เทวรูปจากเทวาลัยมหาเกษตร ตอนที่ 2 พระวิษณุ
เทวรูปจากเทวาลัยมหาเกษตร ตอนที่ ๒ : “พระวิษณุ” เทพผู้ปกป้องและคุ้มครองแห่งเทวาลัยมหาเกษตร
.
ก่อนหน้านี้ได้มีการนำเสนอเรื่องราวของพระอิศวรหรือพระศิวะ มหาเทพผู้มีหน้าที่ทำลายล้างโลกไปแล้ว วันนี้อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยจะขอนำเสนอเรื่องราวของพระวิษณุและเทวรูปพระวิษณุที่พบที่เทวาลัยมหาเกษตร
.
พระวิษณุ (Vishnu) เป็น ๑ ใน ๓ ของเทพสำคัญในศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู พระองค์ทรงเป็นเทพผู้ปกป้องและคุ้มครองโลก และทรงเป็นปรมาตมันสูงสุดในลัทธิไวษณพนิกาย โดยพระองค์จะอวตารลงมาปราบทุกข์เข็ญ เมื่อยามที่โลกเดือดร้อน อวตารที่รู้จักกันดี คือ “ทศอวตาร” หรือ นารายณ์สิบปาง พระวิษณุมีลักษณะเด่น คือ สวมกิรีฏมกุฏซึ่งเป็นหมวกทรงกระบอกของกษัตริย์ เนื่องจากทรงมีหน้าที่ดูแลโลก พระองค์จึงเทียบได้กับกษัตริย์ของจักรวาล มี ๔ กร ทรงถือศัตราวุธ ได้แก่ จักร (สัญลักษณ์แห่งพระสูรยะและแสงสว่าง) สังข์ (สัญลักษณ์ของน้ำ) คทา (สำหรับการลงทัณฑ์ผู้กระทำความผิด) ดอกบัวหรือธรณี (สื่อถึงการโอบอุ้มดูแลโลก) เป็นต้น พระองค์ทรงมีพระชายา คือ พระลักษมี และมีครุฑเป็นเทพพาหนะ เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อที่เรียกว่า ‘นารายณ์’ ซึ่งแปลตามรากศัพท์ว่า ผู้เคลื่อนไหวอยู่ในน้ำ คำว่า ‘นารายณ์’ นี้เป็นพระนามเดิมของพระพรหมมาก่อน ต่อมาภายหลังจึงนำมาใช้เรียกพระวิษณุ เมื่อครั้งที่บรรทมอยู่ในเกษียรสมุทร
.
โดยเทวรูปพระวิษณุที่พบที่เทวาลัยมหาเกษตรนั้น มีความสูง ๒.๖๗ เมตร สวมหมวกทรงกระบอก พระพักตร์รูปไข่ พระขนงแยกออกจากกันและไม่เป็นเส้นนูน พระเนตรรียาว พระนาสิกงุ้ม แย้มพระสรวลเล็กน้อย พระหนุกลม พระวรกายอวบอ้วน บั้นพระองค์สูง พระอุระกว้าง มี ๔ กร โดยพระหัตถ์ซ้ายหน้าทำท่าคล้ายกำสิ่งของสันนิษฐานว่าเป็นคทา ซึ่งเป็น ๑ ในอาวุธของพระวิษณุ พระหัตถ์ขวาหน้าจีบนิ้วชี้ชิดกับนิ้วโป้งสื่อความหมายถึงการสั่งสอน ส่วนลักษณะการนุ่งผ้าของพระวิษณุ มีการชักชายผ้าออกมาหลายชั้น สวมมงกุฎ กุณฑล กรองศอ พาหุรัด ทองพระกร และทองพระบาทเช่นเดียวกับศิลปะลังกา
.
จากการศึกษาเทวรูปสำริดของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศสกุล สามารถกำหนดอายุของเทวรูปได้จากรูปแบบของศิราภรณ์ เครื่องประดับ และเครื่องแต่งองค์ ซึ่งมีพัฒนาการแตกต่างไปตามช่วงเวลา ซึ่งเทวรูปพระวิษณุแห่งเทวาลัยมหาเกษตร เป็นตัวอย่างของประติมากรรมเทวรูปในสมัยสุโขทัยยุครุ่งเรือง
(มีพระพักตร์เหมือนกับพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย หมวดใหญ่) โดยปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานครเช่นเดียวกับเทวรูปพระอิศวร
.
.
อ้างอิง
๑. กรมศิลปากร. (๒๕๕๐). ศัพทานุกรมโบราณคดี. กรุงเทพฯ: บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด. (จัดพิมพ์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐).
๒.เชษฐ์ ติงสัญชลี. (๒๕๖๓). ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. พิมพ์ครั้งที่ ๔. นนทบุรี. มิวเซียมเพรส.
๓.ศักดิ์ชัย สายสิงห์. (๒๕๖๑). ศิลปกรรมโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. นนทบุรี: มิวเซียมเพรส.
๔.สุรพล ดำริห์กุล. (๒๕๖๒). ประวัติศาสตร์และศิลปะสุโขทัย. นนทบุรี: เมืองโบราณ.
.
หมายเหตุ : สามารถอ่านเทวรูปจากเทวาลัยมหาเกษตร ตอนที่ ๑ : พระอิศวร ได้ที่ลิ้งค์ https://www.facebook.com/photo/?fbid=719217040010611&set=a.621124623153187
.
ก่อนหน้านี้ได้มีการนำเสนอเรื่องราวของพระอิศวรหรือพระศิวะ มหาเทพผู้มีหน้าที่ทำลายล้างโลกไปแล้ว วันนี้อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยจะขอนำเสนอเรื่องราวของพระวิษณุและเทวรูปพระวิษณุที่พบที่เทวาลัยมหาเกษตร
.
พระวิษณุ (Vishnu) เป็น ๑ ใน ๓ ของเทพสำคัญในศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู พระองค์ทรงเป็นเทพผู้ปกป้องและคุ้มครองโลก และทรงเป็นปรมาตมันสูงสุดในลัทธิไวษณพนิกาย โดยพระองค์จะอวตารลงมาปราบทุกข์เข็ญ เมื่อยามที่โลกเดือดร้อน อวตารที่รู้จักกันดี คือ “ทศอวตาร” หรือ นารายณ์สิบปาง พระวิษณุมีลักษณะเด่น คือ สวมกิรีฏมกุฏซึ่งเป็นหมวกทรงกระบอกของกษัตริย์ เนื่องจากทรงมีหน้าที่ดูแลโลก พระองค์จึงเทียบได้กับกษัตริย์ของจักรวาล มี ๔ กร ทรงถือศัตราวุธ ได้แก่ จักร (สัญลักษณ์แห่งพระสูรยะและแสงสว่าง) สังข์ (สัญลักษณ์ของน้ำ) คทา (สำหรับการลงทัณฑ์ผู้กระทำความผิด) ดอกบัวหรือธรณี (สื่อถึงการโอบอุ้มดูแลโลก) เป็นต้น พระองค์ทรงมีพระชายา คือ พระลักษมี และมีครุฑเป็นเทพพาหนะ เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อที่เรียกว่า ‘นารายณ์’ ซึ่งแปลตามรากศัพท์ว่า ผู้เคลื่อนไหวอยู่ในน้ำ คำว่า ‘นารายณ์’ นี้เป็นพระนามเดิมของพระพรหมมาก่อน ต่อมาภายหลังจึงนำมาใช้เรียกพระวิษณุ เมื่อครั้งที่บรรทมอยู่ในเกษียรสมุทร
.
โดยเทวรูปพระวิษณุที่พบที่เทวาลัยมหาเกษตรนั้น มีความสูง ๒.๖๗ เมตร สวมหมวกทรงกระบอก พระพักตร์รูปไข่ พระขนงแยกออกจากกันและไม่เป็นเส้นนูน พระเนตรรียาว พระนาสิกงุ้ม แย้มพระสรวลเล็กน้อย พระหนุกลม พระวรกายอวบอ้วน บั้นพระองค์สูง พระอุระกว้าง มี ๔ กร โดยพระหัตถ์ซ้ายหน้าทำท่าคล้ายกำสิ่งของสันนิษฐานว่าเป็นคทา ซึ่งเป็น ๑ ในอาวุธของพระวิษณุ พระหัตถ์ขวาหน้าจีบนิ้วชี้ชิดกับนิ้วโป้งสื่อความหมายถึงการสั่งสอน ส่วนลักษณะการนุ่งผ้าของพระวิษณุ มีการชักชายผ้าออกมาหลายชั้น สวมมงกุฎ กุณฑล กรองศอ พาหุรัด ทองพระกร และทองพระบาทเช่นเดียวกับศิลปะลังกา
.
จากการศึกษาเทวรูปสำริดของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศสกุล สามารถกำหนดอายุของเทวรูปได้จากรูปแบบของศิราภรณ์ เครื่องประดับ และเครื่องแต่งองค์ ซึ่งมีพัฒนาการแตกต่างไปตามช่วงเวลา ซึ่งเทวรูปพระวิษณุแห่งเทวาลัยมหาเกษตร เป็นตัวอย่างของประติมากรรมเทวรูปในสมัยสุโขทัยยุครุ่งเรือง
(มีพระพักตร์เหมือนกับพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย หมวดใหญ่) โดยปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานครเช่นเดียวกับเทวรูปพระอิศวร
.
.
อ้างอิง
๑. กรมศิลปากร. (๒๕๕๐). ศัพทานุกรมโบราณคดี. กรุงเทพฯ: บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด. (จัดพิมพ์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐).
๒.เชษฐ์ ติงสัญชลี. (๒๕๖๓). ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. พิมพ์ครั้งที่ ๔. นนทบุรี. มิวเซียมเพรส.
๓.ศักดิ์ชัย สายสิงห์. (๒๕๖๑). ศิลปกรรมโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. นนทบุรี: มิวเซียมเพรส.
๔.สุรพล ดำริห์กุล. (๒๕๖๒). ประวัติศาสตร์และศิลปะสุโขทัย. นนทบุรี: เมืองโบราณ.
.
หมายเหตุ : สามารถอ่านเทวรูปจากเทวาลัยมหาเกษตร ตอนที่ ๑ : พระอิศวร ได้ที่ลิ้งค์ https://www.facebook.com/photo/?fbid=719217040010611&set=a.621124623153187
(จำนวนผู้เข้าชม 5731 ครั้ง)