๓ วังบนถนนหน้าพระลาน
๓ วังบนถนนหน้าพระลาน
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานีใหม่ เมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๕ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นเป็นที่ประทับและที่ว่าราชการโดยมีวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นพระอารามหลวงประจำพระราชวัง อาณาบริเวณโดยรอบพระบรมมหาราชวัง นับได้ว่าเป็นพื้นที่สำคัญและเป็นศูนย์ราชการในมหานครแห่งใหม่ บริเวณพื้นที่ด้านทิศเหนือของพระบรมมหาราชวังที่เรียกกันว่าหน้าพระลาน ต่อเนื่องกับบริเวณท้องสนามหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังขึ้นหลายวัง พระราชทานแด่พระเจ้าลูกเธอและพระเจ้าหลานเธอหลายพระองค์ ซึ่งล้วนทรงมีบทบาทสำคัญต่องานราชการในเวลานั้น โดยมีเจ้านายซึ่งเป็นพระบรมวงศ์ชั้นสูงทรงครองวังและประทับสืบต่อมาหลายพระองค์ถึงชั้นประยูรญาติ วังที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าพระลาน ๓ วัง มักเรียกกันโดยรวมว่า วังถนนหน้าพระลาน แบ่งได้ตามชื่ออันเป็นที่เรียกขานหรือรู้จักกันในระยะต่อมาว่า วังท่าพระ (หรือวังหน้าพระลานตะวันตก) วังกลาง และวังตะวันออก
เป็นที่น่าสังเกตว่าเจ้านายผู้ทรงครองวังหลายพระองค์มีพระอัจฉริยภาพและทรงงาน ด้านการช่างและงานศิลปกรรมแขนงต่าง ๆ ตราบจนในสมัยต่อมาวังทั้งสามเปลี่ยนบทบาทเป็นหน่วยงานราชการ แต่ก็ยังคงสืบทอดความเป็นสถานที่สำคัญทางการศึกษาศิลปวัฒนธรรมของชาติ กล่าวคือ วังตะวันตกใช้เป็นสถาบันการศึกษาด้านศิลปะ คือ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังกลาง และวังตะวันออก คือ ที่ตั้งของกรมศิลปากรในปัจจุบัน
วังตะวันตก
วังตะวันตกตั้งอยู่ริมถนนหน้าพระลานทางด้านทิศตะวันตก ใกล้ประตูท่าพระ (เดิมเรียก ท่าช้าง (วังหลวง) เกิดขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ได้อัญเชิญพระศรีศากยมุนี พระพุทธรูปขนาดใหญ่จากวัดมหาธาตุ สุโขทัย มาประดิษฐานที่วัดสุทัศเทพวราราม โดยอัญเชิญขึ้นที่ท่าน้ำแห่งนี้ จึงเรียกบริเวณนี้ว่า “ท่าพระ”ดังนั้นวังนี้จึงมีชื่อเรียกอีก “วังท่าพระ”ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานแด่สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนกษัตรานุชิต พระราชนัดดา เป็นที่ประทับจนสิ้นพระชนม์ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยพระราชทานให้เป็นที่ประทับของพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ครั้นเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้เป็นที่ประทับของพระราชโอรส ๓ พระองค์ และได้ประทับต่อมาจนสิ้นพระชนม์ตามลำดับ คือ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ กรมขุนราชสีหวิกรม และกรมหมื่นอดุลยลักษณสมบัติ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงได้พระราชทานวังท่าพระให้เป็นที่ประทับของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และเป็นเจ้านายพระองค์สุดท้ายที่ได้ประทับ ณ วังแห่งนี้ ปัจจุบันวังท่าพระเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยศิลปากร
วังกลาง
วังกลางตั้งอยู่ริมถนนหน้าพระลาน ต่อกับวังท่าพระมาทางด้านทิศตะวันออก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังนี้พระราชทาน กรมหมื่นศักดิพลเสพ พระราชโอรส ซึ่งประทับอยู่จนถึงพุทธศักราช ๒๓๖๗ ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ ได้ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จไปประทับที่พระราชวังบวรสถานมงคล วังกลางจึงว่างลงช่วงหนึ่งก่อนที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าอาภรณ์ พระราชโอรสรัชกาลที่ ๒ ถึงคราวเสด็จออกวัง จึงพระราชทานวังนี้ให้เป็นที่ประทับ จนถึงพุทธศักราช ๒๓๘๐ วังตะวันออกว่างลง จึงทรงย้ายมาประทับที่วังตะวันออกแทน ส่วนวังกลาง รัชกาลที่ ๓ ได้พระราชทานให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ พระอนุชาร่วมพระชนนีกับสมเด็จฯ เจ้าฟ้าอาภรณ์ประทับจนถึงพุทธศักราช ๒๓๙๑ เมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้าอาภรณ์สิ้นพระชนม์ รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้รวมวังกลางกับวังตะวันออกเป็นวังเดียวกัน โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เป็นที่ประทับของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ สืบมาจนถึงพุทธศักราช ๒๔๒๙ จึงสิ้นพระชนม์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ พระโอรสผู้รับผิดชอบงานด้านกรมพระคชบาล และกรมช่างสิบหมู่ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ประทับอยู่มาจนตลอดพระชนมายุ หลังจากนั้นวังนี้ได้เปลี่ยนแปลงเป็นหน่วยงานด้านช่างสิบหมู่ สังกัดกรมศิลปากร และยังคงใช้เป็นสถานทำงานส่วนต่างๆ ของกรมศิลปากรสืบมาจนถึงปัจจุบัน
วังตะวันออก
วังตะวันออกตั้งอยู่ริมถนนหน้าพระลาน ต่อกับวังกลางมาทางด้านทิศตะวันออก จนถึงมุมถนนหน้าพระธาตุตรงประตูวิเศษไชยศรี ทางเข้าพระบรมมหาราชวัง ดังนั้นวังนี้จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า วังหน้าประตูวิเศษไชยศรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้สร้างพระราชทานเป็นที่ประทับของกรมหมื่นเทพพลภักดิ์ พระราชโอรสประทับอยู่จนตลอดพระชนมายุ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าอาภรณ์ประทับอยู่ต่อมา ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าอาภรณ์ รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้ผนวกวังตะวันออกเข้ากับวังกลางเป็นที่ประทับของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ตราบจนสิ้นพระชนม์ในปีพุทธศักราช ๒๔๒๙ พระโอรสของพระองค์คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ ได้ครองวังต่อมาจนสิ้นพระชนม์ในพุทธศักราช ๒๔๔๑ เป็นเจ้านายพระองค์สุดท้ายที่ครองวัง
ที่มาของข้อมูล : หนังสือเปิดบ้านศิลปากร (กรมศิลปากร จัดพิมพ์เผยแพร่ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๕)
(จำนวนผู้เข้าชม 8167 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน