...

อมลกะ
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ขอเผยแพร่ องค์ความรู้ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ เรื่อง "อมลกะ สัญลักษณ์แห่งการกำเนิดอันบริสุทธิ์และความเป็นอมตะ"
     อมลกะ (Amalaka) คือ ส่วนยอดของปราสาทในศิลปะอินเดียและศิลปะขอม ลักษณะกลมแป้นเป็นลอนโดยรอบ อมลกะประกอบเข้ากับกลศใช้เป็นชุดยอดบนสุดของปราสาทเพื่อรองรับนภศูล ซึ่งคำว่า “อมลกะ” (อะ-มะ-ละ-กะ) มาจากคำว่า “อมลกิ” ในภาษาสันสกฤตที่แปลว่า “ลูกมะขามป้อม” เป็นผลไม้ที่ถูกนำมาแทน “เมล็ด” แห่งการสร้างจักรวาลตามคติอินเดีย การนำมาใช้ประดับปราสาทย่อมแสดงว่าเทพเจ้าผู้ประทับในปราสาทนั้นๆ เป็นพระผู้สร้างผู้ยิ่งใหญ่ โดยในคติความเชื่อของฮินดู อมลกะเป็นสัญลักษณ์แห่งการกำเนิดอันบริสุทธิ์และความเป็นอมตะ
     อมลกะยังมีความสอดคล้องกับส่วนยอดสุดของอิฐโปร่ง ๓ ก้อน (สวยมาตฤณณา) ที่จัดวางไว้ตามชั้นต่างๆ ของแท่นบูชาในยุคพระเวท เพื่อแสดงถึงโลกทั้งสามคือ โลกมนุษย์ ชั้นบรรยากาศ และสวรรค์ เนื่องจากอมลกะตั้งอยู่บนยอดวิหารจึงเป็นเครื่องแสดงถึงโลกสวรรค์ นอกจากนี้อมลกะยังเป็นชื่อของต้นไม้ที่ออกผลเป็นรูปคล้ายวงหินฟันเฟืองของวิหาร และในนิยายปรัมปราของฮินดู อมลกะคือต้นไม้ดึกดำบรรพ์ที่เติบโตขึ้นเป็นต้นแรกของโลก และเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าทั้งสามในตรีมูรติ คือ พระวิษณุประทับนั่งอยู่ที่โคนต้น  พระพรหมประทับเหนือขึ้นไป และพระศิวะประทับอยู่ในระดับสูงกว่านั้น เทวดาทั้งหลายเป็นใบไม้ ดอกไม้ และผล ส่วนพระอาทิตย์ก็ทรงพักพิงอยู่ที่กิ่งก้านสาขา  
     อมลกะ เป็นองค์ประกอบที่มีอยู่ทั่วไปในพุทธศิลป์และใช้กันแพร่หลายในสถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนา  นอกจากยอดแล้ว อมลกะสามารถอยู่ที่เก็จมุม (เก็จกรรณะ) ของชั้นหลังคาได้ด้วย เนื่องจากเดิมบริเวณนี้เคยเป็นอาคารจำลองยอดอมลกะ ต่อมาเมื่อกลืนหายไปกับชั้นหลังคาจึงทำให้ชั้นหลังคามีอมลกะแทรกอยู่ อมลกะอาจเข้ามาผสมผสานกับยอดแบบอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้หลายกรณี เช่น เข้ามาผสมกับสถูปิกะ หรือเข้ามากลายเป็นดอกบัวยอดปราสาท ทั้งนี้ช่างในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้นำเอาเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของ อมลกะ คือ “ความเป็นริ้วมะเฟือง” มาใช้ในงานสถาปัตยกรรมด้วย
     เมืองศรีสัชนาลัยพบสถาปัตยกรรมที่มีการประดับส่วนยอดด้วยอมลกะ ได้แก่ เจดีย์รายหมายเลข ๑๓ ของวัดเจดีย์เจ็ดแถว ซึ่งส่วนบนของเจดีย์เป็นฐานบัวตั้งซ้อนขึ้นไป ๗ ชั้น จนถึงชั้นบัวคว่ำ-บัวหงาย และหยักมุมต่อเนื่องขึ้นมาจากส่วนกลางนั้นหยักสอบขึ้นสู่ยอด ประดับด้วยทรงคล้ายลูกฟักทอง (อมลกะ) ต่อยอดด้วยทรงถ้วยคว่ำที่ประดับด้วยแถวรูปกลีบบัวคว่ำ   และเจดีย์รายของวัดพรหมสี่หน้า โดยเจดีย์รายองค์นี้อยู่ด้านหลังมณฑปประธาน ก่อด้วยศิลาแลง สันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์ทรงวิมานที่มีหลังคาซ้อนชั้นลดหลั่นสูง ยอดประดับอมลกะ (ซึ่งพบตกอยู่ใกล้กับองค์เจดีย์) เช่นเดียวกับเจดีย์รายของวัดเจดีย์เจ็ดแถว
เอกสารอ้างอิง
เชษฐ์ ติงสัญชลี. ปราสาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๒๖.
สันติ เล็กสุขุม. เจดีย์สมัยสุโขทัย วัดเจดีย์เจ็ดแถว. นนทบุรี : สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, ๒๕๓๔.
สำนักโบราณคดี ศิลปากร. ศัพทานุกรมโบราณคดี. นครปฐม : รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗), ๒๕๕๐.
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย. รายงานการตรวจสอบสภาพโบราณสถานในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ประจำปี ๒๕๕๘. อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย, ๒๕๕๘.
เอเดรียน สนอดกราส. สัญลักษณ์แห่งพระสถูป. กรุงเทพฯ : ม.ป.ท. ๒๕๓๕.
อุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม. บัวยอดปราสาท. กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์กรมศิลปากร. สืบค้นจากhttps://www.finearts.go.th/promotion/view/๓๕๗๓๖. (เข้าถึงวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๖๗).

(จำนวนผู้เข้าชม 206 ครั้ง)


Messenger