โบราณคดีที่ทรงรักทรงรักษา
โบราณคดีที่ทรงรักทรงรักษา
 
“...ในการปฏิบัติราชการตามหน้าที่ เรามักจะต้องเดินทางมาก ต้องเข้าไปในภูมิประเทศที่มีลักษณะต่างๆ กัน ลักษณะภูมิประเทศแปลกๆ เหล่านี้ นอกจากมีความสวยงามแล้วยังเป็นเครื่องกำหนดความเป็นอยู่ของมนุษย์ไม่มากก็น้อย สถานที่ส่วนใหญ่ที่เราเยี่ยมเยียนมักจะเป็นชุมชนใหญ่น้อย ที่อยู่อาศัยของคนมากหน้าหลายตาที่มีวิถีชีวิต ถือประเพณี ประกอบการงานอาชีพต่างกัน สถานที่เหล่านี้บ้างก็เป็นชุมชนที่เกิดขึ้นใหม่ แต่เรามักจะพบบ่อยๆ ว่า บริเวณที่ตั้งชุมชนในปัจจุบันนี้เคยมีมนุษย์มาตั้งหลักแหล่ง ทำมาหาเลี้ยงชีพ สร้างสรรค์วัฒนธรรมสืบทอดกันมาแต่อดีตอันยาวนาน บางครั้งเราอาจอดเสียมิได้ที่จะนึกย้อนกลับไปว่า แต่ก่อนสถานที่ที่เรากำลังยืนอยู่ เป็นทางดำเนินชีวิตของบรรพชน ไม่รู้จักเท่าไรที่ผ่านความสุข ความทุกข์ นานาประการ ได้มาและสูญเสียสิ่งต่างๆ จนผืนแผ่นดินนี้เป็นแผ่นดินไทย ที่เป็นของเรา ที่เราจะต้องถนอมรักษาไว้ให้อยู่ต่อไปอย่างดี...”๑
 
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงสนพระราชหฤทัยในประวัติศาสตร์โบราณคดีนับแต่ทรงพระเยาว์ ทรงเล่าถึงกิจกรรมสำคัญที่ต้องพระราชหฤทัยอย่างหนึ่ง คือ การศึกษาโบราณคดี หรือประวัติศาสตร์ ในครั้งนั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเชิญศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ  ดิศกุล เพื่อถวายคำบรรยายในเรื่องโบราณคดี และนำเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ    เมื่อทรงเจริญพระชันษา ทรงเลือกสาขาวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาเอกในการศึกษาปริญญาตรี ที่คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทรงศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาวิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร 
 
          วิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโท เรื่อง จารึกปราสาทพนมรุ้ง นับเป็นพระราชนิพนธ์ที่ทรงคุณค่าในทางวิชาการ ไม่เฉพาะเพียงเรื่องราวศิราจารึกที่เป็นภาษาตะวันออกเท่านั้น หากยังเกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางโบราณคดีของโบราณสถานปราสาทพนมรุ้งด้วย
 
          ความสนพระราชหฤทัยใฝ่รู้และทรงศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมด้วยพระองค์เอง เมื่อทรงมีโอกาสนำสรรพวิทยา  ที่ทรงเรียนรู้มาถ่ายทอด ทำให้เมื่อทรงตกลงพระราชหฤทัยในการรับราชการที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าเมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๓  เป็นต้นมา จึงทรงเลือกสอนวิชาประวัติศาสตร์ และอารยธรรมไทยให้แก่นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เพื่อปลูกฝังความรัก ความภาคภูมิในประวัติความเป็นมาของชาติและบรรพชนไทย
 
          นอกจากพระองค์จะทรงสอนในห้องเรียนแล้ว ยังทรงมีพระราชดำริว่า การศึกษาด้วยการฟังบรรยาย การอ่านหนังสือ หรือศึกษาจากสไลด์ภาพนิ่ง หรือสื่ออื่นใดนั้นไม่สามารถให้ภาพที่แท้จริงได้ จึงทรงจัดกิจกรรมทัศนศึกษาประกอบในการสอนทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงนำคณาจารย์และนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าไปทัศนศึกษาพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย ในแต่ละครั้งทรงนำนักเรียนของพระองค์ไปยังสถานที่สำคัญทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ รวมถึงสถานที่สำคัญด้านอื่นๆ เช่น การทหาร การเกษตร ฯลฯ ดังที่ได้พระราชทาน สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๗ ความตอนหนึ่งว่า 
 
“...การบรรยายถ่ายทอดความรู้ของอาจารย์ให้นักเรียน การเปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมออกความคิดเห็น การให้นักเรียนอ่านหนังสือ การค้นคว้าในห้องสมุด การไปศึกษาค้นคว้าต่อในสถาบันที่มีข้อมูล เช่น หอจดหมายเหตุ หรือการออกไปสัมภาษณ์ การออกไปสังเกตการณ์ ออกไปเห็นอะไรๆ ให้กว้างขวาง และรู้จักโยงวิชาการต่างๆ  ที่ได้เรียนรู้มาเข้าด้วยกัน ประวัติศาสตร์ คือ ศาสตร์ที่ว่าด้วยความเป็นมา ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเรื่องอดีตที่ห่างไกลอย่างเดียว ความเป็นมาทุกๆ นาทีที่เปลี่ยนไปก็ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ โดยคิดอย่างกว้างที่สุด การสอนแต่เรื่องโบราณอาจเป็นประโยชน์แก่นักเรียนน้อยเกินไป ประวัติศาสตร์แบ่งได้เป็นหลายสาขา แต่ต้องโยงเข้าหากันให้ได้ เพราะว่าเป็นปัจจัยของชีวิตด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นความเป็นอยู่ วัฒนธรรม ประเพณี หรือว่าเทคโนโลยี การใช้วิธีสอนให้ออกไปศึกษานอกห้องเรียนหรือทัศนศึกษาเป็นครั้งคราว เพื่อให้ดูทุกอย่าง และฝึกตัดสินว่าตนเองเห็นว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ดีหรือไม่ดีอย่างไร การดูงานหรือทัศนศึกษาช่วยให้เห็นหลายสิ่งหลายอย่าง ได้พบปะผู้คนที่แปลกออกไปกว่าคนที่เคยพบเห็นอยู่เป็นประจำ ได้มีโอกาสพูดคุยกับคนฐานะต่างๆ มีลักษณะนิสัยต่างกัน มาจากสิ่งแวดล้อมต่างกัน แล้วฝึกการวิจัย การเรียนรู้นอกห้อง...การจัดแต่ละครั้งต้องการให้นักเรียนได้รับความรู้ทั่วไปทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม ความมั่นคงและการทหาร วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม เรื่องอาชีพราษฎรเป็นเรื่องที่เน้นมากตลอดเวลา...”๒
 
          ในการเสด็จพระราชดำเนินแต่ละครั้ง ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการ นักโบราณคดีผู้ปฏิบัติงานของกรมศิลปากรเป็นวิทยากรนำชม รวมทั้งพระราชทานแนวพระราชดำริในการจัดพิมพ์เอกสารประกอบการทัศนศึกษาในแต่ละครั้ง โดยทรงพระราชนิพนธ์ คำนำ และทรงเป็นบรรณาธิการในการจัดพิมพ์เอกสารนั้นด้วยพระองค์เอง  ทรงสนพระราชหฤทัยอย่างจริงจังในงานโบราณคดี และการอนุรักษ์โบราณสถาน             
 
          แนวพระราชดำริที่พระราชทานแก่กรมศิลปากรในการเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรแหล่งโบราณคดี และโบราณสถาน ถือเป็นแนวทางในการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งโบราณคดี โบราณสถานอย่างยั่งยืน ซึ่งกรมศิลปากรได้ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติสืบต่อมา ดังปรากฏในกรณีต่างๆ ได้แก่แนวพระราชดำริเมื่อเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรแหล่งต้นน้ำเมืองสุโขทัย (โซกพระร่วงลองพระขรรค์ และโซกอื่นๆ เมื่อวันที่ ๑๙ -  ๒๐ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๓๔)
 
          ในครั้งนั้นพระราชทานพระราชานุญาตให้คณะข้าราชการกรมศิลปากร ประกอบด้วย รองอธิบดีกรมศิลปากร (นายนิคม  มูสิกะคามะ) ผู้อำนวยการกองโบราณคดี (นายประโชติ  สังขนุกิจ) หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย (นางสาวมณีรัตน์  ท้วมเจริญ)  หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย (นายเอนก  สีหามาตย์) ฯลฯ เข้าเฝ้าเป็นกรณีพิเศษ เพื่อรับพระราชทานกระแสพระราชดำริเกี่ยวกับการจัดทำกำหนดการนำนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าไปทัศนศึกษา และแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการอนุรักษ์โบราณสถานและการจัดการโบราณวัตถุ ซึ่งมีสาระโดยสังเขป ดังนี้
 
·    การบรรยายและนำชมวิทยากรผู้บรรยายมักจะอธิบายรายละเอียดลึกเกินไป มีคำศัพท์เฉพาะต่างๆ ซึ่งทรงเข้าใจ เพราะทรงมีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ เนื่องจากทรงสนพระราชฤทัย และเคยเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโบราณสถาน และพิพิธภัณฑ์ต่างๆ โดยมีผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้กราบบังคมทูลอธิบายให้ทราบแต่เมื่อครั้งทรงพระเยาว์  แต่นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าไม่มีความรู้พื้นฐานด้านนี้ จึงควรใช้ภาษาง่ายๆ ในการบรรยาย ไม่ควรใช้ศัพท์ทางวิชาการมาก หากใช้ก็ควรอธิบายความหมายให้ชัดเจน
 
·     การอนุรักษ์โบราณสถานและการจัดการโบราณวัตถุ กรมศิลปากรควรสร้างคลังพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่เพื่อจัดเก็บของให้เป็นระบบ สามารถใช้เป็นสถานที่ศึกษาเปรียบเทียบโบราณวัตถุ ได้ทรงมีพระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการขายโบราณวัตถุว่าเป็นสิ่งไม่ควรทำ ถ้าจะขายก็ควรทำเทียมขึ้นมาขายน่าจะดีกว่า
 
              เกี่ยวกับการอนุรักษ์โบราณสถาน พระราชทานแนวพระราชดำริว่า การที่กรมศิลปากรมีบุคลากรปฏิบัติงานด้านการอนุรักษ์โบราณสถานไม่เพียงพอ ควรที่จะเปิดหลักสูตรวิชาเฉพาะเพื่อการอนุรักษ์โบราณสถานในสถาบันการศึกษาที่อยู่ในการดูแลของกรม เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะทางเข้ามาสนับสนุนการปฏิบัติงาน และลดปัญหาการว่างงาน
 
การอนุรักษ์หลักฐานทางโบราณคดีในบริเวณหลุมขุดค้นวัดชมชื่น อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
 
          เมื่อคราวที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพื้นที่ขุดค้นวัดชมชื่น เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๓๗ และทรงถามถึงการอนุรักษ์หลักฐานทางโบราณคดีในบริเวณหลุมขุดค้นนั้น กรมศิลปากรได้น้อมนำพระราชดำริในการอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีดังกล่าว ด้วยการจัดให้พื้นที่หลุมขุดค้นวัดชมชื่นเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี โดยสร้างหลังคาคลุมหลุมขุดค้น จัดแสดงข้อมูลพร้อมภาพเกี่ยวกับหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ และการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบแหล่ง ส่งผลให้แหล่งขุดค้นวัดชมชื่นได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของประเทศไทยที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งในเวลาต่อมา
 
          จากแนวพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อันทรงคุณประโยชน์ต่อ การดำเนินงานด้านโบราณคดีและการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ ดังที่กล่าวมา นับเป็นพระกรุณาธิคุณ ที่ทรงมีต่อกรมศิลปากร สะท้อนถึงพระราชหฤทัยที่ทรงรักและทรงรักษามรดกทางวัฒนธรรมของไทยให้คงอยู่ยั่งยืนสืบไป
 
 
ที่มาข้อมูล : หนังสือสิปปธัช : พระผู้เป็นธงชัยแห่งสรรพศิลป์ (จัดพิมพ์เนื่องในโอกาส ๑๐๔ ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร)

           

(จำนวนผู้เข้าชม 6856 ครั้ง)

Messenger