...

การดำเนินงานทางโบราณคดีโบราณสถานวัดเขาพระบาทใหญ่
+การดำเนินงานทางโบราณคดีโบราณสถานวัดเขาพระบาทใหญ่ (ต.ต. 45)+
---วัดเขาพระบาทใหญ่เป็นหนึ่งในโบราณสถานที่สำคัญ ซึ่งอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยได้ดำเนินการศึกษาวิจัยทางโบราณคดีภายใต้ “โครงการขุดแต่งทางโบราณคดี เพื่อออกแบบบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์กลุ่มโบราณสถานเขาพระบาทใหญ่ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563” โดยได้ดำเนินการขุดแต่งทางโบราณคดีเพื่อศึกษาโบราณสถาน จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย โบราณสถานวัดเขาพระบาทใหญ่ (ต.ต. 45) โบราณสถานวัดกุฏิชี (ต.ต. 46) โบราณสถานร้าง ต.ต. 47 และโบราณสถานร้าง ต.ต. 48
---โบราณสถานวัดเขาพระบาทใหญ่ หรือเรียกอีกชื่อว่า โบราณสถานร้าง ต.ต. 45 (*ต.ต. = ทิศตะวันตก) ตั้งอยู่บนยอดเขาพระบาทใหญ่ อันเป็นภูเขาสำคัญที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองสุโขทัย และห่างจากประตูอ้อไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 2.8 กิโลเมตร จากข้อมูลการสำรวจในหนังสือทำเนียบโบราณสถาน อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2561 ซึ่งได้บรรยายสภาพโดยทั่วไปของโบราณสถานวัดเขาพระบาทใหญ่ขณะที่ได้สำรวจพบไว้ว่า เป็นโบราณสถานที่มีการเรียงหินชนวนซ้อนกันเป็นขอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง 16 เมตร ยาว 37 เมตร ด้านบนพบเป็นฐานวิหาร แต่ในปัจจุบันมีสภาพชำรุดทรุดโทรม และมีหลุมขนาดใหญ่ที่เกิดจากการลักลอบขุด หลงเหลือชิ้นส่วนเสาศิลาแลง มีขนาดประมาณ 60 เซนติเมตร กระจัดกระจายอยู่ทั่วเนิน นอกจากนี้ยังพบว่ามีการนำหินมาปูเรียงตั้งแต่เชิงเขาด้านทิศตะวันออก เพื่อทำเป็นทางเดินขึ้นสู่วัดเขาพระบาทใหญ่ มีวัชพืชปกคลุมหนาทึบ มองเห็นทางเดินเพียงบางส่วนเท่านั้น
---แต่เดิมวัดเขาพระบาทใหญ่เคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งพระมหาธรรมราชาลิไทได้โปรดฯ ให้สร้างไว้ที่เขาพระบาทใหญ่ เมื่อพุทธศักกราช 1902 ดังที่ปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกเขาสุมนกูฏ (ด้านที่ 2 บรรทัดที่ 24 – 28) ปัจจุบันรอยพระพุทธบาทได้ถูกขนย้ายมาเก็บรักษาไว้ในมณฑปกลางเกาะวัดตระพังทอง ส่วนพระแท่นที่ประทับอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง มีการกล่าวถึงวัดเขาพระบาทใหญ่ในจารึกสมัยสุโขทัยหลายหลัก เช่น ศิลาจารึกนครชุม (พุทธศักราช 1900 ศิลาจารึกเขาสุมนกูฏ พุทธศักราช 1902 จากข้อความในจารึกจึงทำให้เราทราบว่าผู้คนในสมัยสุโขทัยรู้จักเขาพระบาทใหญ่ในชื่อเขาสุมนกูฏบรรพต 
---ผลจากการดำเนินการขุดค้น – ขุดแต่ง โบราณสถานวัดเขาพระบาทใหญ่ พบว่า โบราณสถานวัดเขาพระบาทใหญ่ (ต.ต. 45) ประกอบไปด้วยเนินโบราณสถาน 2 แห่ง คือเนินโบราณสถานหลัก เป็นเนินเขาที่เกิดจากการเรียงหินชนวน สูงจากพื้นที่โดยรอบประมาณ 7 เมตร มีการก่อสร้างวิหารและฐานประดิษฐานรอยพระพุทธบาทอยู่บนเนินดิน ลงบันไดด้านหลังเนินโบราณสถานหลักมาทางทิศตะวันตกพบเป็นอาคารก่อหิน และลานหินปูพื้น สันนิษฐานว่าคงเป็นบริเวณเขตสังฆาวาส
---วิหารก่อสร้างด้วยศิลาแลงผสมกับหินอยู่ในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีขนาดความกว้างตามแนวทิศเหนือ - ใต้ 7.50 เมตร ความยาวตามแนวทิศตะวันออก - ตะวันตก 15 เมตร ใช้เสาศิลาแลงในการแบ่งห้องภายในวิหาร บริเวณห้องเสาด้านหน้าวิหารค่อนมาทางทิศเหนือ พบร่องรอยของประตูทางเข้าสู่วิหาร ด้านบนวิหารมีการปูพื้นด้วยแผ่นหินชนวน 
ทางฝั่งทิศตะวันตกวิหารพบชุดฐานก่อหิน สันนิษฐานว่าคือ ฐานประดิษฐานรอยพระพุทธบาท มีขนาดความยาวตามแนวทิศเหนือ - ใต้ 7.50 เมตร ความกว้างตามแนวทิศตะวันออก - ตะวันตก 7 เมตร ส่วนประกอบด้านบนฐานอยู่ในสภาพชำรุดมาก ไม่สามารถทราบถึงรูปแบบทางศิลปกรรมได้ แต่พบร่องรอยของกลุ่มเสาศิลาแลงที่ล้มทับอยู่บนแผ่นกระเบื้องชายพับแบบเนื้อแกร่ง (Stoneware) ที่บริเวณมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือของฐานประดิษฐานรอยพระพุทธบาท หลักฐานดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่าน่าจะเคยมีเสาศิลาแลงอยู่ที่มุมทั้งสี่ด้านของฐาน และมีการมุงหลังคาด้วยแผ่นกระเบื้องชายพับแบบเนื้อแกร่งที่มีขนาดใหญ่กว่ากระเบื้องชายพับทั่วไปและแตกต่างจากตำแหน่งอื่นโดยรอบโบราณสถาน ซึ่งมีขนาดความกว้าง 25 เซนติเมตร ยาว 28 เซนติเมตร หนา 2 เซนติเมตร อันเป็นการเน้นความสำคัญของรูปเคารพที่ประดิษฐานอยู่ฐานชุดนี้ที่มีความพิเศษแตกต่างจากประติมากรรมรูปเคารพโดยทั่วไป ด้วยหลักฐานและร่องรอยดังกล่าวนี้จึงสนับสนุนข้อสันนิษฐานเรื่องตำแหน่งที่ตั้งที่ได้ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทไว้สอดคล้องตามข้อความในศิลาจารึก
---นอกจากนี้ยังพบบริเวณพื้นที่เขตสังฆาวาสด้านหลังเนินวิหาร พบเป็นอาคารก่อหินรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีขนาดความกว้างตามแนวทิศเหนือ - ใต้ 4 เมตร ความยาวตามแนวทิศตะวันออก - ตะวันตก 5.40 เมตร อาคารก่อหินที่พบอยู่ในสภาพชำรุดเสียหาย ด้านทิศเหนือของอาคารหินพบแผ่นหินปูพื้นเป็นลานมีขนาดความกว้างออกมาประมาณ 3.50 – 5 เมตร พื้นที่บริเวณด้านหลังทางทิศตะวันตกของเนินวิหารจึงคงจะใช้เป็นพื้นที่ในเขตสังฆาวาส โดยอาคารก่อหินที่พบน่าจะใช้เป็นกุฏิหินของพระสงฆ์ และมีลานปูพื้นหินทางทิศเหนือของกุฏิเพื่อปรับพื้นที่ที่เคยเป็นเนินให้สม่ำเสมอกัน และใช้ประโยชน์อื่น ๆ
---อีกทั้งยังพบบ่อน้ำรูปสี่เหลี่ยม มีขนาดความกว้างตามแนวทิศตะวันออก – ตะวันตก 3.50 เมตร ความยาวตามแนวเหนือ – ใต้ 4.70 เมตร ความลึกจากขอบบ่อจนถึงก้นบ่อประมาณ 3.50 เมตร ซึ่งตั้งห่างจากทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเขตสังฆาวาสที่ได้กำหนดไว้ไม่มากนัก แสดงให้เห็นว่า อาจจะมีการใช้ประโยชน์จากบ่อน้ำทั้งในเชิงพิธีกรรมร่วมกับเนินวิหาร และใช้ประโยชน์เพื่อการอุปโภค – บริโภคของพระสงฆ์ในพื้นที่เขตสังฆาวาสด้วย ดังนั้นหลักฐานและข้อสันนิษฐานข้างต้นจึงมีความสอดคล้องกัน
.


































(จำนวนผู้เข้าชม 2301 ครั้ง)


Messenger