ตามรอยรัชกาลที่ ๙ เสด็จฯ เมืองศรีสัชนาลัย
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ขอเผยแพร่ องค์ความรู้ประจำเดือนธันวาคม ๒๕๖๖ เรื่อง "ตามรอยรัชกาลที่ ๙ เสด็จฯ เมืองศรีสัชนาลัย”
ตลอดช่วงระยะเวลาแห่งการครองราชย์ ๖๐ ปี ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการด้วยพระวิริยอุตสาหะ พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในทุกพื้นที่ที่ทุรกันดารและทุกพื้นที่ที่ห่างไกล ในอดีตเมืองศรีสัชนาลัยถือว่าเป็นเมืองที่อยู่ห่างไกลและเดินทางยากลำบาก แต่ความยากลำบากเหล่านี้มิได้เป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรของพระองค์ ทั้งนี้จึงได้รวบรวมพระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงเสด็จฯ เมืองศรีสัชนาลัย ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ถึง พ.ศ. ๒๕๑๕ เพื่อน้อมรำลึกและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการในการอนุรักษ์ ส่งเสริม สืบทอด และพัฒนามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของแผ่นดิน เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาประชาราษฎร
เสด็จพระราชดำเนินครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๐๑
วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จประพาสภาคเหนือทรงเยี่ยมประชาชนจังหวัดต่างๆ รวมทั้งจังหวัดสุโขทัย เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังเมืองศรีสัชนาลัยในเวลาบ่ายและได้เสด็จพระราชดำเนินโดยพระบาท เสด็จเข้าทอดพระเนตรวัดช้างล้อม วัดเจดีย์เจ็ดแถว วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เชลียง
เสด็จพระราชดำเนินครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๐๙
วันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๙พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมด้วยทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จในพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ถึงเวลาประมาณ ๑๑.๐๐ น. หลังประกอบพระราชพิธีแล้ว ได้เสด็จไปยังบ้านรับรองหน่วยศิลปากรที่ ๓ เมืองศรีสัชนาลัย ทอดพระเนตรรูปจำลองเมืองศรีสัชนาลัย และเสวยพระกระยาหารกลางวัน แล้วจึงได้เสด็จทอดพระเนตรโบราณสถาน วัดช้างล้อม วัดเจดีย์เจ็ดแถว วัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ วัดนางพญา หลักเมือง พระราชวัง และวัดสวนแก้วอุทยานน้อย โดยมีนายมะลิ โคกสันเทียะ หัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ ๓ กราบบังคมทูลถวายคำบรรยายสรุปการปรับปรุงขุดแต่งและบูรณะที่เมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งในครั้งนั้นได้มีพระราชกระแสรับสั่งกับเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรว่า
“โบราณสถานเมืองศรีสัชนาลัยนี้ เมื่อได้บูรณะเสร็จแล้วให้จัดการดูแลรักษาไว้ให้เป็นอย่างดี อย่าให้กลับชำรุดทรุดโทรมลงอีก โดยเฉพาะบริเวณพระราชวังที่ได้ขุดพบรากฐานนั้น ควรจะได้ขุดดูให้ทั่วถึง เพราะอาจพบจารึกหรือหลักฐานอันจะเป็นประโยชน์แก่ประวัติศาสตร์”
กระแสพระดำรัสนี้ได้เป็นการพระราชทานแนวทางการบริหารจัดการโบราณสถานและแนวทางการศึกษาทางวิชาการโบราณคดี ซึ่งกรมศิลปากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้น้อมนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินงานจวบจนประทั่งปัจจุบัน
เสด็จพระราชดำเนินครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๑๕
วันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมด้วย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๑๐) สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ทอดพระเนตรเมืองโบราณศรีสัชนาลัย ได้เสด็จทอดพระเนตรเขาพนมเพลิง เขาสุวรรณคีรี วัดช้างล้อม วัดเจดีย์เจ็ดแถว (ทอดพระเนตรภาพเขียนในสถูป) วัดนางพญา (ทอดพระเนตรวิหารและลวดลายปูนปั้น) วัดสวนแก้วอุทยานน้อย และวัดเจดีย์เจ็ดยอด (วัดเจดีย์เก้ายอด)
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. จดหมายเหตุการอนุรักษ์เมืองโบราณศรีสัชนาลัย. กรุงเทพฯ: กองโบราณคดี กรมศิลปากร, ๒๕๓๓.
สมาคมนักโบราณคดี. ๑๑๑ ปี โบราณคดีสโมสร. กรุงเทพฯ: สมาคมนักโบราณคดี, ๒๕๖๑.
สำนักงานจังหวัดสุโขทัย. สุโขทัยใต้ร่มพระบารมี. (ม.ป.ท., ๒๕๔๕.).
ตลอดช่วงระยะเวลาแห่งการครองราชย์ ๖๐ ปี ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการด้วยพระวิริยอุตสาหะ พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในทุกพื้นที่ที่ทุรกันดารและทุกพื้นที่ที่ห่างไกล ในอดีตเมืองศรีสัชนาลัยถือว่าเป็นเมืองที่อยู่ห่างไกลและเดินทางยากลำบาก แต่ความยากลำบากเหล่านี้มิได้เป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรของพระองค์ ทั้งนี้จึงได้รวบรวมพระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงเสด็จฯ เมืองศรีสัชนาลัย ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ถึง พ.ศ. ๒๕๑๕ เพื่อน้อมรำลึกและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการในการอนุรักษ์ ส่งเสริม สืบทอด และพัฒนามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของแผ่นดิน เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาประชาราษฎร
เสด็จพระราชดำเนินครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๐๑
วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จประพาสภาคเหนือทรงเยี่ยมประชาชนจังหวัดต่างๆ รวมทั้งจังหวัดสุโขทัย เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังเมืองศรีสัชนาลัยในเวลาบ่ายและได้เสด็จพระราชดำเนินโดยพระบาท เสด็จเข้าทอดพระเนตรวัดช้างล้อม วัดเจดีย์เจ็ดแถว วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เชลียง
เสด็จพระราชดำเนินครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๐๙
วันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๙พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมด้วยทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จในพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ถึงเวลาประมาณ ๑๑.๐๐ น. หลังประกอบพระราชพิธีแล้ว ได้เสด็จไปยังบ้านรับรองหน่วยศิลปากรที่ ๓ เมืองศรีสัชนาลัย ทอดพระเนตรรูปจำลองเมืองศรีสัชนาลัย และเสวยพระกระยาหารกลางวัน แล้วจึงได้เสด็จทอดพระเนตรโบราณสถาน วัดช้างล้อม วัดเจดีย์เจ็ดแถว วัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ วัดนางพญา หลักเมือง พระราชวัง และวัดสวนแก้วอุทยานน้อย โดยมีนายมะลิ โคกสันเทียะ หัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ ๓ กราบบังคมทูลถวายคำบรรยายสรุปการปรับปรุงขุดแต่งและบูรณะที่เมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งในครั้งนั้นได้มีพระราชกระแสรับสั่งกับเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรว่า
“โบราณสถานเมืองศรีสัชนาลัยนี้ เมื่อได้บูรณะเสร็จแล้วให้จัดการดูแลรักษาไว้ให้เป็นอย่างดี อย่าให้กลับชำรุดทรุดโทรมลงอีก โดยเฉพาะบริเวณพระราชวังที่ได้ขุดพบรากฐานนั้น ควรจะได้ขุดดูให้ทั่วถึง เพราะอาจพบจารึกหรือหลักฐานอันจะเป็นประโยชน์แก่ประวัติศาสตร์”
กระแสพระดำรัสนี้ได้เป็นการพระราชทานแนวทางการบริหารจัดการโบราณสถานและแนวทางการศึกษาทางวิชาการโบราณคดี ซึ่งกรมศิลปากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้น้อมนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินงานจวบจนประทั่งปัจจุบัน
เสด็จพระราชดำเนินครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๑๕
วันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมด้วย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๑๐) สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ทอดพระเนตรเมืองโบราณศรีสัชนาลัย ได้เสด็จทอดพระเนตรเขาพนมเพลิง เขาสุวรรณคีรี วัดช้างล้อม วัดเจดีย์เจ็ดแถว (ทอดพระเนตรภาพเขียนในสถูป) วัดนางพญา (ทอดพระเนตรวิหารและลวดลายปูนปั้น) วัดสวนแก้วอุทยานน้อย และวัดเจดีย์เจ็ดยอด (วัดเจดีย์เก้ายอด)
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. จดหมายเหตุการอนุรักษ์เมืองโบราณศรีสัชนาลัย. กรุงเทพฯ: กองโบราณคดี กรมศิลปากร, ๒๕๓๓.
สมาคมนักโบราณคดี. ๑๑๑ ปี โบราณคดีสโมสร. กรุงเทพฯ: สมาคมนักโบราณคดี, ๒๕๖๑.
สำนักงานจังหวัดสุโขทัย. สุโขทัยใต้ร่มพระบารมี. (ม.ป.ท., ๒๕๔๕.).
(จำนวนผู้เข้าชม 395 ครั้ง)