พระพุทธรูปประทับยืนเหนือพนัสบดีที่สุโขทัย
พระพุทธรูปประทับยืนเหนือพนัสบดีที่สุโขทัย
.
พระพุทธรูปประทับยืนเหนือพนัสบดีองค์นี้พบที่วัดตระพังมะพลับ (วัดตระพังพลับ, โบราณสถานร้าง ก.38, AT.C4) ตั้งอยู่ห่างจากประตูอ้อมาทางทิศตะวันออกประมาณ 300 เมตร โบราณสถานภายในวัดประกอบด้วยฐานวิหารก่ออิฐ และฐานเจดีย์รายขนาดเล็กก่ออิฐจำนวน 6 ฐาน โดยประติมากรรมที่พบมีลักษณะเป็นพระพุทธเจ้าประทับยืนยกพระหัตถ์ทั้งสองข้างแสดงปางแสดงธรรม ครองจีวรห่มคลุมแนบพระวรกาย พระพักตร์แบน พระขนงทั้งสองต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรโปน พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์หนา มีบุคคลยืนขนาบทั้งสองข้าง ด้านล่างคือ พนัสบดีที่ทำหน้าที่เป็นฐานรองพระพุทธเจ้า ซึ่งเชื่อว่าเป็นการรวมกันของสัตว์ทั้งสามคือ หงส์ โค และครุฑ ทั้งนี้ประติมากรรมพระพุทธรูประทับยืนเหนือพนัสบดีนั้นเป็นเอกลักษณ์พิเศษของศิลปะทวารวดี ซึ่งเหตุที่ประติมากรรมชิ้นนี้มาพบที่โบราณสถานในเมืองสุโขทัยนั้น สันนิษฐานได้ว่าอาจมีการเคลื่อนย้ายมา เนื่องด้วยขนาดของประติมากรรมมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก
.
คำว่า พนัสบดี นี้ มีที่มาจากคำว่า Vanaspati สันนิษฐานว่าหมายถึง เจ้าป่า ซึ่งการทำพระพุทธเจ้าประทับเหนือพนัสบดีอาจเป็นการสื่อความหมายว่า พระพุทธเจ้าได้รับการยอมรับในหมู่สรรพสัตว์ ทั้งนี้ พนัสบดีนั้นมีลักษณะเป็น สัตว์ที่มีเขาและหูแบบโค มีปากคล้ายครุฑ และมีปีกเป็นหงส์ และยังมีการพบเป็นสัตว์ผสมชนิดอื่นๆ อีกเช่น สิงห์มีปีกและเขา ครุฑ หน้ากาล และรูปบุคคล เป็นต้น และองค์ประกอบโดยรวมของพระพุทธรูปปางนี้จะเหมือนกันคือ พระพุทธเจ้าประทับยืนอยู่ตรงกลาง มีบุคคลถือแส้ประกบอยู่ทั้งสองข้าง หรืออาจประทับยืนองค์เดียวเหนือพนัสบดี เช่นที่พบที่เมืองพระรถ จังหวัดชลบุรี
.
ที่มาหรือนัยยะของการสร้างประติมากรรมพนัสบดีนี้ มีผู้สันนิษฐานว่าอาจมาจากพระพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ทั้งนี้ ศ.ฌอง บวสเซอลิเยร์ ไม่เชื่อว่าเป็นตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพราะในคัมภีร์หรืองานศิลปกรรมตั้งแต่สมัยอินเดียโบราณ ไม่เคยปรากฏภาพพระพุทธเจ้าเสด็จจากดาวดึงส์โดยประทับเหนือสัตว์เหล่านี้เลย หรืออาจเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ว่าศาสนาพุทธอยู่เหนือศาสนาพราหมณ์ เพราะเชื่อว่าเป็นการนำเอาพาหนะของเทพเจ้าสูงสุดในศาสนาพราหมณ์มาผสมกัน คือ ปากเป็นครุฑ (พาหนะของพระนารายณ์) หูและเขาเหมือนโค (พาหนะของพระศิวะ) และปีกเป็นหงส์ (พาหนะของพระพรหม) ซึ่งแนวความคิดการสร้างประติมากรรมแสดงความยิ่งใหญ่เหนือศาสนาพราหมณ์นั้น ได้พบที่ถ้ำพระโพธิสัตว์ จังหวัดสระบุรี หรืออินเดียในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14-17 ก็ปรากฏงานศิลปะที่พยายามแสดงถึงการข่มกันของศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ ซึ่งอาจมีการแพร่แนวคิดนี้เข้ามาในทวารวดีก็เป็นได้ นอกจากนี้ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ได้เสนอว่า ประติมากรรมนี้อาจสร้างขึ้นในลัทธิมหายาน นิกายสุขาวดี ที่พบในประเทศจีน โดยภาพบุคคลที่ปรากฏทั้งสองข้างของพระพุทธเจ้าก็คือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร กับพระโพธิสัตว์สถามาปราปตะ โดยพระพุทธเจ้าจะประทับอยู่เหนือครุฑเพื่อเสด็จลงมานับดวงวิญญาณของผู้ที่พ้นทุกข์ แต่ทั้งนี้ นิกายสุขาววดีไม่เคยปรากฏว่าพระพุทธเจ้าประทับอยู่เหนือสัตว์ที่เป็นพาหนะใดๆ ส่วนใหญ่จะประทับอยู่เหนือก้อนเมฆ รวมทั้งยังไม่เคยพบหลักฐานว่าศิลปะทวารวดีมีความเกี่ยวข้องกับลัทธิสุขาวดีที่นิยมในจีน เกาหลี และญี่ปุ่นเลย หลักฐานที่พบโดยส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นลัทธิเถรวาทที่มีความใกล้เคียงอินเดียเป็นอย่างมาก
.
เอกสารอ้างอิง
1) กรมศิลปากร. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง. กรุงเทพ : บริษัท ประชาชน จำกัด.
2) ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ทวารวดี ศิลปกรรมยุคเริ่มแรกในดินแดนไทย. เอกสารคำสอน รายวิชา 317 403 ศิลปะในประเทศไทยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 6-14. ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. (อัดสำเนา)
3) ผาสุข อินทราวุธ. ทวารวดี การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ : คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2542.
4) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย. ทำเนียบโบราณสถาน อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2561. พิมพ์ครั้งที่ 2. สุโขทัย : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย กรมศิลปากร, 2561.
.
พระพุทธรูปประทับยืนเหนือพนัสบดีองค์นี้พบที่วัดตระพังมะพลับ (วัดตระพังพลับ, โบราณสถานร้าง ก.38, AT.C4) ตั้งอยู่ห่างจากประตูอ้อมาทางทิศตะวันออกประมาณ 300 เมตร โบราณสถานภายในวัดประกอบด้วยฐานวิหารก่ออิฐ และฐานเจดีย์รายขนาดเล็กก่ออิฐจำนวน 6 ฐาน โดยประติมากรรมที่พบมีลักษณะเป็นพระพุทธเจ้าประทับยืนยกพระหัตถ์ทั้งสองข้างแสดงปางแสดงธรรม ครองจีวรห่มคลุมแนบพระวรกาย พระพักตร์แบน พระขนงทั้งสองต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรโปน พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์หนา มีบุคคลยืนขนาบทั้งสองข้าง ด้านล่างคือ พนัสบดีที่ทำหน้าที่เป็นฐานรองพระพุทธเจ้า ซึ่งเชื่อว่าเป็นการรวมกันของสัตว์ทั้งสามคือ หงส์ โค และครุฑ ทั้งนี้ประติมากรรมพระพุทธรูประทับยืนเหนือพนัสบดีนั้นเป็นเอกลักษณ์พิเศษของศิลปะทวารวดี ซึ่งเหตุที่ประติมากรรมชิ้นนี้มาพบที่โบราณสถานในเมืองสุโขทัยนั้น สันนิษฐานได้ว่าอาจมีการเคลื่อนย้ายมา เนื่องด้วยขนาดของประติมากรรมมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก
.
คำว่า พนัสบดี นี้ มีที่มาจากคำว่า Vanaspati สันนิษฐานว่าหมายถึง เจ้าป่า ซึ่งการทำพระพุทธเจ้าประทับเหนือพนัสบดีอาจเป็นการสื่อความหมายว่า พระพุทธเจ้าได้รับการยอมรับในหมู่สรรพสัตว์ ทั้งนี้ พนัสบดีนั้นมีลักษณะเป็น สัตว์ที่มีเขาและหูแบบโค มีปากคล้ายครุฑ และมีปีกเป็นหงส์ และยังมีการพบเป็นสัตว์ผสมชนิดอื่นๆ อีกเช่น สิงห์มีปีกและเขา ครุฑ หน้ากาล และรูปบุคคล เป็นต้น และองค์ประกอบโดยรวมของพระพุทธรูปปางนี้จะเหมือนกันคือ พระพุทธเจ้าประทับยืนอยู่ตรงกลาง มีบุคคลถือแส้ประกบอยู่ทั้งสองข้าง หรืออาจประทับยืนองค์เดียวเหนือพนัสบดี เช่นที่พบที่เมืองพระรถ จังหวัดชลบุรี
.
ที่มาหรือนัยยะของการสร้างประติมากรรมพนัสบดีนี้ มีผู้สันนิษฐานว่าอาจมาจากพระพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ทั้งนี้ ศ.ฌอง บวสเซอลิเยร์ ไม่เชื่อว่าเป็นตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพราะในคัมภีร์หรืองานศิลปกรรมตั้งแต่สมัยอินเดียโบราณ ไม่เคยปรากฏภาพพระพุทธเจ้าเสด็จจากดาวดึงส์โดยประทับเหนือสัตว์เหล่านี้เลย หรืออาจเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ว่าศาสนาพุทธอยู่เหนือศาสนาพราหมณ์ เพราะเชื่อว่าเป็นการนำเอาพาหนะของเทพเจ้าสูงสุดในศาสนาพราหมณ์มาผสมกัน คือ ปากเป็นครุฑ (พาหนะของพระนารายณ์) หูและเขาเหมือนโค (พาหนะของพระศิวะ) และปีกเป็นหงส์ (พาหนะของพระพรหม) ซึ่งแนวความคิดการสร้างประติมากรรมแสดงความยิ่งใหญ่เหนือศาสนาพราหมณ์นั้น ได้พบที่ถ้ำพระโพธิสัตว์ จังหวัดสระบุรี หรืออินเดียในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14-17 ก็ปรากฏงานศิลปะที่พยายามแสดงถึงการข่มกันของศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ ซึ่งอาจมีการแพร่แนวคิดนี้เข้ามาในทวารวดีก็เป็นได้ นอกจากนี้ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ได้เสนอว่า ประติมากรรมนี้อาจสร้างขึ้นในลัทธิมหายาน นิกายสุขาวดี ที่พบในประเทศจีน โดยภาพบุคคลที่ปรากฏทั้งสองข้างของพระพุทธเจ้าก็คือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร กับพระโพธิสัตว์สถามาปราปตะ โดยพระพุทธเจ้าจะประทับอยู่เหนือครุฑเพื่อเสด็จลงมานับดวงวิญญาณของผู้ที่พ้นทุกข์ แต่ทั้งนี้ นิกายสุขาววดีไม่เคยปรากฏว่าพระพุทธเจ้าประทับอยู่เหนือสัตว์ที่เป็นพาหนะใดๆ ส่วนใหญ่จะประทับอยู่เหนือก้อนเมฆ รวมทั้งยังไม่เคยพบหลักฐานว่าศิลปะทวารวดีมีความเกี่ยวข้องกับลัทธิสุขาวดีที่นิยมในจีน เกาหลี และญี่ปุ่นเลย หลักฐานที่พบโดยส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นลัทธิเถรวาทที่มีความใกล้เคียงอินเดียเป็นอย่างมาก
.
เอกสารอ้างอิง
1) กรมศิลปากร. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง. กรุงเทพ : บริษัท ประชาชน จำกัด.
2) ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ทวารวดี ศิลปกรรมยุคเริ่มแรกในดินแดนไทย. เอกสารคำสอน รายวิชา 317 403 ศิลปะในประเทศไทยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 6-14. ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. (อัดสำเนา)
3) ผาสุข อินทราวุธ. ทวารวดี การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ : คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2542.
4) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย. ทำเนียบโบราณสถาน อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2561. พิมพ์ครั้งที่ 2. สุโขทัย : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย กรมศิลปากร, 2561.
(จำนวนผู้เข้าชม 1193 ครั้ง)