เจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูม
เจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูม...จากความคิดสร้างสรรค์ สู่หลักฐานชิ้นเอกแห่งสุโขทัย
.
เจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูม เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือเจดีย์ทรงทะนาน เป็นชื่อที่เรียกตามลักษณะของยอดเจดีย์ เจดีย์ทรงนี้สันนิษฐานว่ามีวิวัฒนาการและการผสมผสานศิลปะจากหลายแหล่ง ถือได้ว่าเป็นเจดีย์ที่มีลักษณะเฉพาะของศิลปะสุโขทัย และเป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมของสุโขทัยอย่างแท้จริง ซึ่งที่มาของเจดีย์ทรงนี้ได้มีนักวิชาการเสนอไว้หลากหลายทฤษฎี
.
ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม สันนิษฐานว่า เจดีย์ทรงนี้เกิดจากการพัฒนาและผสมผสานระหว่างศิลปะเขมรและศิลปะพุกามของพม่า โดยส่วนเรือนธาตุพัฒนามาจากเรือนธาตุของปราสาทเขมร ในส่วนขององค์ระฆังดัดแปลงมาจากเจดีย์ในศิลปะพุกามของพม่า โดยสันนิษฐานว่ามีอายุในช่วงกลางหรือปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 สอดคล้องกับข้อมูลจารึกที่พบ เช่นที่ เจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมที่วัดอโสการาม มีจารึกที่กล่าวว่าสร้างในปี พ.ศ.1942 เป็นต้น
.
ศ.ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ เรียกเจดีย์ทรงนี้ว่า ปรางค์ยอดบัว ได้เสนอทฤษฎีที่ว่า เจดีย์ยอดดอกบัวตูมนี้ เกิดจากการผสมผสานระหว่างเจดีย์ยอดดอกบัวของชาวจีนที่ใช้สำหรับบรรจุอัฐิกับปรางค์ของไทย และได้กำหนดอายุไว้แตกต่างไปจากเดิมที่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 23 ในช่วงสมัยพระเจ้าท้ายสระ ซึ่งเป็นระยะที่ชาวจีนมีบทบาททางการเมืองในภูมิภาคนี้
.
ทั้งนี้ ในปัจจุบันนักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่าเจดีย์ทรงยอดยอดบัวตูมนั้น เป็นการพัฒนาและผสมผสานระหว่างศิลปะเขมร ศิลปะล้านนา และศิลปะพุกามของพม่า ซึ่งเป็นแนวความคิดที่สามารถอธิบายที่มาของรูปแบบศิลปกรรมที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย และสอดคล้องกับลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่ปรากฏ
.
เจดีย์ทรงนี้สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดขึ้นในช่วงสมัยของพญาลิไท และแพร่หลายในเฉพาะช่วงที่สุโขทัยเรืองอำนาจ ซึ่งการกำหนดอายุของเจดีย์ยอดดอกบัวตูมนี้อ้างอิงจากจารึกวัดอโสการาม ซึ่งเป็นวัดที่มีเจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ยอดดอกบัวตูม โดยพบจารึกที่ระบุปีที่สร้างวัดคือ พ.ศ.1942 และศิลาจารึกนครชุม กล่าวถึงพระมหาธรรมราชาลิไทเสด็จมาสร้างพระศรีมหาธาตุ วัดบรมธาตุนครชุม ซึ่งเจดีย์องค์เดิมนั้นเป็นเจดีย์ยอดดอกบัวตูม โดยเจดีย์ที่เห็นในปัจจุบันนั้นถูกสร้างครอบทับด้วยเจดีย์ทรงมอญ-พม่าในภายหลัง นำมาสู่การกำหนดอายุให้เจดีย์ทรงนี้ไว้ว่าเริ่มปรากฏอย่างช้าสุดคือในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 20
.
เจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมนี้พบแพร่หลายในเมืองที่ร่วมสมัยกับสุโขทัย ซึ่งเจดีย์ยอดดอกบัวตูมนี้ถือเป็นเจดีย์รูปแบบเฉพาะของสุโขทัย เป็นที่น่าสังเกตว่าเจดีย์ทรงนี้เป็นรูปแบบเจดีย์ที่พบในวัดที่มีขนาดใหญ่และสำคัญ อยู่ในระดับที่เจ้านายทรงสร้าง และถ้าหากพบเจดีย์รูปแบบนี้ที่เมืองใด แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์และบทบาททางการเมืองของสุโขทัยที่มีต่อเมืองเหล่านั้น ทั้งเมืองกำแพงเพชรและศรีสัชนาลัยที่พบเป็นจำนวนมาก ในส่วนของเมืองพิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ น่าน สรรคบุรี ในปัจจุบันเหลือหลักฐานเพียงเมืองละหนึ่งองค์เท่านั้น ทั้งนี้รวมถึงเมืองที่มีความสัมพันธ์ทางศาสนา เช่น เมืองเชียงใหม่ ซึ่งสันนิษฐานว่าแพร่ไปพร้อมกับพระเถระจากสุโขทัย ที่เดินทางไปเผยแพร่ศาสนา ราวพุทธศตวรรษที่ 20 ซึ่งได้ปรากฏภาพถ่ายเก่าของวัดสวนดอกก่อนการปฏิสังขรณ์ว่ามีเจดีย์ยอดดอกบัวตูมเป็นเจดีย์รายของวัด และนอกจากนี้ที่บริเวณสบแจ่ม ได้ปรากฏวัดพระเจ้าดำซึ่งเป็นวัดที่มีเจดีย์ยอดตัวบัวตูมเป็นเจดีย์ประธานของวัด เป็นหลักฐานสำคัญของศิลปะสุโขทัยแท้ที่ขึ้นมายังล้านนา และเจดีย์ยอดดอกบัวตูมยังเป็นเจดีย์ประธานของวัดอีกด้วย
.
เอกสารอ้างอิง
1.ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปกรรมโบราณในอาณาจักรสุโขทัย ประมวลศิลปกรรมโบราณเมืองสุโขทัย
ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร พิษณุโลก. กรุงเทพฯ : หจก.เรือนแก้วการพิมพ์, 2561.
2.ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์.. เจดีย์ในประเทศไทย รูปแบบ พัฒนาการและพลังศรัทธา. นนทบุรี : เมืองโบราณ, 2560.
3.ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา (ฉบับปรับปรุงใหม่). เอกสารคำสอน รายวิชา 310333 ศิลปะสุโขทัยและล้านนา และรายวิชา 317405 ศิลปะในประเทศไทยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19-21. ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. 2554. (อัดสำเนา)
4.ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม. เจดีย์ ความเป็นมาและคำศัพท์เรียกองค์ประกอบเจดีย์ในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน, 2553.
5.ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะสุโขทัย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555.
6.ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สุรพล ดำริห์กุล. ประวัติศาสตร์และศิลปะสุโขทัย. นนทบุรี : เมืองโบราณ, 2562.
#โบราณสถาน #อุทยานประวัติศาสตร์ #สุโขทัย #อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
.
เจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูม เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือเจดีย์ทรงทะนาน เป็นชื่อที่เรียกตามลักษณะของยอดเจดีย์ เจดีย์ทรงนี้สันนิษฐานว่ามีวิวัฒนาการและการผสมผสานศิลปะจากหลายแหล่ง ถือได้ว่าเป็นเจดีย์ที่มีลักษณะเฉพาะของศิลปะสุโขทัย และเป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมของสุโขทัยอย่างแท้จริง ซึ่งที่มาของเจดีย์ทรงนี้ได้มีนักวิชาการเสนอไว้หลากหลายทฤษฎี
.
ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม สันนิษฐานว่า เจดีย์ทรงนี้เกิดจากการพัฒนาและผสมผสานระหว่างศิลปะเขมรและศิลปะพุกามของพม่า โดยส่วนเรือนธาตุพัฒนามาจากเรือนธาตุของปราสาทเขมร ในส่วนขององค์ระฆังดัดแปลงมาจากเจดีย์ในศิลปะพุกามของพม่า โดยสันนิษฐานว่ามีอายุในช่วงกลางหรือปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 สอดคล้องกับข้อมูลจารึกที่พบ เช่นที่ เจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมที่วัดอโสการาม มีจารึกที่กล่าวว่าสร้างในปี พ.ศ.1942 เป็นต้น
.
ศ.ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ เรียกเจดีย์ทรงนี้ว่า ปรางค์ยอดบัว ได้เสนอทฤษฎีที่ว่า เจดีย์ยอดดอกบัวตูมนี้ เกิดจากการผสมผสานระหว่างเจดีย์ยอดดอกบัวของชาวจีนที่ใช้สำหรับบรรจุอัฐิกับปรางค์ของไทย และได้กำหนดอายุไว้แตกต่างไปจากเดิมที่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 23 ในช่วงสมัยพระเจ้าท้ายสระ ซึ่งเป็นระยะที่ชาวจีนมีบทบาททางการเมืองในภูมิภาคนี้
.
ทั้งนี้ ในปัจจุบันนักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่าเจดีย์ทรงยอดยอดบัวตูมนั้น เป็นการพัฒนาและผสมผสานระหว่างศิลปะเขมร ศิลปะล้านนา และศิลปะพุกามของพม่า ซึ่งเป็นแนวความคิดที่สามารถอธิบายที่มาของรูปแบบศิลปกรรมที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย และสอดคล้องกับลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่ปรากฏ
.
เจดีย์ทรงนี้สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดขึ้นในช่วงสมัยของพญาลิไท และแพร่หลายในเฉพาะช่วงที่สุโขทัยเรืองอำนาจ ซึ่งการกำหนดอายุของเจดีย์ยอดดอกบัวตูมนี้อ้างอิงจากจารึกวัดอโสการาม ซึ่งเป็นวัดที่มีเจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ยอดดอกบัวตูม โดยพบจารึกที่ระบุปีที่สร้างวัดคือ พ.ศ.1942 และศิลาจารึกนครชุม กล่าวถึงพระมหาธรรมราชาลิไทเสด็จมาสร้างพระศรีมหาธาตุ วัดบรมธาตุนครชุม ซึ่งเจดีย์องค์เดิมนั้นเป็นเจดีย์ยอดดอกบัวตูม โดยเจดีย์ที่เห็นในปัจจุบันนั้นถูกสร้างครอบทับด้วยเจดีย์ทรงมอญ-พม่าในภายหลัง นำมาสู่การกำหนดอายุให้เจดีย์ทรงนี้ไว้ว่าเริ่มปรากฏอย่างช้าสุดคือในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 20
.
เจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมนี้พบแพร่หลายในเมืองที่ร่วมสมัยกับสุโขทัย ซึ่งเจดีย์ยอดดอกบัวตูมนี้ถือเป็นเจดีย์รูปแบบเฉพาะของสุโขทัย เป็นที่น่าสังเกตว่าเจดีย์ทรงนี้เป็นรูปแบบเจดีย์ที่พบในวัดที่มีขนาดใหญ่และสำคัญ อยู่ในระดับที่เจ้านายทรงสร้าง และถ้าหากพบเจดีย์รูปแบบนี้ที่เมืองใด แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์และบทบาททางการเมืองของสุโขทัยที่มีต่อเมืองเหล่านั้น ทั้งเมืองกำแพงเพชรและศรีสัชนาลัยที่พบเป็นจำนวนมาก ในส่วนของเมืองพิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ น่าน สรรคบุรี ในปัจจุบันเหลือหลักฐานเพียงเมืองละหนึ่งองค์เท่านั้น ทั้งนี้รวมถึงเมืองที่มีความสัมพันธ์ทางศาสนา เช่น เมืองเชียงใหม่ ซึ่งสันนิษฐานว่าแพร่ไปพร้อมกับพระเถระจากสุโขทัย ที่เดินทางไปเผยแพร่ศาสนา ราวพุทธศตวรรษที่ 20 ซึ่งได้ปรากฏภาพถ่ายเก่าของวัดสวนดอกก่อนการปฏิสังขรณ์ว่ามีเจดีย์ยอดดอกบัวตูมเป็นเจดีย์รายของวัด และนอกจากนี้ที่บริเวณสบแจ่ม ได้ปรากฏวัดพระเจ้าดำซึ่งเป็นวัดที่มีเจดีย์ยอดตัวบัวตูมเป็นเจดีย์ประธานของวัด เป็นหลักฐานสำคัญของศิลปะสุโขทัยแท้ที่ขึ้นมายังล้านนา และเจดีย์ยอดดอกบัวตูมยังเป็นเจดีย์ประธานของวัดอีกด้วย
.
เอกสารอ้างอิง
1.ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปกรรมโบราณในอาณาจักรสุโขทัย ประมวลศิลปกรรมโบราณเมืองสุโขทัย
ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร พิษณุโลก. กรุงเทพฯ : หจก.เรือนแก้วการพิมพ์, 2561.
2.ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์.. เจดีย์ในประเทศไทย รูปแบบ พัฒนาการและพลังศรัทธา. นนทบุรี : เมืองโบราณ, 2560.
3.ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา (ฉบับปรับปรุงใหม่). เอกสารคำสอน รายวิชา 310333 ศิลปะสุโขทัยและล้านนา และรายวิชา 317405 ศิลปะในประเทศไทยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19-21. ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. 2554. (อัดสำเนา)
4.ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม. เจดีย์ ความเป็นมาและคำศัพท์เรียกองค์ประกอบเจดีย์ในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน, 2553.
5.ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะสุโขทัย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555.
6.ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สุรพล ดำริห์กุล. ประวัติศาสตร์และศิลปะสุโขทัย. นนทบุรี : เมืองโบราณ, 2562.
#โบราณสถาน #อุทยานประวัติศาสตร์ #สุโขทัย #อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
(จำนวนผู้เข้าชม 11616 ครั้ง)