...

ตุ๊กตาสังคโลก ผลิตภัณฑ์สังคโลกเมืองศรีสัชนาลัย
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ขอเผยแพร่ องค์ความรู้ประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๖๖ เรื่อง "ตุ๊กตาสังคโลก : ผลิตภัณฑ์สังคโลกเมืองศรีสัชนาลัย"
     ราวพุทธศตวรรษที่ 19 การผลิตภาชนะดินเผาประเภทเครื่องเคลือบได้เกิดขึ้นแล้วที่เมืองศรีสัชนาลัย โดยมีพัฒนาการสืบทอดมาจากการผลิตเครื่องถ้วยเชลียงที่ผลิตขึ้นตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 17 บริเวณแหล่งเตาบ้านเกาะน้อย เมืองศรีสัชนาลัย
     ต้นพุทธศตวรรษที่ 20 สมัยราชวงศ์หมิงของจีน ได้มีการควบคุมการค้าอย่างเข้มงวด จึงลดปริมาณการส่งออกเครื่องปั้นดินเผาจีน ทำให้เครื่องสังคโลกจากแหล่งเตาเมืองศรีสัชนาลัยกลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ สามารถครองตลาดการค้าแทนประเทศจีนช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 20-21 โดยมีอยุธยาเป็นศูนย์กลางการค้าเพื่อการส่งออกไปยังดินแดนต่าง ๆ ซึ่งพบเครื่องสังคโลกจำนวนมากมายตามแหล่งเรืออับปางในอ่าวไทย เช่น แหล่งเรือคราม เรือพัทยา เรือประแสร์ เรือสัตหีบ เรือเกาะกระดาด โดยช่วงระยะเวลาดังกล่าว สังคโลกได้แพร่กระจายไปยังเมืองใหญ่ และเมืองท่าที่สำคัญในแหลมมลายู และพบกระจายไปสู่ดินแดนในเอเชียอาคเนย์ เช่น เมืองซานตา อานา (Santa Ana) , เมืองกาลาตากัน (Calatagan) ประเทศฟิลิปปินส์ และเมืองจัมบิ (Jambi) ประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น
    ความนิยมจากตลาดการค้าทำให้อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องสังคโลกเมืองศรีสัชนาลัย มีความเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด มีการพัฒนาทางเทคโนโลยี วิธีการผลิต และรูปทรงของผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย ซึ่งไม่จำกัดเพียงแค่ภาชนะใช้สอยเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการผลิตเพื่อตอบสนองการใช้งานประเภทอื่น ๆ เช่น ผลิตเพื่อเป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม และผลิตเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึง การผลิตตุ๊กตาสำหรับการละเล่น ซึ่งเป็นตุ๊กตาขนาดเล็กเป็นรูปบุคคลในกิริยาต่าง ๆ แต่เดิมเชื่อว่า เป็นตุ๊กตาเสียกบาลที่ใช้ในพิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ เนื่องจากส่วนหัวมักหักหายไป แต่จากการศึกษาทางโบราณคดีสันนิษฐานว่า เป็นของเล่น หรือตุ๊กตาของคนโบราณ ซึ่งเทคนิคการผลิต หรือลักษณะของตุ๊กตามีขนาดเล็ก และเปราะ จึงทำให้ส่วนคอแตกหักได้ง่าย  
    ลักษณะโดยทั่วไปของตุ๊กตาสังคโลกที่พบ จะทำด้วยดินเผาเคลือบสีเขียว และสีน้ำตาล มีทั้งรูปผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก และรูปสัตว์นานาชนิด โดยตุ๊กตาถ้าเป็นรูปผู้หญิงจะไว้ผมมวยค่อนไปเบื้องหลัง ไม่ใส่เสื้อ หรือห่มผ้า อยู่ในท่าทางนั่งพับเพียบ หรือนั่งชันเข่าข้างหนึ่ง และอยู่ในกิริยาต่าง ๆ เช่น ตุ๊กตาแม่อุ้มลูกที่กำลังนอนกินนมบนตัก หรือลูกกำลังยืนกินนม ส่วนตุ๊กตารูปผู้ชายจะเกล้าผมไว้บนหัว อยู่ในกิริยาหลากหลายรูปแบบ เช่น นั่งถือขลุ่ย นั่งอุ้มไก่ ส่วนตุ๊กตารูปสัตว์ที่พบเช่น ตุ๊กตารูปวัว ควาย และไก่ เป็นต้น ทั้งนี้ ตุ๊กตาเหล่านี้เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต และขนบธรรมเนียมของผู้คนในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี
เอกสารอ้างอิง
ปริวรรต ธรรมาปรีชากร. เอกสารประกอบการอบรมเชิงปฏิบัติการ เครื่องปั้นดินเผาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พัฒนาการ แรงบันดาลใจ และการตรวจพิสูจน์. ม.ป.ท. ๒๕๕๘.

(จำนวนผู้เข้าชม 237 ครั้ง)