ประติมากรรมสตรี

วัสดุ หินทราย
แบบศิลปะ ศิลปะเขมรในประเทศไทย แบบนครวัด
อายุสมัย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 17
สถานที่พบ ได้จากการขุดแต่งด้านหน้าปราสาทประธานของกู่เมืองบัว บ้านเมืองบัว ตำบลเมืองบัว อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2548
ประติมากรรมสตรี ในอิริยาบถประทับยืน พระพาหาขนานพระวรกาย ทรงกรองศอและพาหุรัด ทรงผ้านุ่งยาวจีบเป็นริ้วในแนวตั้ง ขอบผ้านุ่งสลักลายแถวเม็ดประคำและลายกลีบดอกไม้ คาดเข็มขัดทับผ้านุ่ง เข็มขัดเป็นแถบสี่เหลี่ยมสลักลายเม็ดรี ขอบบนล่างของเข็มขัดสลักลายเม็ดประคำและเส้นขอบ ใต้เข็มขัดสลักอุบะโดยรอบ มีขอบผ้าพับทบเข็มขัดที่หน้าท้อง ชักชายผ้าคล้ายหางปลาห้อยลงที่ด้านหน้า
(จำนวนผู้เข้าชม 4092 ครั้ง)