...

บารายเมืองสุโขทัย หนึ่งในระบบจัดการน้ำสมัยสุโขทัย
 "บารายเมืองสุโขทัย" หนึ่งในระบบจัดการน้ำสมัยสุโขทัย •
.
บารายเมืองสุโขทัย หรือเรียกตามชื่อโบราณสถานของอุทยานว่า ทำนบ 7 อ. หรืออ่างเก็บน้ำหมายเลข 2 เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองสุโขทัยด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นคันดินมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า คันดินกว้าง 25-30 เมตร สูง 2-4 เมตร มี 3 ด้าน ด้านทิศเหนือยาว 1,400 เมตร ด้านด้านทิศตะวันออกยาว 750 เมตร ด้านทิศใต้ยาว 1,050 เมตร และด้านทิศตะวันตกไม่พบแนวคันดินเนื่องจากติดคลองแม่ลำพัน
.
#การใช้ประโยชน์ของบารายเมืองสุโขทัย
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ได้ทำการศึกษาทางโบราณคดี เมื่อปี พ.ศ.2560-2561 พบหลักฐานทำให้สันนิษฐานได้ว่าบารายหรือทำนบ 7 อ. แห่งนี้ไม่ได้กักเก็บน้ำไว้ตลอดเวลา แต่เป็นการกักเก็บน้ำไว้ในช่วงฤดูน้ำหลากของแต่ละปี โดยใช้กักเก็บน้ำในฤดูน้ำหลาก สำหรับรับน้ำจากคลองแม่ลำพันมาเก็บไว้ เมื่อผ่านพ้นฤดูน้ำหลากในแต่ละปีแล้วจึงปล่อยที่กักเก็บไว้ออกสู่พื้นที่ทางการเกษตรโดยรอบบารายเมืองสุโขทัย
.
#การกำหนดอายุสมัยของบารายเมืองสุโขทัย
ได้ส่งตัวอย่างถ่าน จำนวน 2 ตัวอย่าง ที่พบการขุดค้นทางโบราณคดี เมื่อ ปี พ.ศ.2560 เพื่อหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ ด้วยวิธี Radiocarbon Dating (AMS) ที่มหาวิทยาลัย Waikato ประเทศนิวซีแลนด์ ได้ค่าอายุดังนี้
- ตัวอย่างถ่านที่ 1 จากหลุมขุดตรวจคันดินบารายด้านทิศตะวันออก T.1 E.1 ได้ค่าอายุ 613 +-15 B.P. หรือ 628 - 598 ปีมาแล้ว ตรงกับ พ.ศ.1865 - 1895 ซึ่งตรงกับสมัยพระยาเลอไท
- ตัวอย่างถ่านที่ 2 จากหลุมขุดค้นทางโบราณคดีบนเนินโบราณสถานวัดโบสถ์ TP.1 ได้ค่าอายุ 578 +-15 B.P. หรือ 593 - 563 ปีมาแล้ว ตรงกับ พ.ศ.1900 - 1930 ซึ่งอยู่ในช่วงสมัยพระยาลิไท - พระยาลือไท (พระมหาธรรมราชาที่ 1-2)
.
สรุปได้ว่าบารายเมืองสุโขทัยหรือทำนบ 7 อ. นั้นสร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยพระยาเลอไทหรือพระยางั่วนำถมเป็นกษัตริย์ครองเมืองสุโขทัย ช่วงระหว่างปี พ.ศ.1842-1890 ต่อมาในช่วงสมัยพระยาลิไทจึงมีการเริ่มถมพื้นที่เพื่อก่อสร้างโบราณสถานวัดโบสถ์ขึ้น ส่วนโบราณสถานอื่นๆ ภายในพื้นที่บริเวณดังกล่าวก็น่าจะสร้างขึ้นช่วงเวลาเดียวกัน
.
#สภาพปัจจุบันของบารายเมืองสุโขทัย
กรมศิลปากรโดยอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ได้ดำเนินงานโครงการเพื่อฟื้นคืนสภาพดั่งเดิมของคันดินของบารายเมืองสุโขทัยขึ้นมาอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ.2562-2563 จากภาพมุมสูงที่ถูกถ่ายเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงหน้าที่การใช้งานของบารายเมืองสุโขทัยในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี คือ เมื่อปริมาณน้ำจากคลองแม่ลำพันมีมากเกินไป ก็จะล้นไปลงบารายเมืองสุโขทัยที่อยู่ทางด้านตะวันออก น้ำจะถูกกักไว้เพื่อชะลอความเร็วของน้ำในระยะเวลาหนึ่ง และเมื่อปริมาณน้ำมีมากเกินกว่าระดับคันดินของบารายจะรับไหว ก็จะล้นออกไปทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต่ำกว่าหรือพื้นที่สำหรับรับน้ำในสมัยสุโขทัย ที่เรียกตามศิลาจารึกหลักที่ 1 พ่อขุนรามคำแหง ว่า "ทะเลหลวง"
.
#เอกสารสำหรับอ่านเพิ่มเติม
1) บทความเรื่อง บารายเมืองสุโขทัย โดย ธงชัย สาโค ในนิตยสารศิลปากร ปีที่ 62 ฉบับที่ 6 พ.ย.-ธ.ค.2562 หน้าที่ 57-75 (ดาวน์โหลดหรืออ่านเพิ่มเติมได้ตามลิงก์นี้ >>> https://www.finearts.go.th/.../cuPFUeeUEipwNzjJAUkML1hI1e...)
2) หนังสือ ระบบชลประทานสมัยสุโขทัย โดย เอนก สีหามาตย์และคณะ (ดาวน์โหลดและอ่านเพิ่มเติมได้ตามลิ้งก์นี้ >>> https://drive.google.com/.../1TYO1yCMtoodAHEXgamH.../view...)
3) รายงานการดำเนินงานทางโบราณคดีโครงการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งน้ำโบราณเมืองสุโขทัย ทำนบ 7 อ. (บารายเมืองสุโขทัย) โดยอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ปีงบประมาณ 2560 - 2561 (ดาวน์โหลดหรืออ่านเพิ่มเติมได้ตามลิ้งก์นี้ >>> https://drive.google.com/.../1yJK3lURcVgbYexhRAN1.../view...)

(จำนวนผู้เข้าชม 3259 ครั้ง)


Messenger