พรรณพฤกษา
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ขอเผยแพร่ องค์ความรู้ประจำเดือนมีนาคม ๒๕๖๗ เรื่อง "พรรณพฤกษา ลวดลายปูนปั้นประดับสถาปัตยกรรมเมืองศรีสัชนาลัย "
เมืองศรีสัชนาลัยพบการประดับตกแต่งโบราณสถานด้วยปูนปั้น เป็นลวดลายต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก โดยหนึ่งในลวดลายที่พบ คือ ลวดลายพรรณพฤกษา ดังปรากฏหลักฐานที่วัดนางพญา บริเวณผนังวิหารด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ และวัดยายตา บริเวณผนังมณฑปประธานด้านหน้าและด้านหลัง
หลักฐานทางโบราณคดีทำให้เราทราบว่า วัดนางพญาคงจะถูกสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น โดยพิจารณาจากองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์ประธาน วิหาร แผนผัง และลวดลายปูนปั้นที่มีการผสมผสานระหว่างศิลปะอยุธยา ศิลปะล้านนา และศิลปะจีน นอกจากนี้ พบว่า ลวดลายพรรณพฤกษาที่วัดยายตา มีความคล้ายคลึงกับลวดลายปูนปั้นวัดนางพญาเป็นอย่างมาก สันนิษฐานว่า ลวดลายปูนปั้นทั้ง ๒ วัดนี้ อาจจะถูกสร้างขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันก็เป็นได้
ลวดลายพรรณพฤกษามีลักษณะเป็นเถาไม้เลื้อยที่มีกิ่งก้านแตกแยกแขนงกันออกไป ตามแนวของก้านเถาจะออกลายส่วนใหญ่เป็นใบไม้ ในบางเถาจะมีลายดอกไม้ประกอบอยู่ส่วนปลาย ซึ่งดอกไม้ และใบไม้ที่ปรากฏอยู่ในลวดลายพรรณพฤกษาจะมีลักษณะใกล้เคียงกับธรรมชาติ มีหลายรูปแบบ และมีความคล้ายคลึงกับลวดลายที่เขียนประดับบนเครื่องถ้วยจีน โดยเฉพาะในเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๒ ซึ่งความนิยมลวดลายในวัฒนธรรมจีนมีอยู่มากในศิลปะล้านนา
การประดับปูนปั้นลวดลายพรรณพฤกษา ทำให้เราเห็นอิทธิพลศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาที่เข้ามาสร้างแรงบันดาลใจให้กับช่างสมัยสุโขทัยอยู่ไม่น้อย นอกจากนี้ หลักฐานที่ปรากฏยังสอดคล้องกับช่วงเวลาที่ระบุในพงศาวดารว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จยกทัพมายังเมืองเชียงชื่น (ศรีสัชนาลัย) เพื่อชิงเมืองคืนจากพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา
บรรณานุกรม
ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. โบราณสถานกับความเข้าใจด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ. กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, ๒๕๖๑.
สันติ เล็กสุขม. ความสัมพันธ์ จีน – ไทย โยงใยในลวดลายประดับ. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๕๐.
สุรพล ดำริห์กุล. ลายคำล้านนา. กรุงเทพฯ : ด่านสุทธาการพิมพ์, ๒๕๔๔.
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย. รายงานการตรวจสอบสภาพโบราณสถานในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ประจำปี ๒๕๕๘. อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย, ๒๕๕๘.
เมืองศรีสัชนาลัยพบการประดับตกแต่งโบราณสถานด้วยปูนปั้น เป็นลวดลายต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก โดยหนึ่งในลวดลายที่พบ คือ ลวดลายพรรณพฤกษา ดังปรากฏหลักฐานที่วัดนางพญา บริเวณผนังวิหารด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ และวัดยายตา บริเวณผนังมณฑปประธานด้านหน้าและด้านหลัง
หลักฐานทางโบราณคดีทำให้เราทราบว่า วัดนางพญาคงจะถูกสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น โดยพิจารณาจากองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์ประธาน วิหาร แผนผัง และลวดลายปูนปั้นที่มีการผสมผสานระหว่างศิลปะอยุธยา ศิลปะล้านนา และศิลปะจีน นอกจากนี้ พบว่า ลวดลายพรรณพฤกษาที่วัดยายตา มีความคล้ายคลึงกับลวดลายปูนปั้นวัดนางพญาเป็นอย่างมาก สันนิษฐานว่า ลวดลายปูนปั้นทั้ง ๒ วัดนี้ อาจจะถูกสร้างขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันก็เป็นได้
ลวดลายพรรณพฤกษามีลักษณะเป็นเถาไม้เลื้อยที่มีกิ่งก้านแตกแยกแขนงกันออกไป ตามแนวของก้านเถาจะออกลายส่วนใหญ่เป็นใบไม้ ในบางเถาจะมีลายดอกไม้ประกอบอยู่ส่วนปลาย ซึ่งดอกไม้ และใบไม้ที่ปรากฏอยู่ในลวดลายพรรณพฤกษาจะมีลักษณะใกล้เคียงกับธรรมชาติ มีหลายรูปแบบ และมีความคล้ายคลึงกับลวดลายที่เขียนประดับบนเครื่องถ้วยจีน โดยเฉพาะในเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๒ ซึ่งความนิยมลวดลายในวัฒนธรรมจีนมีอยู่มากในศิลปะล้านนา
การประดับปูนปั้นลวดลายพรรณพฤกษา ทำให้เราเห็นอิทธิพลศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาที่เข้ามาสร้างแรงบันดาลใจให้กับช่างสมัยสุโขทัยอยู่ไม่น้อย นอกจากนี้ หลักฐานที่ปรากฏยังสอดคล้องกับช่วงเวลาที่ระบุในพงศาวดารว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จยกทัพมายังเมืองเชียงชื่น (ศรีสัชนาลัย) เพื่อชิงเมืองคืนจากพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา
บรรณานุกรม
ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. โบราณสถานกับความเข้าใจด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ. กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, ๒๕๖๑.
สันติ เล็กสุขม. ความสัมพันธ์ จีน – ไทย โยงใยในลวดลายประดับ. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๕๐.
สุรพล ดำริห์กุล. ลายคำล้านนา. กรุงเทพฯ : ด่านสุทธาการพิมพ์, ๒๕๔๔.
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย. รายงานการตรวจสอบสภาพโบราณสถานในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ประจำปี ๒๕๕๘. อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย, ๒๕๕๘.
(จำนวนผู้เข้าชม 715 ครั้ง)