แหล่งภาพเขียนสีเกาะยางแดง
          ...เกาะต่างๆ ในอ่าวพังงา ที่เราแล่นเรือผ่านนั้น หากสังเกตบริเวณผนังเพิงผาหรือถ้ำ อาจพบภาพเขียนสีหรือศิลปะถ้ำ ที่มนุษย์ในอดีตได้เขียนหรือวาดเอาไว้ เมื่อครั้งที่แวะเข้ามาพักพิงและใช้พื้นที่เพื่อวัตถุประสงค์ในหลายๆประการ ที่เกาะยางแดงแห่งนี้ แม้จะไม่ปรากฏภาพบุคคลและสัตว์ประเภทต่างๆ ดังที่พบที่เกาะอื่นๆ แต่ที่นี่ปรากฏภาพที่อาจสื่อถึงพืชพันธุ์ธรรมชาติที่อาจเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของมนุษย์ในยุคนั้นได้...
          ที่ตั้งและสภาพทั่วไป แหล่งภาพเขียนสีเกาะยางแดง ตั้งอยู่ที่ ตำบลกะไหล อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ในเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา อยู่บนเกาะซึ่งไม่ปรากฏชื่อในแผนที่ทหาร ใกล้กับเกาะทะลุใต้ เป็นเขาหินปูนขนาดเล็ก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะที่อยู่ติดกัน ตัวเกาะมีรูปร่างยาวรี วางตัวตามแนวแกนทิศเหนือ – ใต้ มีความยาวประมาณ ๒๕๐ เมตร กว้างประมาณ ๘๐ เมตร
          การเข้าถึงแหล่ง จากอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา เดินทางโดยเรือระยะทางประมาณ ๑๗.๒ กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ ๒๐ – ๒๕ นาที โดยผ่านคลองเกาะปันหยี เกาะปันหยี มาทางทิศใต้ผ่านเขาพิงกัน และมุ่งหน้าทางตะวันตก มุ่งสู่เกาะทะลุใต้ ทางด้านซ้ายหรือด้านทิศใต้เป็นที่ตั้งของเกาะยางแดง ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเขาพิงกัน และควรเดินทางมาถึงช่วงที่น้ำทะเลขึ้นสูง เพื่อให้เรือสามารถแล่นเลาะเลียบเกาะทางฝั่งด้านทิศตะวันออกที่มีลักษณะเป็นอ่าวขนาดเล็กที่มีสภาพค่อนข้างตื้น ไปยังตำแหน่งทางขึ้นสู่เพิงผาที่ปรากฏภาพเขียนสีได้
          ลักษณะและรูปแบบ บริเวณที่ปรากฏภาพเขียนสี เป็นเพิงผาขนาดเล็กและแคบ หันไปทางทิศตะวันออก ลักษณะเป็นโพรงถ้ำขนาดเล็กในแนวนอน ขนาดกว้างประมาณ ๒ เมตร ยาวประมาณ ๗ เมตร และสูงประมาณ ๑ เมตร ทางขึ้นค่อนข้างชันมาก เพิงผาอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๓ – ๕ เมตร มีหินงอกหินย้อย และสามารถเข้าไปอยู่ในโพรงถ้ำได้เพียงครั้งละ ๑ – ๒ คนเท่านั้น ที่ผนังของเพิงผาปรากฏกลุ่มภาพเขียนสีแดงเข้ม เป็นภาพลายเส้นคล้ายดอกไม้ ลายเส้นอื่นๆ และร่องรอยภาพสีแดงที่ค่อนข้างลบเลือน
          ภาพที่ปรากฏชัดเจนเป็นกลุ่มภาพลายเส้นสีแดงเข้ม มีจำนวน ๕ – ๖ ภาพ อยู่ใกล้กัน ขนาดกลุ่มภาพโดยรวมกว้างประมาณ ๑๐๐ เซนติเมตร สูงประมาณ ๖๐ –๗๐ เซนติเมตร
          ภาพที่ปรากฏชัดเจนที่สุด อยู่ด้านล่างสุดของกลุ่มภาพ เป็นภาพลายเส้นโค้งและเส้นตรงประกอบกันคล้ายรูปดอกไม้หรือดอกหญ้าชูขึ้น ขนาดภาพกว้างและยาวด้านละประมาณ ๑๕ เซนติเมตร สูงจากพื้นเพิงผา ๔๐ เซนติเมตร ส่วนภาพอื่นๆ เป็นภาพลายเส้นตรง เส้นตรงปลายแหลม และเส้นโค้งต่างๆ ซึ่งบางภาพเขียนประกอบกันคล้ายภาพเรขาคณิต แต่ไม่มีรูปทรงที่ชัดเจน และที่ผนังด้านในปรากฏร่องรอยสีแดง
          สาระสำคัญ เกาะยางแดง มีตำแหน่งที่ตั้งอยู่กลางทะเลในอ่าวพังงา โดยด้านทิศตะวันออกของเกาะเป็นอ่าวขนาดเล็ก ซึ่งมนุษย์ในอดีตสามารถใช้จอดเรือและหลบคลื่นลม และสามารถใช้เพิงผาและถ้ำขนาดเล็กเป็นแหล่งพักพิงชั่วคราว
          ทั้งนี้สภาพภูมิประเทศในอดีต เพิงผานี้อาจมีสภาพที่เหมาะสมและมีขนาดใหญ่มากพอที่มนุษย์จะสามารถเข้าไปใช้พื้นที่ด้านในเพื่อประกอบกิจกรรม หรือพิธีกรรม ซึ่งอาจมีการขีดเขียนวาดภาพบนผนังเพิงผาเพื่อถ่ายทอดเรื่องราว วิถีชีวิตความเป็นอยู่ และสภาพแวดล้อมรอบตัว ซึ่งสันนิษฐานว่าอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อประมาณ ๕,๐๐๐ – ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว
          กลุ่มภาพสีแดงเข้มที่ปรากฏบนผนังเพิงผา สันนิษฐานว่าอาจเป็นกลุ่มภาพเล่าเรื่องแสดงเหตุการณ์หรือบอกเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต โดยมีภาพที่สำคัญเป็นภาพลายเส้นคล้ายดอกไม้ ดอกหญ้า หรือพืชชนิดใดชนิดหนึ่ง ที่ผู้เขียนได้พบเห็นมา หรือเขียนบอกเล่าชนิดของพืชที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการอุปโภคและบริโภคได้
          ส่วนภาพลายเส้นอื่นๆ ที่บางภาพเขียนประกอบกันคล้ายภาพเรขาคณิต อาจเป็นการขีดเขียนเพื่อสื่อสาร เขียนภาพประกอบ หรืออาจเป็นภาพที่ยังเขียนไม่แล้วเสร็จ























-------------------------------------------------------
สำรวจ/เรียบเรียง/กราฟิก : นายธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์ นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช

(จำนวนผู้เข้าชม 2283 ครั้ง)

Messenger