ทำไมชาวนาต้องไถนา ?
การไถนาเป็นการเตรียมที่นาให้พร้อม ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกสุดของการปลูกข้าว ก่อนที่ชาวนาจะลงมือทำนาด้วยวิธีการปักดำต้นกล้าหรือหว่านเมล็ดข้าวลงในที่นา การไถนาเป็นการพรวนดิน ทำให้ดินร่วนซุยขึ้น ช่วยกำจัดวัชพืช เช่น ต้นหญ้าต่าง ๆ ที่ไม่ต้องการให้ออกไปจากที่นา และปรับพื้นดินให้ราบเรียบเสมอกัน ชาวนาเริ่มลงมือไถนาประมาณปลายเดือนเมษายน ถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูฝน
ก่อนลงมือหว่านเมล็ดข้าวหรือปักดำต้นกล้า ชาวนาจะไถนาอย่างน้อย 2 ครั้ง ไถครั้งแรก เรียกว่า “ไถดะ” ไถครั้งที่สอง เรียกว่า “ไถแปร”
เครื่องมือที่ใช้ในการไถนาหรือพรวนดินในที่นา เรียกกันว่า “คันไถ” ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ตัวคันไถ หางยาม (หางไถ) และหัวหมู ทำด้วยไม้เนื้อแข็งและประกอบเข้าด้วยกันโดยการต่อเข้าลิ่ม
ส่วนประกอบสำคัญของคันไถ มีดังนี้
- คันไถ คือส่วนที่ยื่นออกไปด้านหน้า เพื่อเชื่อมต่อกับส่วนที่ผูกควาย เป็นไม้อีกท่อนหนึ่งที่เป็นส่วนประกอบของตัวไถ ส่วนที่ต่อเข้ากับหางไถจะทำเป็นเดือยตัวผู้เพื่อใช้ต่อเข้ากับรูเดือยตัวเมียที่ส่วนหางไถ ทำให้แน่นโดยใช้ลิ่มตอกยึด ส่วนปลายคันไถยื่นออกไปข้างหน้า โค้งทำมุมต่ำลง มีปลายจะงอยขึ้นมา
- หางยาม หรือหางไถ คือ ส่วนที่ชาวนาใช้จับขณะไถนา เป็นไม้ชิ้นเดียวที่มีลักษณะเอียงจากหัวหมูประมาณ ๑๕ องศา ยาวมาจนถึงส่วนที่ต่อเข้ากับคันไถ และเจาะรูสี่เหลี่ยมผืนผ้าทะลุชิ้นไม้เพื่อใส่ลิ่มต่อเข้ากับคันไถ เหนือส่วนนี้ขึ้นไปทำเป็นรูปโค้งเพื่อสะดวกต่อการจับ เวลาประกอบเข้าเป็นตัวไถแล้ว ส่วนนี้จะตั้งขึ้นและส่วนโค้งก็จะยื่นไปด้านหลังตั้งอยู่ระดับสะเอว
- หัวหมู คือ ส่วนที่ใช้ไถดิน ประกอบด้วยไม้หนึ่งชิ้นบากปลายให้แหลมและมีลักษณะบาน เจาะรูเดือยตัวเมียสี่เหลี่ยมสำหรับต่อเข้ากับหางไถ ส่วนท้ายจะทำเป็นรูปท่อนกลมยาว
- ผาล ทำด้วยเหล็ก ใช้สำหรับพลิกหรือไถพรวนดิน สวมต่ออยู่กับส่วนหัวหมูและหางไถโดยการตอกเข้าลิ่ม
ในสมัยโบราณชาวนาใช้แรงงานวัวควายในการลากไถนา แต่ปัจจุบันนิยมใช้รถแทรกเตอร์หรือที่เรียกกันว่าควายเหล็กไถนาแทนวัวควาย เพราะสะดวกรวดเร็ว ประหยัดเวลา และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร อย่างไรก็ตาม การใช้เครื่องจักรกลเข้ามาแทนแรงงานวัวควายในการไถนา ทำให้ชาวนาปัจจุบันประสบปัญหาต้นทุนจากค่าใช้จ่ายเรื่องราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น
![](https://finearts.go.th/uploads/tinymce/source/13/Knowledge_7/0744/(1)%E0%B9%84%E0%B8%96%E0%B8%99%E0%B8%B2.jpg)
![](https://finearts.go.th/uploads/tinymce/source/13/Knowledge_7/0744/(2)%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%96.jpg)
![](https://finearts.go.th/uploads/tinymce/source/13/Knowledge_7/0744/(3)%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%B0%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%9C%E0%B8%B2.jpg)
ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งไม่เคลือบ ผลิตจากแหล่งเตาบ้านบางปูน ตำบลพิหารแดง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ส่วนบนตกแต่งลายกดประทับในกรอบสามเหลี่ยม คล้ายลายเฟื่องอุบะและกรวยเชิงที่ประดับบนศาสนสถานในวัฒนธรรมเขมร ส่วนล่างตกแต่งลายกดประทับรูปบุคคล คันไถและวัวคู่ อาจหมายถึงพิธีแรกนาขวัญ แสดงถึงการให้ความสำคัญในเรื่องการปลูกข้าวหรือเกษตรกรรมของผู้ปกครองรัฐสุพรรณภูมิ เมื่อพุทธศตวรรษที่ 19-20 หรือประมาณ 600-700 ปีมาแล้ว
ปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชาวนาไทย จังหวัดสุพรรณบุรี
![](https://finearts.go.th/uploads/tinymce/source/13/Knowledge_7/0744/(4)%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A9%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%B0_%E0%B9%84%E0%B8%96%E0%B8%99%E0%B8%B2.jpg)
ภาพลายเส้นบนภาชนะดินเผา พบที่บ้านบางปูน ตำบลพิหารแดง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ตกแต่งลายกดประทับรูปบุคคล คันไถและวัวคู่ อาจหมายถึงพิธีแรกนาขวัญ แสดงถึงการให้ความสำคัญในเรื่องการปลูกข้าวหรือเกษตรกรรมของผู้ปกครองรัฐสุพรรณภูมิ เมื่อพุทธศตวรรษที่ 19-20 หรือประมาณ 600-700 ปีมาแล้ว
-------------------------------------------------------------
อ้างอิง
- จารึก วิไลแก้ว. แหล่งเตาเผาบ้านบางปูน. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2531.
- คันไถโบราณ ตำนานและความเชื่อของชาวนา. เข้าถึงได้จาก https://e-shann.com/คันไถโบราณตํานานและคว/ สืบค้นเมื่อ 15 เมษายน 2565.
- สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ. ข้าวไทย. กรุงเทพฯ : ปลาตะเพียน, 2555.
-------------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชาวนาไทย
www.facebook.com
www.facebook.com
(จำนวนผู้เข้าชม 25195 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน