ข้าว : ร่องรอยหลักฐานข้าวยุคแรกเริ่มในดินแดนไทย (ตอนที่ ๑)
          ข้าวเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวอยู่ในตระกูลเดียวกับพืชประเภทหญ้า ลักษณะลำต้นเป็นปล้องกลวง ออกดอกเป็นช่อหรือรวง ดอกข้าวนี้จะเจริญเติบโตเป็นเมล็ดข้าวที่กลายเป็นอาหารของมนุษย์เรา
          ข้าวมีหลายสายพันธุ์ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ลักษณะภูมิประเทศและสภาพอากาศ โดยสายพันธุ์ข้าวที่ปลูกในทวีปเอเชีย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Oryza Sativa (อ่านว่า โอไรซ่า ซาติว่า) แบ่งออกได้เป็น ๓ ชนิดใหญ่ตามสภาพพื้นที่เพาะปลูก ดังนี้
          - Oryza Sativa Indica (โอไรซ่า ซาติว่า อินดิก้า) ปลูกได้ดีในพื้นที่เขตร้อนชื้น บริเวณเส้นศูนย์สูตร เป็นพันธุ์ข้าวที่มาจากอินเดีย พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ (Mainland of Southeast Asia) ได้แก่ ไทย ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม เป็นต้น ลักษณะเมล็ดข้าวยาวเรียว
          - Oryza Sativa Japonica (โอไรซ่า ซาติว่า จาโปนิก้า) ปลูกได้ดีในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศค่อนข้างหนาวเย็นถึงอบอุ่น) พบในประเทศญี่ปุ่น จีน และเกาหลี เมล็ดข้าวสั้นป้อม เมื่อหุงสุกแล้วมีลักษณะค่อนข้างเหนียว
          - Oryza Sativa Javanica (โอไรซ่า ซาติว่า ชาวานิก้า) ปลูกได้ดีในพื้นที่เขตร้อนชื้น เป็นพันธุ์ข้าวที่พบในประเทศอินโดนีเซีย
          ในดินแดนไทยพบร่องรอยของเมล็ดข้าวตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เมื่อหลายพันปีมาแล้วที่ถ้ำปุงฮุง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ลักษณะเป็นข้าวเมล็ดสั้นซึ่งอาจเป็นข้าวป่าที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ


ภาพ: เมล็ดข้าวพบภายในถ้ำปุงฮุง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยหินกลาง อายุประมาณ ๗,๐๐๐ ปีมาแล้ว ที่มา: “Hoabinhian Horticulture : The Evidence and the Question From Northwest THAILAND”.

          ต่อมาเมื่อประมาณ ๒,๐๐๐ - ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว ได้มีหลักฐานของข้าวปลูกที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี และที่แหล่งโบราณคดีโนนนกทา อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น โดยพบร่องรอยข้าวติดอยู่บนเครื่องมือเครื่องใช้ประเภทโลหะ ได้แก่ ขวานสำริด และเครื่องมือเหล็ก รวมทั้งยังพบอีกว่าคนโบราณสมัยนั้นได้ใช้แกลบข้าวเป็นส่วนผสมอยู่ในเนื้อภาชนะดินเผา นอกจากนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีหลักฐานที่แสดงร่องรอยการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ (วัวควาย) จากภาพเขียนสีบนผนังเพิงผาที่ผาหมอนน้อย ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

ภาพเขียนสีบนผนังเพิงผา แสดงร่องรอยการเพาะปลูกข้าว (นาข้าว) และเลี้ยงปศุสัตว์ (วัวควาย) ที่ผาหมอนน้อย อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี

--------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชาวนาไทย https://www.facebook.com/page/1088662974512680/search/?q=%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%A2

(จำนวนผู้เข้าชม 4969 ครั้ง)

Messenger