รอยพระพุทธบาทวัดเชิงคีรี ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ขอเผยแพร่ องค์ความรู้ประจำเดือนมิถุนายน ๒๕๖๗ เรื่อง "รอยพระพุทธบาทวัดเชิงคีรี ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย"
รอยพระพุทธบาทเป็นสัญลักษณ์แทนองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า สร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งการเสด็จเข้าบำเพ็ญพุทธกิจ และเครื่องหมายแห่งการเสด็จเข้ามา ส่วนวงกลมในรอยพระพุทธบาท คือ ธรรมจักรนั้นอาจเป็นเครื่องหมายแห่งคำสอนที่ประทานไว้
ความเชื่อเรื่องรอยพระพุทธบาท รวมทั้งการทำรอยพระพุทธบาทจำลองเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศอินเดีย หลักฐานทางวรรณคดีที่เก่าที่สุดคือ ปุณโณวาทสูตร ในอัฏฐกถาของพระสุตตันตปิฎกมัชฌิมนิกายที่กล่าวถึงสถานที่ ๒ แห่งที่พระพุทธเจ้าทรงทิ้งรอยพระบาทไว้ คือ ริมฝั่งแม่น้ำนรรมทา และบนภูเขาสัจจพันธ์คีรี หลักฐานทางศิลปกรรมเกี่ยวกับการบูชารอยพระพุทธบาทมีพบอยู่ในประเทศอินเดียมาตั้งแต่สมัยอินเดียโบราณ
คติความเชื่อเรื่องรอยพระพุทธบาทในประเทศศรีลังกา ปรากฏหลักฐานในพงศาวดารมหาวงศ์ซึ่งเชื่อว่าเขียนขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๐ กล่าวว่าการบูชารอยพระบาทในประเทศศรีลังกานั้นเริ่มแต่สมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธองค์ได้เสด็จมาเยือนประเทศนี้ ตามคำเชิญของเหล่าพระยานาคผู้อาศัยอยู่ในแม่น้ำกัลยาณี และในโอกาสนั้นได้ทรงประทับรอยพระบาทไว้บนยอดเขาสุมนกูฏ ซึ่งการประทับรอยพระบาทนี้เท่ากับเป็นการประกาศชัยชนะของพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนาที่มีต่อเทพเจ้าและศาสนาดั้งเดิมของเกาะลังกา อันเป็นศาสนาที่นับถือและเกรงกลัวปรากฏการณ์ธรรมชาติ บรรพบุรุษ และวิญญาณต่างๆ ที่เชื่อว่ามีสิงสู่อยู่บนภูเขา พื้นดิน ป่า และแม่น้ำ
ความเชื่อเรื่องรอยพระพุทธบาทในประเทศไทย ปรากฏหลักฐานการสร้างและเคารพบูชารอยพระพุทธบาทแล้วตั้งแต่ในสมัยทวารวดี คือ รอยพระพุทธบาทที่โบราณสถานสระมรกต อำเภอโคกปีบ จังหวัดปราจีนบุรี เป็นรอยพระพุทธบาทขนาดใหญ่สลักเป็นรอยลึกลงในศิลาแลงธรรมชาติ และสลักธรรมจักรนูนขึ้นที่กลางฝ่าพระบาท ลักษณะของพระบาททั้งคู่สลักเป็นรอยเท้ามนุษย์ตามธรรมชาติ มีปลายนิ้วพระบาทไม่เสมอกัน
การสร้างรอยพระพุทธบาทในสมัยสุโขทัย ซึ่งรับคติการสร้างรวมถึงการทำลายลักษณ์มงคล ๑๐๘ ประการตามแบบของลังกา เนื่องจากสัญลักษณ์มงคล ๑๐๘ นี้ปรากฏเฉพาะในศิลปะของลังกา พุกามและสุโขทัยเท่านั้น โดยการใช้คัมภีร์ชินลังการฎีกาที่แต่งขึ้นโดยพระภิกษุชาวลังกา แต่งขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ที่อธิบายลายมงคลในลักษณะที่เป็นสิ่งอันสื่อให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ ความเป็นมงคล ความเป็นจักรพรรดิ และเป็นสัญลักษณ์แทนภพภูมิจักรวาล ซึ่งคัมภีร์นี้ถือเป็นแบบฉบับในการสร้างรอยพุทธบาทในลังกา เช่น รอยพุทธบาทที่เจดีย์โลกนันทะ และที่เจดีย์ชเวชิกอน ประเทศพม่า รวมทั้งรอยพุทธบาทที่สร้างขึ้นในสมัยพญาลิไท ก็ถือว่าสร้างขึ้นตามคัมภีร์ชินาลังการฎีกาเช่นเดียวกัน จากการสร้างรอยพระพุทธบาทในสมัยสุโขทัยนี้เอง จึงมีการรับอิทธิพลการสร้างรอยพระพุทธบาทไปยังดินแดนใกล้เคียงอื่นๆด้วย
รอยพระพุทธบาทที่วัดเชิงคีรี ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เป็นรอยพุทธบาทข้างซ้าย กว้าง ๒๒ นิ้ว ยาว ๕๙ นิ้ว มีความแตกต่างจากรอยพระพุทธบาทที่วัดตระพังทอง สุโขทัย หลายแห่งคือ เป็นรอยพุทธบาทที่เรียงลายลักษณ์ในระเบียบของตาราง แต่ไม่ปรากฏว่ามีตารางขีดคั่นแบ่งพื้นที่ระหว่างสัญลักษณ์มงคลแต่ละสัญลักษณ์ นอกจากนั้นขนาดของธรรมจักรตรงกลางรอยพุทธบาทก็มีขนาดใหญ่กว่าที่วัดตระพังทองมาก คือ มีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง ๑๘ นิ้ว ในขณะที่รอยพุทธบาทที่วัดตระพังทองมีเส้นผ่าศูนย์กลางธรรมจักรเพียง ๘.๔ นิ้วเท่านั้น และยังปรากฏรูปหอยสังข์ที่นิ้วพระบาททั้ง ๕ อีกด้วย อีกทั้งรูปสัญลักษณ์แทนชั้นพรหมโลกและเทวโลกบนรอยพระพุทธบาทที่วัดเชิงคีรี ก็มีลักษณะที่ต่างออกไป คือ มีการทำเป็นรูปอาคารที่มีมุขยื่นออกมา ๔ ด้าน ส่วนของหลังคามีลักษณะคล้ายหน้าจั่ว หรือกรอบซุ้มหน้าบัน ที่บางรูปมีการซ้อนชั้นของหลังคา และบางรูปไม่มีการซ้อนชั้น ต่างจากรอยพระพุทธบาทอีก ๓ รอย ที่เป็นรูปปราสาทซ้อนชั้น สำหรับลายลักษณ์ที่ปรากฏในรอยพุทธบาทแห่งนี้ มีสภาพเกือบสมบูรณ์
รอยพระพุทธบาทวัดเชิงคีรี สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างหลังรอยพระพุทธบาททั้ง ๓ รอยในจารึกหลักที่ ๓ (จารึกนครชุม) ซึ่งเป็นจารึกที่ทำขึ้นในสมัยพญาลิไท ที่โปรดเกล้าฯ ให้มีการจำลองรอยพระพุทธบาทจากเขาสุมนกูฏในลังกามาประดิษฐานไว้บนภูเขาในเมืองสำคัญ ๔ แห่ง ได้แก่ เขาสุมนกูฏ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย เขานางทอง ในเมืองบางพาน กำแพงเพชร และเขาปากพระบาง (ปัจจุบัน คือ เขากบ จังหวัดนครสวรรค์) เพราะทั้ง ๓ รอยไม่ปรากฏการประดับรูปหอยสังข์ที่นิ้วพระบาท และที่ปลายรอยพระพุทธบาทยังปรากฏจารึกระบุ พ.ศ. ๒๐๕๓ แต่เนื้อหาในจารึกก็มิได้บอกว่าสร้างขึ้นใน พ.ศ.นี้ จึงอาจเป็นไปได้ว่ารอยพระพุทธบาทที่วัดเชิงคีรี อาจสร้างขึ้นก่อน พ.ศ. ๒๐๕๓ ก็ได้
เอกสารอ้างอิง
ปัทมา เอกม่วง. “การเปรียบเทียบรูปแบบทางศิลปกรรมบนรอยพระพุทธบาท ที่วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา และที่วัดตระพังทอง จังหวัดสุโขทัย.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๙.
วิราภรณ์ สุวดีปฐมพงศ์. “ประเด็นใหม่ : ระบบการวางลายมงคลบนรอยพระพุทธบาทในประเทศไทย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๔.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๒.
สุธนา เกตุอร่าม. “การสร้างรอยพุทธบาทสมัยพญาลิไท.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิต ภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๓.
รอยพระพุทธบาทเป็นสัญลักษณ์แทนองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า สร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งการเสด็จเข้าบำเพ็ญพุทธกิจ และเครื่องหมายแห่งการเสด็จเข้ามา ส่วนวงกลมในรอยพระพุทธบาท คือ ธรรมจักรนั้นอาจเป็นเครื่องหมายแห่งคำสอนที่ประทานไว้
ความเชื่อเรื่องรอยพระพุทธบาท รวมทั้งการทำรอยพระพุทธบาทจำลองเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศอินเดีย หลักฐานทางวรรณคดีที่เก่าที่สุดคือ ปุณโณวาทสูตร ในอัฏฐกถาของพระสุตตันตปิฎกมัชฌิมนิกายที่กล่าวถึงสถานที่ ๒ แห่งที่พระพุทธเจ้าทรงทิ้งรอยพระบาทไว้ คือ ริมฝั่งแม่น้ำนรรมทา และบนภูเขาสัจจพันธ์คีรี หลักฐานทางศิลปกรรมเกี่ยวกับการบูชารอยพระพุทธบาทมีพบอยู่ในประเทศอินเดียมาตั้งแต่สมัยอินเดียโบราณ
คติความเชื่อเรื่องรอยพระพุทธบาทในประเทศศรีลังกา ปรากฏหลักฐานในพงศาวดารมหาวงศ์ซึ่งเชื่อว่าเขียนขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๐ กล่าวว่าการบูชารอยพระบาทในประเทศศรีลังกานั้นเริ่มแต่สมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธองค์ได้เสด็จมาเยือนประเทศนี้ ตามคำเชิญของเหล่าพระยานาคผู้อาศัยอยู่ในแม่น้ำกัลยาณี และในโอกาสนั้นได้ทรงประทับรอยพระบาทไว้บนยอดเขาสุมนกูฏ ซึ่งการประทับรอยพระบาทนี้เท่ากับเป็นการประกาศชัยชนะของพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนาที่มีต่อเทพเจ้าและศาสนาดั้งเดิมของเกาะลังกา อันเป็นศาสนาที่นับถือและเกรงกลัวปรากฏการณ์ธรรมชาติ บรรพบุรุษ และวิญญาณต่างๆ ที่เชื่อว่ามีสิงสู่อยู่บนภูเขา พื้นดิน ป่า และแม่น้ำ
ความเชื่อเรื่องรอยพระพุทธบาทในประเทศไทย ปรากฏหลักฐานการสร้างและเคารพบูชารอยพระพุทธบาทแล้วตั้งแต่ในสมัยทวารวดี คือ รอยพระพุทธบาทที่โบราณสถานสระมรกต อำเภอโคกปีบ จังหวัดปราจีนบุรี เป็นรอยพระพุทธบาทขนาดใหญ่สลักเป็นรอยลึกลงในศิลาแลงธรรมชาติ และสลักธรรมจักรนูนขึ้นที่กลางฝ่าพระบาท ลักษณะของพระบาททั้งคู่สลักเป็นรอยเท้ามนุษย์ตามธรรมชาติ มีปลายนิ้วพระบาทไม่เสมอกัน
การสร้างรอยพระพุทธบาทในสมัยสุโขทัย ซึ่งรับคติการสร้างรวมถึงการทำลายลักษณ์มงคล ๑๐๘ ประการตามแบบของลังกา เนื่องจากสัญลักษณ์มงคล ๑๐๘ นี้ปรากฏเฉพาะในศิลปะของลังกา พุกามและสุโขทัยเท่านั้น โดยการใช้คัมภีร์ชินลังการฎีกาที่แต่งขึ้นโดยพระภิกษุชาวลังกา แต่งขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ที่อธิบายลายมงคลในลักษณะที่เป็นสิ่งอันสื่อให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ ความเป็นมงคล ความเป็นจักรพรรดิ และเป็นสัญลักษณ์แทนภพภูมิจักรวาล ซึ่งคัมภีร์นี้ถือเป็นแบบฉบับในการสร้างรอยพุทธบาทในลังกา เช่น รอยพุทธบาทที่เจดีย์โลกนันทะ และที่เจดีย์ชเวชิกอน ประเทศพม่า รวมทั้งรอยพุทธบาทที่สร้างขึ้นในสมัยพญาลิไท ก็ถือว่าสร้างขึ้นตามคัมภีร์ชินาลังการฎีกาเช่นเดียวกัน จากการสร้างรอยพระพุทธบาทในสมัยสุโขทัยนี้เอง จึงมีการรับอิทธิพลการสร้างรอยพระพุทธบาทไปยังดินแดนใกล้เคียงอื่นๆด้วย
รอยพระพุทธบาทที่วัดเชิงคีรี ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เป็นรอยพุทธบาทข้างซ้าย กว้าง ๒๒ นิ้ว ยาว ๕๙ นิ้ว มีความแตกต่างจากรอยพระพุทธบาทที่วัดตระพังทอง สุโขทัย หลายแห่งคือ เป็นรอยพุทธบาทที่เรียงลายลักษณ์ในระเบียบของตาราง แต่ไม่ปรากฏว่ามีตารางขีดคั่นแบ่งพื้นที่ระหว่างสัญลักษณ์มงคลแต่ละสัญลักษณ์ นอกจากนั้นขนาดของธรรมจักรตรงกลางรอยพุทธบาทก็มีขนาดใหญ่กว่าที่วัดตระพังทองมาก คือ มีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง ๑๘ นิ้ว ในขณะที่รอยพุทธบาทที่วัดตระพังทองมีเส้นผ่าศูนย์กลางธรรมจักรเพียง ๘.๔ นิ้วเท่านั้น และยังปรากฏรูปหอยสังข์ที่นิ้วพระบาททั้ง ๕ อีกด้วย อีกทั้งรูปสัญลักษณ์แทนชั้นพรหมโลกและเทวโลกบนรอยพระพุทธบาทที่วัดเชิงคีรี ก็มีลักษณะที่ต่างออกไป คือ มีการทำเป็นรูปอาคารที่มีมุขยื่นออกมา ๔ ด้าน ส่วนของหลังคามีลักษณะคล้ายหน้าจั่ว หรือกรอบซุ้มหน้าบัน ที่บางรูปมีการซ้อนชั้นของหลังคา และบางรูปไม่มีการซ้อนชั้น ต่างจากรอยพระพุทธบาทอีก ๓ รอย ที่เป็นรูปปราสาทซ้อนชั้น สำหรับลายลักษณ์ที่ปรากฏในรอยพุทธบาทแห่งนี้ มีสภาพเกือบสมบูรณ์
รอยพระพุทธบาทวัดเชิงคีรี สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างหลังรอยพระพุทธบาททั้ง ๓ รอยในจารึกหลักที่ ๓ (จารึกนครชุม) ซึ่งเป็นจารึกที่ทำขึ้นในสมัยพญาลิไท ที่โปรดเกล้าฯ ให้มีการจำลองรอยพระพุทธบาทจากเขาสุมนกูฏในลังกามาประดิษฐานไว้บนภูเขาในเมืองสำคัญ ๔ แห่ง ได้แก่ เขาสุมนกูฏ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย เขานางทอง ในเมืองบางพาน กำแพงเพชร และเขาปากพระบาง (ปัจจุบัน คือ เขากบ จังหวัดนครสวรรค์) เพราะทั้ง ๓ รอยไม่ปรากฏการประดับรูปหอยสังข์ที่นิ้วพระบาท และที่ปลายรอยพระพุทธบาทยังปรากฏจารึกระบุ พ.ศ. ๒๐๕๓ แต่เนื้อหาในจารึกก็มิได้บอกว่าสร้างขึ้นใน พ.ศ.นี้ จึงอาจเป็นไปได้ว่ารอยพระพุทธบาทที่วัดเชิงคีรี อาจสร้างขึ้นก่อน พ.ศ. ๒๐๕๓ ก็ได้
เอกสารอ้างอิง
ปัทมา เอกม่วง. “การเปรียบเทียบรูปแบบทางศิลปกรรมบนรอยพระพุทธบาท ที่วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา และที่วัดตระพังทอง จังหวัดสุโขทัย.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๙.
วิราภรณ์ สุวดีปฐมพงศ์. “ประเด็นใหม่ : ระบบการวางลายมงคลบนรอยพระพุทธบาทในประเทศไทย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๔.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๒.
สุธนา เกตุอร่าม. “การสร้างรอยพุทธบาทสมัยพญาลิไท.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิต ภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๓.
(จำนวนผู้เข้าชม 334 ครั้ง)