...

หน้าบันสลักภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ


วัสดุ หินทราย

แบบศิลปะ ศิลปะเขมรในประเทศไทย แบบบาปวน

อายุสมัย ราวพุทธศตวรรษที่ 16

สถานที่พบ ได้จากปราสาทกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด

หน้าบัน คือ แผงปิดจั่วหลังคาทั้งหน้าและหลังของอาคาร ในศิลปะเขมรมีการตกแต่งสลักแผงดังกล่าวเป็นลวดลายหรือภาพเล่าเรื่อง ซึ่งลวดลายเหล่านี้มีวิวัฒนาการทางศิลปะ สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องกำหนดอายุได้ สำหรับหน้าบันชิ้นนี้คงเป็นชิ้นส่วนของหน้าบันชั้นวิมาน (ชั้นที่ซ้อนเหนือเรือนธาตุปราสาท)

หน้าบันแผ่นนี้สลักภาพพระอินทร์ประทับนั่งในท่ามหาราชลีลา (ชันเข่าขวา) เหนือช้างเอราวัณสามเศียร แวดล้อมด้วยลายก้านขดในผังสามเหลี่ยมคล้ายซุ้มเรือนแก้วรอบนอกมีลายใบไม้สามเหลี่ยม กรอบหน้าบันหยักโค้งบนกรอบสลักลายแถวดอกซีกดอกซ้อน ที่ปลายกรอบสลักเป็นรูปเศียรนาค

พระอินทร์ในศาสนาพราหมณ์สมัยโบราณเป็นเทพที่ได้รับการนับถือมาก ทรงเป็นเทพเจ้าแห่งการสงคราม และเทพเจ้าแห่งสายฝน เป็นกษัตริย์แห่งปวงเทพ โดยทั่วไปพระอินทร์ทรงถือวัชระ 6 แฉกอันเป็นสัญลักษณ์แห่งสายฟ้า แต่บางครั้งก็ทรงถือดอกบัวในพระหัตถ์ได้เช่นเดียวกัน พระองค์ทรงช้างเอราวัณ (ไอราวัต) เป็นพาหนะ ทรงมีพันเนตรและมีพระฉวีสีทอง ต่อมาภายหลังความสำคัญของพระองค์ได้คลายลงจนบางครั้งทรงมีฐานะเป็นเพียงเทพผู้รักษาทิศคือทิศตะวันออกเท่านั้น

(จำนวนผู้เข้าชม 2932 ครั้ง)


Messenger