วัดชมชื่น
วัดชมชื่น
อยู่นอกกำแพงเมืองศรีสัชนาลัย ห่างจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียงมาทางทิศตะวันตกมา ๔๐๐ เมตร ก่อนถึงวัดเจ้าจันทร์ โบราณสถานหันหน้าไปทางทิศตะวันออก องค์ประกอบหลักได้แก่
๑. เจดีย์ทรงกลมหรือเจดีย์ทรงระฆัง เป็นประธานของวัด ฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสก่อด้วยศิลาแลง ฐานเขียงชั้นล่างสุดมีซุ้มพระตรงกึ่งกลางทั้ง ๔ ด้านและบริเวณมุม คล้ายกับเจดีย์ของลังกาและล้านนา
๒. มณฑป อยู่ทางด้านหลังของวิหาร มีส่วนฐานติดกัน เป็นมณฑปทรงจั่วแหลม ด้านหน้ามีพระพุทธรูปปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่ภายในเต็มพื้นที่ สว่นด้านหลังของมณฑปทำเป็นซุ้มจระนำเคยมีพระพุทธรูปนาคปรกประดิษฐานอยู่ บริเวณหน้าบันของทางด้านหลังเป็นรูปสถาปัตยกรรมคล้ายกับซุ้มประตูที่มีส่วนยอดเป็นปรางค์ของเขมร บริเวณปั้นลมก็มีปูนปั้นประดับ
๓. วิหาร อยู่ทางด้านหน้าสุด เป็นวิหารโถง ขนาด ๖ ห้อง ฐานทำเป็นรูปบัวคว่ำ จากการขุดแต่งและบูรณะวิหารพบว่ามีฐานวิหารรูปบัวคว่ำซ้อนอยู่ภายในฐานวิหารที่เราเห็นในปัจจุบันอีกชั้นหนึ่ง แสดงว่าวิหารหลังนี้มีการสร้างซ้อนทับกัน ๒ ครั้ง
วัดนี้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของล้านนาคือลวดลายปูนปั้นบนมณฑป คือลายบัวคอเสื้อ ซึ่งยังสามารถเห็นร่องรอยได้อยู่
ดร.ฌ็อง บัวสเซอลีเย่สันนิษฐานว่าเจดีย์ประธานของวัดน่าจะสร้างครอบทับปราสาทศิลาแลง ซึ่งกลายเป็นห้องบรรจุพระธาตุไป
(จำนวนผู้เข้าชม 3936 ครั้ง)