โบราณสถานวัดเจดีย์สี่ห้อง
-โบราณสถานวัดเจดีย์สี่ห้อง-
โบราณสถานวัดเจดียสี่ห้องตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองสุโขทัยทางด้านทิศใต้ และอยู่ห่างจากวัดเชตุพนไปทางทิศตะวันออก ประมาณ ๑๐๐ เมตร โบราณสถานวัดเจดีย์สี่ห้องล้อมรอบด้วยคูน้ำ ภายในประกอบไปด้วย เจดีย์ประธานซึ่งได้รับการบูรณะแล้ว เป็นทรงระฆังส่วนยอดของเจดีย์ได้พังทลายลง คงปรากฏส่วนปล้องไฉนตกอยู่ที่ฐานเจดีย์, เจดีย์รายจำนวน ๑๔ องค์ ตั้งอยู่ล้อมรอบฐานเจดีย์ประธานทั้ง ๔ ด้าน ในตำแหน่งที่ได้สัดส่วนสมมาตร และฐานวิหารขนาด ๕ ห้อง ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ประธาน
.
สิ่งที่สำคัญของวัดคือ ที่ฐานเจดีย์ประธานมีภาพปูนปั้นประดับอยู่โดยรอบ ปั้นเป็นรูปบุคคล รูปบุรุษและสตรี สวมอาภรณ์และเครื่องประดับต่าง ๆ กัน ในมือถือภาชนะมีพันธุ์พฤกษางอกโผล่พ้นออกมาแสดงถึงความเจริญงอกงามและความอุดมสมบูรณ์ ภาชนะนี้เรียกว่า หม้อปูรณฆฏะ หรือหม้อน้ำศักดิ์สิทธิ์ รูปบุคคลที่กล่าวถึงนี้หากพิจารณาบริเวณศีรษะจะสังเกตเห็นร่องรอยนาคหลายเศียรแผ่พังพานอยู่ด้านหลัง จึงแปลความหมายได้ว่า คือ มนุษยนาค ซึ่งถือว่าเป็นเทพอยู่ในโลกบาดาลตามแบบอย่างคติที่นิยมในลังกา นอกจากนี้ยังมีปูนปั้นรูปช้างและสิงห์ประดับอยู่ด้วย
.
ในพระราชนิพนธ์ “เที่ยวเมืองพระร่วง” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กล่าวถึงโบราณสถานวัดเจดีย์สี่ห้องว่า “ต่อมาวัดเชตุพนไปทางตะวันออกมีวัดอยู่วัดหนึ่ง ซึ่งราษฎรเรียกว่ากัน วัดเจดีย์สี่ห้อง เพราะในนั้นมีพระเจดีย์อยู่องค์หนึ่ง ที่ฐานรองระฆังทำเป็นคูหาสี่ทิศ ต่อพระเจดีย์นั้นออกไปทางตะวันออกมีอุโบสถอยู่หลังหนึ่งซึ่ง ไม่สู้แปลกอะไร การก่อสร้างในวัดนี้ใช้แลงเป็นพื้น ที่โบสถ์นี้ห่างจากวัดเชตุพนเพียงประมาณ ๒ เส้นเท่านั้น จึงเห็นว่าน่าจะเป็นวัดเดียวกับวัดเชตุพนนั่นเอง จริงอยู่ระหว่างวัดทั้ง ๒ นี้ มีคูคั่นอยู่ แต่คูนี้อาจจะขุดขึ้นภายหลังก็ได้ หรือขุดไว้ใช้ขังน้ำในวัดก็ได้ ถ้าวัดนี้ไม่ใช่อันหนึ่งอันเดียวกันกับวัดเชตุพนแล้ว ก็ต้องเป็นวัดที่สร้างขึ้นภายหลังที่วัดเชตุพนหายเป็นวัดสำคัญเสียแล้ว แต่พิจารณาดูที่อุโบสถก็ดูท่าทางเป็นของโบราณ แลงที่ใช้ทำเสาเป็นก้อนเขื่องๆ พอใช้ อีกประการหนึ่งภายในเขตที่เรียกว่า วัดเชตุพนนั้น อุโบสถหรือวิหารหามีไม่ จึ่งสันนิษฐานว่า อุโบสถในที่ซึ่งเรียกว่าวัดเจดีย์สี่ห้องนี้เองคืออุโบสถของวัดเชตุพน และวัดเจดีย์สี่ห้องนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวัดเชตุพน ที่ดินแปลงที่เรียกว่าวัดเชตุพนเดี๋ยวนี้เป็นแปลงที่รักษาไว้ให้สะอาดงดงาม เป็นที่พระราชาเสด็จและราษฏรไปมนัสการ ทางแปลงที่เรียกว่าวัดเจดีย์สี่ห้อง เดี๋ยวนี้เป็นที่อยู่ของพระสงฆ์สามเณร”
(จำนวนผู้เข้าชม 5821 ครั้ง)