พบบริเวณริมเสาเบื้องขวาหน้าวิหารหลวง ด้านหลังวิหารสูง วัดสองมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย หลักที่สองคือ ศิลาจารึกเจดีย์น้อย พุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ อักษรสุโขทัย-ขอมสุโขทัย ภาษาไทย-สันสกฤต พบที่เจดีย์น้อย ด้านหน้าเจดีย์ ๕ ยอด วัดมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย และหลักที่สามคือ จารึกลานทองสมเด็จพระมหาเถรจุฑามุณิ พุทธศักราช ๑๙๑๙ อักษรไทยสุโขทัย-ธรรมล้านนา ภาษาไทย-บาลี พบบริเวณฐานพระประธานในอุโบสถ วัดมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย
การดำเนินการ ๑. ประกาศขึ้นทำเบียนโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา
เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๗๕ วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๘
๒. ขุดแต่งบูรณะ ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๙๖
๓. บูรณะครั้งต่อมา พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๑๑
๔. บูรณะต่อมา พ.ศ. ๒๕๒๔-๒๕๒๖
ชื่อโบราณสถาน เนินปราสาท
ที่ตั้ง อยู่ภายในสุโขทัยเก่า บริเวณทิศตะวันออกของวัดมหาธาตุโดยห่างประมาณ ๑๐๐ เมตร ในเขตตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย
พิกัดทางภูมิศาสตร์ รุ้ง ๑๗ องศา ๑ ลิปดา ๐ พิลิปดาเหนือ
แวง ๙๙ องศา ๔๒ ลิปดา ๓๐ พิลิปดาตะวันออก
อายุสมัย สุโขทัย
ลักษณะและสภาพ บริเวณเนินปราสาทนั้นเป็นพื้นที่ที่เป็นเนินดินที่มีระดับสูงกว่าทุกแห่งภายใน กำแพงเมืองสุโขทัย มีขนาดกว้างยาวด้านละ ๒๐๐ เมตร ภายในบริเวณพื้นที่ มีฐานโบราณสถานอยู่ ๑ แห่ง เป็นฐานก่ออิฐรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า รอบขอบฐานที่บัวเส้นลวดและหน้ากระดาน บางแห่งฉาบปูนไว้ เรียกกันว่า เนินปราสาท ขนาดของฐานกว้าง ๒๗.๕๐ เมตร ยาว ๕๑.๕๐ เมตร สูง ๒.๕๐ เมตร และนอกจากนี้ภายในบริเวณนี้ยังมีสระน้ำอยู่อีก ๒ สระ ในบริเวณใกล้ๆ กับเนินปราสาทด้วย จากการขุดแต่ง เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๖ ได้พบชิ้นส่วนศีรษะของรูปตุ๊กตาสำริดและชิ้นส่วนของตุ๊กตาหินรูปสิงโตที่บริเวณใกล้ฐานของโบราณสถานด้วย
ประวัติ ประวัติของโบราณสถานแห่งนี้มีความบางตอนจากศิลาจารึกกรุงสุโขทัยได้ กล่าวอ้างไว้ความตอนหนึ่งจากศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาเขมร (หลักที่ ๔ ด้าน ๒ บรรทัดที่ ๓๘-๕๕) กล่าวเป็นเชิงประวัติไว้ว่า “ค่ำวันนั้นพระบาทกัมรเดงอัญศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราชก็สมาทานศีลเป็นดาบสเพศ เฉพาะพระเนตรพระพุทธรูปทอง ที่ประดิษฐานอยู่บนพระราชนมเทียรและเสด็จไปนมัสการบูชาทุกวัน แล้วจึงอาราธนาพระมหาสามีสังฆราช พระเถรานุเถรภิกษุสงฆ์ทั้งหลายขึ้นบนปราสาทราชมนเทียรทอง จึงบวชเป็นสามเณร เมื่อเวลาจะบวชของศีลนั้นพระบาทกัมรเดงอัญศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราช เสด็จยืนขึ้นยกอัญชลีนมัสการพระพุทธรูปทอง และพระไตรปิฎกที่เก็ฐไว้บนราชมนเทียร…อธิษฐานบวชแล้วจึงทรงเสด็จลงจากปราสาททองบทจรไปถึงป่ามะม่วง...”
ยังมีข้อความอีกตอนหนึ่งจากศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาไทยหลักที่ ๑ พุทธศักราช ๑๙๐๔ กล่าวไว้อีกว่า
“พระยาศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราช...หากสมาทานทศศีลเป็นดาบส...หน้าพระพุทธรูปทองอันประดิษฐานไว้เหนือราชมนเทียรอันตนแต่ง...วันนั้นแล แล้วจึงอัญเชิญมหาสามีสังฆราชด้วยเถรานุเถรภิกษุสงฆ์ทั้งหลายขึ้นเมื่อเถิงราชมนเทียร..องจึง...บวชเป็นสามเณรที่นั้นเมื่อจัก...ศีลนั้น พระยาศรีสุริ(ย)พงศ์ราม(มหา)ธรรมราชาธิราชจึงจักยืนยอมือนบพระพุทธทองนบทั้งพระปิฎกไตร...บ ไว้ที่นั้น นบทั้ง มหาสามีสังฆราช จึงจักอธิษฐานว่าดังนี้ด้วย”
เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๖ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาที่เนินปราสาทแห่งนี้ พบศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหง มีลักษณะเป็นแท่งศิลารูปสี่เหลี่ยม มียอดแหลมมนสูง ๑ เมตร ๑๑ เซนติเมตร และพระแท่นมนังคศิลาบาตรทำด้วยหินอ่อนกว้าง ๑.๒๐ เมตร ยาว ๑.๖๐ เมตร หนา ๓ เซนติเมตร ปัจจุบันนี้ศิลาจารึกดังกล่าวจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ส่วนพระแท่นมนังคศิลาบาตรอยู่ที่วิหารยอด ข้างปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร
การดำเนินการ ๑. ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๗๕ วันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘
๒. ขุดแต่งและบูรณะครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๙๖
๓. ขุดแต่งและบูรณะต่อมา พ.ศ. ๒๕๐๐
๔. บูรณะต่อมา พ.ศ. ๒๕๒๖
ชื่อโบราณสถาน วัดศรีสวาย
ที่ตั้ง อยู่ภายในกำแพงเมือง ทางทิศใต้ของวัดมหาธาตุระยะทางประมาณ ๓๕๐ เมตร ในเขตตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย
พิกัดทางภูมิศาสตร์ รุ้ง ๑๗ องศา ๐ ลิปดา ๕๓ พิลิปดาเหนือ
แวง ๙๙ องศา ๔๒ ลิปดา ๒๐ พิลิปดาตะวันออก
อายุสมัย ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘
ลักษณะและสภาพ เดิมเป็นเทวสถาน สร้างก่อนสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ต่อมาภายหลังดัดแปลงเป็นวัดในพระพุทธศาสนา โบราณสถานประกอบด้วย
๑. ปรางค์ ๓ องค์ ฐานก่อด้วยศิลาแลง และตอนบนก่อด้วยอิฐ หันหน้าไปทางทิศใต้ ฐานกว้างด้านละ ๖.๕๐ เมตร
๒. วิหาร ๒ ตอน ตั้งอยู่ด้านหน้าหรือทิศใต้ของปรางค์ ๓ องค์ เป็นวิหารที่ก่อด้วยอิฐและเสาศิลาแลง ฐานกว้าง ๑๔ เมตร ยาว ๒๒ เมตร
๓. กำแพงแก้ว ล้อมรอบปรางค์ ๓ องค์ และส่วนหนึ่งของวิหารตอนในไว้ กว้าง ๓๔ เมตร ยาว ๔๔ เมตร
๔. กำแพงวัด ก่อด้วยศิลาแลง ล้อมรอบโบราณสถานภายในไว้ทั้งหมดพื้นที่กว้าง ๑๐๖.๕๐ เมตร ยาว ๑๑๗.๕๐ เมตร และมีซุ้มประตูทางเข้าทางทิศใต้หรือด้านหน้าของวัด
๕. สระน้ำ จำนวน ๑ สระ อยู่ภายในเขตกำแพงวัด เป็นสระกว้างและยาว โอบล้อมโบราณสถานกลุ่มปรางค์ ๓ องค์ และวิหารอยู่ทางด้านทิศเหนือและตะวันออก
๖. ฐานวิหาร ก่อด้วยศิลาแลง อยู่ภายในบริเวณวัด แต่อยู่ภายนอกกำแพงแก้วทางด้านทิศตะวันตก กว้าง ๘ เมตร ยาว ๒๐ เมตร จำนวน ๑ ฐาน
ประวัติ ชื่อ “วัดศรีสวาย” ไม่ปรากฏในศิลาจารึก วัดศรีสวายสร้างขึ้นรายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ มีการบูรณะเพิ่มเติมในสมัยอยุธยา สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานไว้ว่า วัดนี้เดิมคงเป็นเทวสถานและคงมีชื่อเรียกว่า “ศรีศิวายะ” ซึ่งหมายถึงพระศิวะ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ พระบาทสมเด็จพระมงกฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสและทรงพบรูปพระสยม “พระศิวะ” ในวิหารและหลักไม้ปักอยู่ในโบสถ์ซึ่งทรงสันนิษฐานไว้ว่า “เดิมคงเป็นโบสถ์พราหมณ์ใช้ในพิธีโล้ชิงช้า(ตรียัมปวาย)” บริเวณรอบนอกองค์ปรางค์ มีคูน้ำล้อมรอบด้านหลัง ชาวบ้านเรียกว่า “สระลอยบาป” ตามลัทธิพราหมณ์ เพราะลัทธิพราหมณ์ถือว่าทุกคนมีบาป ปีหนึ่งๆจะต้องทำพิธีลอยบาปหรือล้างบาปกันครั้งหนึ่ง
ในเวลาต่อมาวัดนี้กลายเป็นวัดในพระพุทธศาสนา มีการพบพระพุทธรูปแบบศิลปะลพบุรีด้วย
การดำเนินการ ๑. ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๗๕ วันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘
๒. ขุดแต่งและบูรณะ พ.ศ. ๒๔๙๖
ชื่อโบราณสถาน วัดสระศรี
ที่ตั้ง อยู่ในกำแพงเมืองด้านทิศเหนือของวัดมหาธาตุ ระยะทางประมาณ ๓๕๐ เมตร โดยตั้งบนเกาะกลางตระพังตระกวน ในเขตตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย
พิกัดทางภูมิศาสตร์ รุ้ง ๑๗ องศา ๑ ลิปดา ๑๒ พิลิปดาเหนือ
แวง ๙๙ องศา ๔๒ ลิปดา ๑๘ พิลิปดาตะวันออก
อายุสมัย สุโขทัย
ลักษณะและสภาพ เป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดกลางตั้งอยู่บนเกาะกลางตระพังตระกวนหรือ สระน้ำขนาดใหญ่ โบราณสถานในวัดนี้ประกอบไปด้วยสิ่งก่อสร้าง ดังต่อไปนี้
๑. เจดีย์ทรงกลมแบบลังกาขนาดใหญ่ รูปทรงสมบูรณ์ถึงยอดมีฐานชั้นล่างรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยกพื้นสูงเป็นฐานทักษิณ และมีระเบียงคดอยู่โดยรอบฐาน ฐานกว้างยาวด้านละ ๑๗.๒๐ เมตร ก่อด้วยอิฐ
๒. ฐานวิหาร อยู่ด้านหน้าหรือตะวันออกของเจดีย์ประธาน มีพระพุทธรูปปูนปั้นประดิษฐานที่ฐานชุกชี วิหารกว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๓๑ เมตร
๓. เจดีย์ขนาดเล็กแบบศรีวิชัยผสมลังกา มีซุ้มพระพุทธรูปอยู่ทั้ง ๔ ทิศ สภาพสมบูรณ์ ก่อด้วยอิฐ ฐานกว้างด้านละ ๔ เมตร ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเจดีย์ประธาน
๔. ฐานเจดีย์รายขนาดเล็ก ตั้งอยู่ทั่วไปโดยรอบ จำนวน ๕ องค์
๕. ฐานโบสถ์ ตั้งอยู่บนเกาะขนาดเล็กกลางน้ำ ด้านทิศตะวันออกของเกาะที่ตั้งกลุ่มโบราณสถานใหญ่ โดยมีสะพานไม้ข้ามต่อถึงกันได้ เป็นโบสถ์ขนาดกว้างยาวด้านละ ๑๐ เมตร มีเสมาหินปักโดยรอบ
๖. สระน้ำขนาดใหญ่ หรือตระพังตระกวน เป็นสระน้ำขนาดพื้นที่ประมาณ ๗๐ ไร่เศษ โดยมีเกาะที่ตั้งกลุ่มโบราณสถานอยู่ตรงกลาง เดิมมีถนนทางหลวงผ่ากลางสระ ปัจจุบันได้ขุดรื้อถนนออกไปแล้ว
ประวัติ ไม่ปรากฏชื่อวัดสระศรีในหลักฐานด้านเอกสารและศิลาจารึก
การดำเนินการ ๑. ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒ ตอนที่ ๗๕ วันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๙๘
๒. ขุดแต่งและบูรณะ พ.ศ. ๒๔๙๖-๒๔๙๘
๓. บูรณะต่อมา พ.ศ. ๒๕๐๘
๔. บูรณะต่อมา พ.ศ. ๒๕๒๕
ชื่อโบราณสถาน วัดตระพังเงิน
ที่ตั้ง อยู่ภายในกำแพงเมือง ด้านทิศตะวันตกของวัดมหาธาตุ หรือตั้งอยู่โดยรอบตระพังเงิน หรือสระน้ำขนาดใหญ่ด้านทิศตะวันตกของวัดมหาธาตุ ในเขตตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย
พิกัดทางภูมิศาสตร์ รุ้ง ๑๗ องศา ๐ ลิปดา ๕๕ พิลิปดาเหนือ
แวง ๙๙ องศา ๔๒ ลิปดา ๘ พิลิปดาตะวันออก
อายุสมัย สุโขทัย
ลักษณะและสภาพ เป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดกลางที่สร้างในสมัยสุโขทัย ตั้งอยู่โดยรอบขอบสระน้ำหรือตระพังเงิน สมารถแบ่งสิ่งก่อสร้างในวัดตระพังเงินนี้ออกเป็น ๓ กลุ่ม มีรายละเอียดดังนี้
๑. กลุ่มที่หนึ่ง เป็นกลุ่มโบราณสถาน ที่ตั้งอยู่ริมขอบตระพังเงินด้านทิศตะวันตก ประกอบด้วย
๑.๑ เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์หรือดอกบัวตูม ที่ตั้งอยู่บนฐานสูงหลายชั้นซ่อนกันขึ้นมา โดยเฉพาะที่เรือนธาตุจะมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นประทับยืน อยู่ทั้ง ๔ ทิศ สภาพสมบูรณ์ ขนาดกว้างของฐานด้านละ ๑๐.๕๐ เมตร
๑.๒ ฐานวิหาร ๗ ห้อง ตั้งอยู่ด้านหน้าหรือทิศตะวันออกของเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ก่อด้วยอิฐ มีเสาศิลาแลง ที่ฐานชุกชีมีพระพุทธรูปปูนปั้นประดิษฐานอยู่ ฐานกว้างประมาณ ๑๒ เมตร ยาว ๒๐ เมตร
๑.๓ เจดีย์ทรงวิมาน ยอดหักมีซุ้มประพุทธรูปอยู่ทั้ง ๔ ทิศ ก่อด้วยอิฐ กว้างด้านละ ๗.๕๐ เมตร ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์
๑.๔ ฐานเจดีย์รายขนาดเล็ก ๓ องค์
๑.๕ บ่อน้ำโบราณ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวิหาร
๑.๖ คูน้ำ เป็นแนวยาวโอบล้อมกลุ่มโบราณสถานนี้ไว้ทั้งสามด้าน คือ ด้านทิศเหนือ ทิศตะวันตก และทิศใต้ โดยคูน้ำกว้างประมาณ ๑๐ เมตร ล้อมรอบพื้นที่ กว้างยาวด้านละประมาณ ๑๐๐ เมตร
๒. กลุ่มที่สอง อยู่ทางริมขอบตระพังเงิน ด้านทิศเหนือ ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้าง ดังต่อไปนี้
๒.๑ ฐานวิหารก่ออิฐ เสาก่อด้วยศิลาแลง มีฐานชุกชีสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดกว้างประมาณ ๘ เมตร ยาว ๑๔ เมตร ตั้งอยู่กลางกลุ่มโบราณสถาน
๒.๒ ฐานกลุ่มเจดีย์รายขนาดต่างๆกัน และรูปทรงต่างๆตั้งอยู่โดยรอบฐานวิหารก่อด้วยอิฐ ได้รับการบูรณะแล้วทั้งหมดจำนวน ๘ ฐาน
๒.๓ ซุ้มประตูและแนวกำแพง อยู่ด้านทิศใต้ของฐานวิหารต่อริมขอบตระพังเงิน จำนวน ๑ แห่ง
๒.๔ ฐานวิหาร ริมขอบตระพังเงิน ด้านทิศเหนือและอยู่ทางทิศตะวันออกของกลุ่มโบราณสถานส่วนใหญ่ เป็นฐานก่ออิฐขนาดฐานกว้างประมาณ ๔ เมตร ยาว ๖ เมตร
๓. กลุ่มที่สาม ตั้งอยู่บริเวณเกาะกลางตระพังเงิน มีโบราณสถาน ดังนี้
๓.๑ ฐานโบสถ์ ก่อด้วยอิฐและเสาศิลาแลง ขนาดของฐานกว้าง ๑๑ เมตร ยาว ๑๙ เมตร มีเสมาหินปักรอบแปดทิศ
๓.๒ ฐานเจดีย์รายขนาดเล็ด ๑ ฐาน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของโบสถ์
๓.๓ บ่อน้ำโบราณ จำนวน ๑ บ่อ ด้านทิศตะวันตกของฐานโบสถ์
ประวัติ ไม่ปรากฏหลักบานชื่อวัดตระพังเงินในศิลาจารึก พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ (เมื่อครั้งยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช) เรื่อง “เที่ยวเมืองพระร่วง” เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๕๑ มีข้อความกล่าวถึงตระพังเงินไว้ว่า “ที่ริมวัดมหาธาตุทางด้านตะวันออก มีที่ดินว่างเปล่าอยู่แปลงหนึ่ง เป็นรูปสี่เหลี่ยมรีทางด้านเหนือกับด้านใต้ มีเนินดินและมีคูต่อไปประจบกับคูวัดมหาธาตุเป็นอันเดียวกัน ด้านตะวันตกที่ติดกับวัดมหาธาตุนั้น มีกำแพงแต่ไม่มีคู ด้านตะวันออกมีคู คูด้านเหนือและใต้นั้นยาวต่อไปจนจดคูด้านตะวันตก เข้าใจว่าน้ำในตระพังทองด้านตะวันออกกับตระพังเงินด้านตะวันตก จะมีทางไขให้เดินเข้าคูวัดกับที่แปลงต่อนั้นได้ตลอด”
การดำเนินการ ๑. ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๗๕ วันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘
๑. ขุดแต่งและบูรณะครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๙๙
๒. ขุดแต่งและบูรณะต่อมา พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๑๐
๓. ขุดแต่งและบูรณะต่อมา พ.ศ. ๒๕๒๖
(จำนวนผู้เข้าชม 7296 ครั้ง)