วัสดุ ดินเผา
อายุสมัย สมัยก่อนประวัติศาสตร์ (ประมาณ 2,500 – 1,000 ปีมาแล้ว)
สถานที่พบ ได้จากการขุดค้นบ้านเมืองบัว อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด โดยสำนักงานศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานี เมื่อ 25 กรกฎาคม 2546
หม้อขนาดเล็ก ปากผายออกเล็กน้อย คอคอด ไหล่ลาด ลำตัวป่อง ก้นกลมมน เขียนสีแดงเป็นเส้นหยักที่ไหล่ ผิวสีนวล เคลือบน้ำดินสีแดง
ภาชนะอุทิศ เป็นภาชนะดินเผาที่ใช้ในการประกอบพิธีปลงศพให้กับคนตาย โดยอาจให้ผู้ตายนำติดตัวไปใช้ในโลกหลังความตาย หรือเป็นเพียงการมอบสิ่งของให้แก่ผู้ตายเพื่อไม่ให้ผู้ตายวนเวียนกลับมารบกวนแก่ผู้มีชีวิตอยู่ โดยภาชนะอุทิศจะกลบฝังไปพร้อมกับศพ
จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่แหล่งโบราณคดี บ้านเมืองบัว อ.เกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อปี 2545 ในชั้นวัฒนธรรมสมัยที่ 2 (ประมาณ 2,500 – 1,000 ปีมาแล้ว) ระยะที่ 1 ภาชนะอุทิศที่พบเป็นหม้อทรงกลม ปากโค้งออก ไหล่ลาดหรือโค้งเล็กน้อย ลำตัวป่องโค้งเป็นวงแคบ ก้นกลมหรือก้นแหลม รูปทรงคล้ายบาตรพระ ผิวสีนวล เนื้อดินในสีดำ พบร่วมกับการฝังศพแบบนอนเหยียดยาว เป็นสมัยที่เริ่มพบการฝังศพครั้งที่ 2 (Secondary burial) แบบที่ใส่และไม่ใส่ภาชนะ โดยภาชนะฝังศพในระยะนี้จะวางในแนวตั้ง ด้านบนปิดครอบด้วยภาชนะทรงอ่างที่ตกแต่งด้วยลายปั้นแปะเป็นเกลียวเชือกใกล้บริเวณขอบปาก
การตกแต่งภาชนะอุทิศแบบหนึ่งที่พบคือ บริเวณปากถึงคอภาชนะจะเขียนสีแดงทึบหรือเรียบไม่ตกแต่ง บริเวณไหล่เว้นช่องว่าง แล้วตกแต่งด้วยการเขียนสีเป็นเส้นตรงแนวนอนขนานกันโดยรอบ และคั่นด้วยเส้นเฉียงคล้ายเป็นลายสามเหลี่ยม ส่วนบริเวณลำตัวจนถึงก้นทาน้ำดินสีแดง
(จำนวนผู้เข้าชม 814 ครั้ง)