...

ประวัติเมืองสุโขทัย

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

ก่อนกำเนิดแคว้นสุโขทัย

          บริเวณที่ราบตอนล่างของลุ่มแม่น้ำยม ปิง น่าน ที่ราบลุ่มแม่น้ำเมย และที่ราบตอนบนของ       แม่น้ำป่าสัก เคยเป็นที่ชุมนุมของบ้านเมืองในแคว้นสุโขทัย ซึ่งเจริญรุ่งเรืองอยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่     ๑๙-๒๑  บริเวณดังกล่าวนี้อยู่ระหว่างอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่และเจริญมาก่อน นั่นคืออาณาจักรพุกามทางด้านตะวันตกและอาณาจักรเขมร ในด้านตะวันออก

          ก่อนกำเนิดแคว้นสุโขทัยซึ่งมีทั้งศิลาจารึกและโบราณสถานมากมาย เป็นเครื่องสนับสนุนความเป็นแว่นแคว้นที่ปรากฏขึ้นเมื่อราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ นั้น ดินแดนสุโขทัยมีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้ว เมื่อได้ศึกษาย้อนเวลาขึ้นไปอีกจากหลักฐานทางโบราณคดี ซึ่งพบเครื่องมือหินที่เขาเขน เขากา อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย หรือแม้กระทั่งการพบโครงกระดูกมนุษย์ที่บ้านบึงหญ้า อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย ได้พบเครื่องมือหินที่สัมพันธ์กับชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในแถบประเทศกัมพูชา ลาว และเวียดนาม

          ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์เหล่านี้ อาจอยู่ต่อเนื่องกันและตั้งเป็นบ้านเมืองขึ้นในเวลาต่อมา จนกระทั่งถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมา ได้มีการติดต่อกับดินแดนอื่นแถบบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีพื้นฐานทางวัฒนธรรมแบบทวารวดีโดยได้พบโบราณวัตถุที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันได้แก่ การค้นพบลูกปัด เครื่องมือเครื่องใช้เหล็ก สำริด เหรียญเงินที่มีรูปพระอาทิตย์ รวมทั้งหลักฐานโครงกระดูกมนุษย์ที่วัดชมชื่น ในเขตเมืองเก่าศรีสัชนาลัย ซึ่งมีแท่งดินเผามีลวดลายปรากฏร่วมด้วย

          การค้นพบโบราณสถานในศิลปะเขมรตั้งอยู่บนภูเขาเตี้ย ๆ ลูกหนึ่ง ในแถบบ้านนาเชิง อำเภอคีรีมาศ เรียกตามปากชาวบ้านว่าปรางค์ปู่จานั้น เป็นหลักฐานการเข้ามาของวัฒนธรรมเขมรโบราณที่สำคัญ แต่การกำหนดอายุให้แน่นอนทำได้ลำบาก เนื่องจากลักษณะสำคัญได้ชำรุดสูญหายไปเป็นอันมาก อย่างไรก็ดีหากคิดว่าวัฒนธรรมเขมรผ่านเข้ามาทางเมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ แสดงว่าดินแดนที่ต่อมาเป็นแคว้นสุโขทัยนี้ได้เคยมีการติดต่อกับอาณาจักรเขมรโบราณมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๗ แล้วก็ได้

          การแผ่กระจายของวัฒนธรรมเขมรปรากฏเป็นระยะต่อเนื่องเรื่อยมา นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๗ จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ หลักฐานโบราณสถานที่เด่นชัดได้แก่ ศาลตาผาแดง ในเขตเมืองเก่าสุโขทัย เป็นโบราณสถานร่วมสมัยกับสมัยบายน ในศิลปะเขมร เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ และดูเหมือนว่านี่เป็นพัฒนาการของเมืองในวัฒนธรรมเขมรในบริเวณที่ราบเชิงเขาประทักษ์เป็นครั้งแรก

          ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในอาณาจักรเขมร เมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ หันมานับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายานและถือเป็นศาสนาหลักในราชอาณาจักรของพระองค์ การสร้างศาสนสถานซึ่งแต่เดิมประดิษฐานรูปเคารพในศาสนาฮินดู เริ่มเปลี่ยนแปลงไป  มีการนำเรื่องราวทางพุทธศาสนามาประดับสถาปัตยกรรมและใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปแทน ลักษณะดังกล่าวนี้ยังปรากฏตามศาสนสถานในศิลปะเขมรที่พบในประเทศไทย ที่สร้างขึ้นในระยะเวลาเดียวกันหลายแห่ง  ตัวอย่างเช่น ที่ปรางค์สามยอดกับปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุที่จังหวัดลพบุรี และที่ปราสาทวัดพระพายหลวงเมืองเก่าสุโขทัย เป็นต้น

          ชุมชนที่มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเขมรแถบสุโขทัยยังคงอยู่สืบต่อกันมา เรื่องราวการตั้งตนขึ้นเป็นอิสระเพื่อปกครองสุโขทัยของกลุ่มชน ซึ่งต่อมาเป็นบรรพบุรุษของคนไทยในปัจจุบันได้เริ่มปรากฏขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘

เมืองสุโขทัย

          ศิลาจารึกหลักที่ ๒ ซึ่งพบอยู่ในอุโมงค์วัดศรีชุม ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือนอกเมืองสุโขทัยได้ให้เรื่องราวเกี่ยวกับสุโขทัยในระยะต้นว่า เมื่อพ่อขุนศรีนาวนำถุมเจ้าเมืองสุโขทัยสิ้นพระชนม์ลง ขอม สบาดโขลญลำพงได้เข้าครอบครองเมืองสุโขทัย พ่อขุนผาเมืองโอรสพ่อขุนศรีนาวนำถุมที่ครองเมืองราด ได้ชักชวนพระสหายคือพ่อขุนบางกลางหาว เข้าร่วมชิงเมืองสุโขทัยกลับคืนมาได้ แต่พ่อขุนผาเมืองกลับยกเมืองสุโขทัยของพระบิดา พร้อมกับได้มอบพระขรรค์ชัยศรีและพระนามศรีอินทรบดินทราทิตย์ของพระองค์ให้กับพระสหาย พ่อขุนบางกลางหาวจึงมีพระนามเป็นที่รู้จักกันว่าพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ได้ปกครองกรุงสุโขทัยเป็นต้นราชวงศ์สุโขทัยสืบมา

          สุโขทัยนามเมืองที่มีความหมายว่ารุ่งอรุณแห่งความสุขนั้น เมื่อสิ้นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พ่อขุนบานเมืองโอรสองค์ใหญ่ได้ปกครองต่อมา ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าในระยะต้นนี้ศูนย์กลางของเมืองยังคงอยู่ในบริเวณวัดพระพายหลวง ซึ่งมีพื้นที่รูปสี่เหลี่ยมและมีคูน้ำคันดินล้อมรอบ หรือย้ายมาที่เมืองใหม่ที่มีวัดมหาธาตุเป็นศูนย์กลางแล้ว แต่เมื่อพ่อขุนรามคำแหงพระอนุชาได้ขึ้นปกครองสุโขทัยต่อมา ข้อมูลจากศิลาจารึกหลักที่ ๑ บอกให้ทราบว่าได้ย้ายเมืองมาอยู่ตรงที่มีวัดมหาธาตุเป็นศูนย์กลางแล้ว ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ได้กล่าวถึงความเกรียงไกรของพ่อขุนรามคำแหงไว้มากมาย พระองค์ทรงเป็นนักรบผู้ปรีชาสามารถเอาชนะขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด ตั้งแต่พระชนมายุได้ ๑๙ พรรษา อาณาเขตของแคว้นสุโขทัยในสมัยนี้แผ่ขยายไปถึงเมืองหลวงพระบางและสุดแหลมมลายู ในทางตะวันตกติดเขตแดนเมาะตะมะ   อาณาเขตที่กว้างใหญ่นี้นักวิชาการเชื่อว่า เป็นความสัมพันธ์ของเมืองสุโขทัยกับบรรดาเมืองน้อยใหญ่เหล่านี้ในลักษณะบ้านพี่เมืองน้อง

          พ่อขุนรามคำแหงทรงนำพุทธศาสนาแบบเถรวาทที่กำลังเจริญอยู่ที่นครศรีธรรมราช เข้ามาเผยแพร่ที่สุโขทัย อันนับเป็นการเปลี่ยนแปลงความเชื่อ ความนับถืออย่างใหม่ให้แก่คนสุโขทัย พระองค์ทรงโปรดให้มีการฟังเทศน์ในวันธรรมสวนะ

          ศิลาจารึกได้ให้ภาพความเป็นผู้นำของพ่อขุนรามคำแหงทั้งในทางโลกและทางธรรม กล่าวคือทรงมีความสามารถในการเป็นนักรบที่ปกครองไพร่ฟ้าให้มีความเป็นอยู่ที่ดี บ้านเมืองเป็นปกติสุข ประชาชนมีอิสระในการทำการค้า ถึงกับมีคำกล่าวว่า “เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ลู่ทาง เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า” พระองค์ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์พุทธศาสนา โปรดให้มีการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุกลางเมืองศรีสัชนาลัยอันเป็นเมืองคู่ของสุโขทัย และก่อสร้างอาราม พระพุทธรูปต่างๆขึ้นในสุโขทัย ในช่วงเทศกาลออกพรรษา พ่อขุนรามคำแหงทรงช้างขึ้นไปไหว้พระในเขตอรัญญิกที่วัดสะพานหินเพื่อกรานกฐิน พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างให้แก่กษัตริย์ไทยในเวลาต่อมา ความเป็นปึกแผ่นของเมืองสุโขทัยนอกจากจะมีกำลังที่เข้มแข็ง บ้านเมืองเป็นสุขดังกล่าวแล้ว ยังมีตำนานเล่ากันในสมัยหลังต่อมาว่า พระองค์คือผู้ที่ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้เป็นพระองค์แรกด้วย

          เมื่อสิ้นรัชกาลของพ่อขุนรามคำแหง สุโขทัยไม่สามารถดำรงความเป็นบ้านเมืองที่รุ่งเรืองมากเหมือนแต่ก่อนไว้ได้ อาจเป็นในสมัยของพระยาเลอไท โอรสของพ่อขุนรามคำแหงหรือภายหลังสมัยของพระยาเลอไทก็ได้  ที่เมืองต่าง ๆ ภายในแคว้นสุโขทัยได้แตกแยกกันเป็นอิสระปกครองกันเอง ไม่ยอมขึ้นกับเมืองสุโขทัยที่เคยเป็นศูนย์กลางเช่นเดิม  ดังนั้น เมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๐ พระมหาธรรมราชาลิไท พระราชนัดดาของพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งขณะนั้นครองเมืองศรีสัชนาลัย จึงนำกองทัพเข้ามาปราบจนเป็นผลสำเร็จ ได้ขึ้นครองสุโขทัย และสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้แก่แคว้นสุโขทัยซึ่งประกอบด้วยเมืองต่าง ๆ อีกครั้งหนึ่ง

          ในสมัยของพระมหาธรรมราชาลิไทเมืองสุโขทัยมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาก พระองค์ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์พุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ ได้อาราธนาพระมหาสามีสังฆราชจากนครพัน อันเป็นเมืองหนึ่งทางตอนใต้ของพม่า ขณะนั้นพุทธศาสนาจากลังกากำลังเจริญอยู่ที่นั่น ด้วยความเลื่อมใสในพุทธศาสนา พระมหาธรรมราชาลิไทได้ออกผนวชและจำพรรษาอยู่ที่วัดป่ามะม่วง ทางทิศตะวันตกของเมืองสุโขทัย พระองค์ยังได้ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมทางพุทธศาสนาขึ้นเรียกว่า เตภูมิกถาหรือไตรภูมิพระร่วง เพื่อสั่งสอนอบรมประชาชนของพระองค์ ให้เลื่อมใสในพุทธศาสนาด้วย

          ในสมัยนี้มีความเจริญรุ่งเรืองอีกประการหนึ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกับพุทธศาสนา เพราะเป็นสิ่งที่เกิดจากความเลื่อมใสศรัทธานั่นคือ ศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมซึ่งมีความงดงาม เป็นเอกลักษณ์และสะท้อนถึงความรู้ทางเทคนิควิทยาการต่าง ๆ เป็นอย่างดี จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคทองของศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมทีเดียว เช่น การสร้างพระพุทธรูปลีลาอันเป็นงานประติมากรรมลอยตัวที่หล่อได้อย่างวิเศษสุด เจดีย์ทรงดอกบัวตูมอันเป็นเอกลักษณ์ของทรงสถูปสุโขทัย ก็นิยมสร้างขึ้นในสมัยนี้จนเป็นแบบฉบับที่ลงตัว

          พระมหาธรรมราชาลิไททรงพระปรีชาสามารถ ทรงเห็นคุณประโยชน์ของพุทธศาสนา จึงได้นำมาปรับใช้ในด้านการเมืองการปกครอง  โปรดให้มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปยังเมืองต่าง ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนของพระองค์ ตลอดจนคนต่างเมือง โดยเฉพาะแคว้นล้านนาและกรุงศรีอยุธยา มีโอกาสได้สักการะบูชาพระบรมสารีริกธาตุ การสร้างเจดีย์ทรงดอกบัวตูมซึ่งเป็นเสมือนเครื่องหมายความสัมพันธ์ทางการเมืองและศาสนาในเมืองต่างๆ จึงเกิดขึ้นในสมัยนี้ เช่น วัดบรมธาตุนครชุม กำแพงเพชร , วัดสวนดอก เชียงใหม่ , วัดเจดีย์ยอดทอง พิษณุโลก เป็นอาทิ (ปัจจุบันวัดที่กำแพงเพชรและเชียงใหม่ดังกล่าว ไม่มีเจดีย์ทรงดอกบัวตูมปรากฏให้เห็นแล้ว)

 

การสิ้นสุดของแคว้นสุโขทัย

       ตั้งแต่ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมา เกิดอาณาจักรที่มีอำนาจขึ้น ๒ อาณาจักร ทางเหนือของสุโขทัยมีอาณาจักรล้านนา ซึ่งมีศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ สามารถแผ่อาณาเขตมาถึงเมืองตากซึ่งเคยเป็นของสุโขทัย ส่วนทางใต้ของสุโขทัย คือ อาณาจักรอยุธยาที่ได้ สถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓ และสามารถควบคุมเมืองในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาไว้ได้ เป็นเหตุให้กษัตริย์ของสุโขทัยในระยะนี้ ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก

          ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้ยกทัพมายึดเมืองสองแคว (พิษณุโลก) ไว้ได้ พระมหาธรรมราชาลิไทต้องถวายบรรณาการเพื่อขอเมืองคืน อาจเป็นเหตุให้พระองค์ต้องเสด็จไปประทับอยู่ที่นั่น เมื่อทรงได้รับคืนเมืองสองแควแล้ว และโปรดให้พระขนิษฐาของพระองค์ปกครองสุโขทัยแทน เหตุการณ์ตอนนี้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ราชบัลลังก์สุโขทัยได้ถูกทำลายคุณลักษณะในการเป็นที่ตั้งอำนาจอันชอบธรรมของผู้ที่จะปกครองแคว้นสุโขทัยทั้งมวลลงไป

          ปรากฏหลักฐานว่า เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ แห่งกรุงศรีอยุธยา เสด็จสวรรคต เมื่อ พ.ศ. ๑๙๑๑ พระมหาธรรมราชาลิไททรงพยายามฟื้นฟูความเป็นเมืองศูนย์กลางของสุโขทัยอีกครั้งหนึ่ง ทรงเสด็จกลับสุโขทัยพร้อมไพร่พลบริวารที่เป็นเจ้าเมืองต่าง ๆ ของแคว้นสุโขทัยที่ยังจงรักภักดี แต่พระองค์ก็ไม่สามารถแสดงบทบาทด้านการเมืองต่อไปได้นาน พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๙๑๓ – ๑๙๑๔ อันเป็นเวลาที่ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (พ่องั่ว) ได้เสวยราชสมบัติที่กรุงศรีอยุธยา และส่งกำลังเข้ายึดเมืองสุโขทัยและเมืองอื่น ๆ ในแว่นแคว้นไว้ได้หมด

          ประวัติศาสตร์แคว้นสุโขทัยในช่วงเวลาต่อไปประมาณครึ่งศตวรรษ เป็นเรื่องที่กษัตริย์ราชวงศ์สุพรรณภูมิที่มีอำนาจอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาและสุพรรณบุรี พยายามที่จะเข้าครอบงำแคว้นสุโขทัยทีละเล็กทีละน้อย โดยการสมรสระหว่างเจ้านายของทั้งสองราชวงศ์ การใช้ระบบขุนนางเข้าแทรกซึม ตลอดจนการสนับสนุนด้านกำลังแก่เจ้านายสุโขทัยที่เป็นพรรคพวก เครือญาติ ที่ฝ่ายสุพรรณภูมิมีศักดิ์เหนือกว่า

          ด้วยเหตุนี้จึงปรากฏว่าอย่างน้อยก็เมื่อ พ.ศ. ๑๙๘๑ ที่แคว้นสุโขทัยทั้งหมด ได้กลายเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา ที่ชาวอยุธยาเรียกว่าเมืองเหนือแล้ว เพราะในปีนี้เป็นปีที่ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (สมเด็จเจ้าสามพระยา) ได้ส่งโอรสที่สมภพจากพระชายาราชวงศ์สุโขทัย มาครองเมืองพิษณุโลก ในตำแหน่งพระราเมศวร อันเป็นตำแหน่งพระมหาอุปราช ปกครองกลุ่มเมืองเหนือทั้งมวล โดยขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยาอีกทีหนึ่ง

(จำนวนผู้เข้าชม 317761 ครั้ง)


Messenger