ตรีบูรแห่งเมืองสุโขทัย
ตรีบูรแห่งเมืองสุโขทัย
.
คูเมือง-กำแพงเมืองสุโขทัยในปัจจุบันปรากฏคูน้ำ-คันดินทั้งหมดสามชั้น มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทั้งนี้ ในจารึกหลักที่ 1 (จารึกพ่อขุนรามคำแหง) ได้กล่าวถึงเมืองสุโขทัยว่า “...รอบเมืองสุโขทัยนี้ ตรีบูรได้สามพันสี่ร้อยวา...” ทำให้แต่เดิมนักวิชาการส่วนใหญ่สันนิษฐานว่า คูเมือง-กำแพงเมืองสุโขทัยนี้ มีสามชั้นมาตั้งแต่สมัยแรกเริ่มหรือในสมัยของพ่อขุนรามคำแหงแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะของคูเมือง-กำแพงเมืองที่ยังปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ต่อมาได้มีการดำเนินงานทางโบราณคดีในส่วนของคูเมือง ป้อมประตูเมือง และกำแพงเมือง ผลจากการดำเนินงานทำให้ทราบว่า คูเมือง-กำแพงเมืองเหล่านี้ ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นพร้อมกันในคราวเดียว คือ
.
- คูเมือง-กำแพงเมืองชั้นใน : จากหลักฐานที่พบทำให้สันนิษฐานได้ว่า กำแพงเมืองชั้นใน คูเมืองชั้นใน และประตูเมืองทั้ง 4 สร้างในช่วงสุโขทัยตอนต้น-กลาง เพื่อเป็นการกำหนดขอบเขตพื้นที่และแสดงถึงความเป็นเมือง ต่อมาได้มีการสร้างเสริมบ้างในระยะหลังเพื่อเสริมความมั่นคงแข็งแรงของกำแพง
.
- กำแพงเมืองชั้นกลาง – กำแพงเมืองชั้นนอก : พิจารณาจากหลักฐานที่พบทำให้สันนิษฐานได้ว่า กำแพงเมืองชั้นกลางและชั้นนอกก่อสร้างในช่วงที่สุโขทัยอยู่ภายใต้อำนาจของอยุธยาแล้ว ซึ่งได้พบการสร้างป้อมประตูเมืองของกำแพงเมืองชั้นกลางทับลงไปบนวัดที่เคยมีอยู่ก่อนแล้ว พร้อมทั้งขุดคูเมืองชั้นกลางและชั้นนอก และยังพบเศษภาชนะดินเผาในสมัยราชวงศ์หมิง ซึ่งกำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 20 - 22
.
แล้วเหตุใดในจารึกหลักที่ 1 จึงกล่าวว่า “...รอบเมืองสุโขทัยนี้ ตรีบูรได้สามพันสี่ร้อยวา...” ?
.
นักวิชาการสันนิษฐานว่า คำว่า “ตรีบูร” นี้ ไม่ได้หมายความถึงกำแพงเมืองสามชั้นอย่างที่เข้าใจ เนื่องด้วย ไม่เพียงแต่เมืองสุโขทัยเท่านั้นที่ถูกกล่าวถึงว่ามี “ตรีบูร” แต่ยังมีเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองที่สร้างร่วมสมัยกับเมืองสุโขทัยตอนต้น โดยในศิลาจารึกวัดเชียงมั่นได้กล่าวถึงการสร้างเมืองเชียงใหม่ว่า “...พญามังรายเจ้าแล พญางำเมือง พญาร่วง ทั้งสามตนตั้งหอนอนในที่ชัยภูมิราชมนเทียน ขุดคือ ก่อตรีบูรทั้งสี่ด้าน แลก่อพระเจดีย์...” ซึ่งคูเมือง-กำแพงเมืองเชียงใหม่ที่ปรากฏร่องรอยให้เห็นในปัจจุบันนั้น เป็นกำแพงก่ออิฐขนาบด้วยคูเมืองในผังสี่เหลี่ยม ยกเว้นในส่วนทางด้านทิศใต้และทิศตะวันออกได้ปรากฏแนวกำแพงดินอีกหนึ่งชั้น โดยจากข้อมูลที่พบทำให้สันนิษฐานได้ว่า กำแพงเมืองเชียงใหม่ส่วนที่สร้างในสมัยพญามังรายนั้นคือกำแพงเมือง-คูเมืองในผังสี่เหลี่ยม ในส่วนของแนวกำแพงดินและคูเมืองที่ล้อมรอบทางด้านทิศใต้และทิศตะวันออกนั้น สันนิษฐานว่ามีการขยายเมืองขึ้นในช่วงที่เกิดสงครามระหว่างเชียงใหม่และอยุธยา จากร่องรอยและหลักฐานต่างๆที่เหลืออยู่ ไม่ปรากฏว่าเมืองเชียงใหม่มีกำแพงเมืองสามชั้นแต่อย่างใด
.
นอกจากนี้ ใน “กำสรวลสมุทร” ยังพบคำว่า ตรีบูร ที่กล่าวว่าถึงอยุธยาว่า “อยุธยาไพโรชใต้ ตรีบูร” ซึ่งไม่ปรากฏว่า กำแพงเมืองอยุธยานั้นมีสามชั้นแต่อย่างใด
นักวิชาการจึงตั้งข้อสันนิษฐานว่า “ตรี” นี้อาจมาจากภาษาทมิฬคำว่า “ติริ” มีความหมายตรงกับคำว่า “ศรี” แปลว่า กำแพงที่ดีงามมั่นคงแข็งแรง นอกจากนี้ยังมีข้อสันนิษฐานว่าอาจหมายถึง ปราการที่แข็งแกร่งทั้งสาม คือ กำแพงวิเศษที่เกิดขึ้นจากการหลอมรวมปราการที่แข็งแกร่งทั้งสามเข้าด้วยกัน (กำแพงบนโลก กำแพงในชั้นอากาศ และกำแพงในชั้นสวรรค์) มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ว่า เป็นกำแพงที่ไม่อาจทำลายได้
.
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. กองโบราณคดี. การขุดค้นทางโบราณคดีในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย. กรุงเทพฯ : บริษัท วิคตอรี่เพาเวอร์พอยท์ จำกัด, 2531.
คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. เมืองและแหล่งชุมชนโบราณในล้านนา. กรุงเทพฯ : หจก.ไอเดีย สแควร์, 2539.
คณะอนุกรรมการพิจารณาจารึกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย ในคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย กรมศิลปากร. จารึกล้านนาภาค 2 เล่ม 1 จารึกจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2551.
ธนิต อยู่โพธิ์. ประวัติและโคลงกำสรวลศรีปราชญ์ พร้อมด้วยบันทึกสอบทานและหมายเหตุ พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นายเดือนลอย บุนนาค. พิมพ์ครั้งที่ 3. 2511.
พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. ฟื้นฝอยหาตะเข็บ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2553.
วินัย พงศ์ศรีเพียร. สุโขทัยคดี ประวัติศาสตร์ จารึกศึกษา และนิรุกติประวัติ. นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2563.
.
คูเมือง-กำแพงเมืองสุโขทัยในปัจจุบันปรากฏคูน้ำ-คันดินทั้งหมดสามชั้น มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทั้งนี้ ในจารึกหลักที่ 1 (จารึกพ่อขุนรามคำแหง) ได้กล่าวถึงเมืองสุโขทัยว่า “...รอบเมืองสุโขทัยนี้ ตรีบูรได้สามพันสี่ร้อยวา...” ทำให้แต่เดิมนักวิชาการส่วนใหญ่สันนิษฐานว่า คูเมือง-กำแพงเมืองสุโขทัยนี้ มีสามชั้นมาตั้งแต่สมัยแรกเริ่มหรือในสมัยของพ่อขุนรามคำแหงแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะของคูเมือง-กำแพงเมืองที่ยังปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ต่อมาได้มีการดำเนินงานทางโบราณคดีในส่วนของคูเมือง ป้อมประตูเมือง และกำแพงเมือง ผลจากการดำเนินงานทำให้ทราบว่า คูเมือง-กำแพงเมืองเหล่านี้ ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นพร้อมกันในคราวเดียว คือ
.
- คูเมือง-กำแพงเมืองชั้นใน : จากหลักฐานที่พบทำให้สันนิษฐานได้ว่า กำแพงเมืองชั้นใน คูเมืองชั้นใน และประตูเมืองทั้ง 4 สร้างในช่วงสุโขทัยตอนต้น-กลาง เพื่อเป็นการกำหนดขอบเขตพื้นที่และแสดงถึงความเป็นเมือง ต่อมาได้มีการสร้างเสริมบ้างในระยะหลังเพื่อเสริมความมั่นคงแข็งแรงของกำแพง
.
- กำแพงเมืองชั้นกลาง – กำแพงเมืองชั้นนอก : พิจารณาจากหลักฐานที่พบทำให้สันนิษฐานได้ว่า กำแพงเมืองชั้นกลางและชั้นนอกก่อสร้างในช่วงที่สุโขทัยอยู่ภายใต้อำนาจของอยุธยาแล้ว ซึ่งได้พบการสร้างป้อมประตูเมืองของกำแพงเมืองชั้นกลางทับลงไปบนวัดที่เคยมีอยู่ก่อนแล้ว พร้อมทั้งขุดคูเมืองชั้นกลางและชั้นนอก และยังพบเศษภาชนะดินเผาในสมัยราชวงศ์หมิง ซึ่งกำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 20 - 22
.
แล้วเหตุใดในจารึกหลักที่ 1 จึงกล่าวว่า “...รอบเมืองสุโขทัยนี้ ตรีบูรได้สามพันสี่ร้อยวา...” ?
.
นักวิชาการสันนิษฐานว่า คำว่า “ตรีบูร” นี้ ไม่ได้หมายความถึงกำแพงเมืองสามชั้นอย่างที่เข้าใจ เนื่องด้วย ไม่เพียงแต่เมืองสุโขทัยเท่านั้นที่ถูกกล่าวถึงว่ามี “ตรีบูร” แต่ยังมีเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองที่สร้างร่วมสมัยกับเมืองสุโขทัยตอนต้น โดยในศิลาจารึกวัดเชียงมั่นได้กล่าวถึงการสร้างเมืองเชียงใหม่ว่า “...พญามังรายเจ้าแล พญางำเมือง พญาร่วง ทั้งสามตนตั้งหอนอนในที่ชัยภูมิราชมนเทียน ขุดคือ ก่อตรีบูรทั้งสี่ด้าน แลก่อพระเจดีย์...” ซึ่งคูเมือง-กำแพงเมืองเชียงใหม่ที่ปรากฏร่องรอยให้เห็นในปัจจุบันนั้น เป็นกำแพงก่ออิฐขนาบด้วยคูเมืองในผังสี่เหลี่ยม ยกเว้นในส่วนทางด้านทิศใต้และทิศตะวันออกได้ปรากฏแนวกำแพงดินอีกหนึ่งชั้น โดยจากข้อมูลที่พบทำให้สันนิษฐานได้ว่า กำแพงเมืองเชียงใหม่ส่วนที่สร้างในสมัยพญามังรายนั้นคือกำแพงเมือง-คูเมืองในผังสี่เหลี่ยม ในส่วนของแนวกำแพงดินและคูเมืองที่ล้อมรอบทางด้านทิศใต้และทิศตะวันออกนั้น สันนิษฐานว่ามีการขยายเมืองขึ้นในช่วงที่เกิดสงครามระหว่างเชียงใหม่และอยุธยา จากร่องรอยและหลักฐานต่างๆที่เหลืออยู่ ไม่ปรากฏว่าเมืองเชียงใหม่มีกำแพงเมืองสามชั้นแต่อย่างใด
.
นอกจากนี้ ใน “กำสรวลสมุทร” ยังพบคำว่า ตรีบูร ที่กล่าวว่าถึงอยุธยาว่า “อยุธยาไพโรชใต้ ตรีบูร” ซึ่งไม่ปรากฏว่า กำแพงเมืองอยุธยานั้นมีสามชั้นแต่อย่างใด
นักวิชาการจึงตั้งข้อสันนิษฐานว่า “ตรี” นี้อาจมาจากภาษาทมิฬคำว่า “ติริ” มีความหมายตรงกับคำว่า “ศรี” แปลว่า กำแพงที่ดีงามมั่นคงแข็งแรง นอกจากนี้ยังมีข้อสันนิษฐานว่าอาจหมายถึง ปราการที่แข็งแกร่งทั้งสาม คือ กำแพงวิเศษที่เกิดขึ้นจากการหลอมรวมปราการที่แข็งแกร่งทั้งสามเข้าด้วยกัน (กำแพงบนโลก กำแพงในชั้นอากาศ และกำแพงในชั้นสวรรค์) มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ว่า เป็นกำแพงที่ไม่อาจทำลายได้
.
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. กองโบราณคดี. การขุดค้นทางโบราณคดีในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย. กรุงเทพฯ : บริษัท วิคตอรี่เพาเวอร์พอยท์ จำกัด, 2531.
คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. เมืองและแหล่งชุมชนโบราณในล้านนา. กรุงเทพฯ : หจก.ไอเดีย สแควร์, 2539.
คณะอนุกรรมการพิจารณาจารึกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย ในคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย กรมศิลปากร. จารึกล้านนาภาค 2 เล่ม 1 จารึกจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2551.
ธนิต อยู่โพธิ์. ประวัติและโคลงกำสรวลศรีปราชญ์ พร้อมด้วยบันทึกสอบทานและหมายเหตุ พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นายเดือนลอย บุนนาค. พิมพ์ครั้งที่ 3. 2511.
พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. ฟื้นฝอยหาตะเข็บ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2553.
วินัย พงศ์ศรีเพียร. สุโขทัยคดี ประวัติศาสตร์ จารึกศึกษา และนิรุกติประวัติ. นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2563.
(จำนวนผู้เข้าชม 7009 ครั้ง)