เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์เขาหัวหมวก จังหวัดนครนายก
แหล่งภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์เขาหัวหมวก ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีกะอาง อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก พบภาพเขียนปรากฏอยู่บนก้อนหินโดดขนาดใหญ่วางตัวตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก มีหินก้อนเล็กรูปทรงสามเหลี่ยมวางอยู่ด้านบนคล้ายกับสวมหมวก จึงเป็นที่มาของชื่อเรียก “เขาหัวหมวก”
ลักษณะภาพเขียนสีที่พบเขียนด้วยสีแดง กระจายตัวอยู่บนผนังก้อนหินใหญ่ ใช้เทคนิคการลงสีแบบโครงร่างภายนอก (outline) คือ การเขียนโครงร่างภายนอกเป็นเส้นกรอบรูปและปล่อยพื้นที่ภายในว่างหรือตกแต่งภายในด้วยลวดลายประกอบ และแบบการลงสีแบบเงาทึบ (silhouette) คือ การวาดโครงร่างและทาสีทับภายใน จากการสำรวจสามารถแบ่งกลุ่มภาพเขียนสีออกเป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่
๑. กลุ่มภาพบนผนังก้อนหินทิศเหนือ พบภาพเขียนสีแดงกระจายตัวอยู่เป็นจำนวนมากกว่าด้านอื่น ๆ ภาพที่พบส่วนใหญ่เป็นภาพลายเรขาคณิต เช่น เส้นตรง เส้นหยัก (ซิกแซค) เรียงกันในแนวตั้ง สภาพซีดจางและเลือนหายบางส่วน
๒. กลุ่มภาพบนผนังก้อนหินทิศใต้ พบภาพเขียนสีแดงอยู่บริเวณที่มีร่องรอยของหินกะเทาะหลุดร่วง จำนวน ๓ ภาพ ภาพสัตว์ ๒ ภาพ หันหน้าไปทางทิศตะวันตก เป็นสัตว์มีเขาและโหนกบนสันหลังคล้ายกับ วัวป่า/กระทิง และภาพไม่ทราบรูปแบบที่แน่ชัด ๑ ภาพ
๓. กลุ่มภาพบนผนังก้อนหินทิศตะวันตก พบภาพเขียนสีแดง ๖ ภาพ เป็นภาพสัตว์มีเขาและโหนกบนสันหลัง วัว/กระทิง หันหน้าไปทางทิศเหนือ คล้ายกับภาพที่พบบนผนังทิศใต้ และภาพที่ไม่สามารถระบุได้ แน่ชัด เนื่องจากมีสภาพซีดและเลือนลาง
การพบภาพเขียนสีดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าบริเวณเขาหัวหมวกน่าจะเป็นพื้นที่สำคัญของกลุ่มคนใน ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์และเป็นจุดสำคัญที่สามารถมองเห็นสภาพภูมิประเทศหรือภูเขาโดยรอบและพื้นที่บริเวณหุบเขาด้านล่างในมุมกว้าง ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับ การดำรงชีวิตหรือความเชื่อ เช่น การล่าสัตว์ สภาพธรรมชาติ จากการศึกษาเปรียบเทียบสันนิษฐานว่าภาพเขียนสีเขาหัวหมวกน่าจะเขียนขึ้นในช่วงสมัยสังคมกสิกรรม หรือเมื่อประมาณ ๓,๕๐๐ - ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว โดยภาพที่พบส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับภาพเขียนสีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางของประเทศไทย เช่น ภาพวัวป่า/กระทิง มีการสำรวจพบที่เขาปลาร้า จังหวัดอุทัยธานี ถ้ำผาฆ้อง ๒ จังหวัดเลย ภูถ้ำมโฬหาร จังหวัดเลย ถ้ำวัว อุทยานแห่งชาติภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี เขาวังกุลา จังหวัดกาญจนบุรี ภาพลายเรขาคณิตหรือลายเส้น เช่น เส้นตรง เส้นหยักฟันปลา (ซิกแซก) มีการสำรวจพบที่ถ้ำช้าง เพิงหินร่อง จังหวัดอุดรธานี ถ้ำแต้ม 4 จังหวัดอุบลราชธานี ถ้ำลายมือ ๑ จังหวัดขอนแก่น เขาพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี
-------------------------------------------------------------
ผู้จัดทำและเรียบเรียงข้อมูล : นางสาววิไลวรรณ อยู่ทองจุ้ย นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ ๓ พระนครศรีอยุธยา
(จำนวนผู้เข้าชม 7123 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน