กรมศิลปากรเปิดให้เข้าชมนิทรรศการถาวรประวัติศาสตร์ - โบราณคดีก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ในอาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร



          นายพนมบุตร จันทรโชติ รองอธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า กรมศิลปากรได้พัฒนาการจัดแสดง นิทรรศการถาวรภายในอาคารมหาสุรสิงหนาท ตามโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ระหว่าง พ.ศ.๒๕๕๕ – ๒๕๖๔ โดยบูรณะอาคารและพัฒนาการจัดแสดงนิทรรศการถาวรทั้งอาคาร มาตั้งแต่ ปี ๒๕๖๒ ปัจจุบันอาคารมหาสุรสิงหนาทจัดแสดงศิลปะเอเชีย และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ - โบราณคดีที่พบบนผืนแผ่นดินไทยตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ก่อนพุทธศักราช ๑๘๐๐ อันเป็นช่วงเวลาที่ดินแดนในประเทศไทยปัจจุบันปรากฏหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์ จนถึงยุคที่รับวัฒนธรรมจากภายนอกโดยเฉพาะประเทศอินเดีย ก่อเกิดการพัฒนาจากบ้านสู่รัฐ ได้แก่ ห้องศิลปะเอเชีย ห้องก่อนประวัติศาสตร์ ห้องทวารวดี ห้องลพบุรี และห้องศรีวิชัย
          ห้อง ๔๐๑ : ห้องศิลปะเอเชีย จัดแสดงโบราณวัตถุที่เป็นงานศิลปกรรมในภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ศิลปะอินเดีย ศิลปะลังกา ศิลปะจีน ศิลปะญี่ปุ่น ศิลปะจาม และศิลปะพุกาม-พม่า ส่วนมากเป็นประติมากรรมในพุทธศาสนาซึ่งแสดงถึงการแพร่กระจายและความหลากหลายของรูปแบบศิลปกรรมในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งพุทธศิลป์บางประเทศได้เป็นต้นแบบการสร้างพระพุทธรูปในศิลปะไทย อาทิ ศิลปะลังกาที่ส่งอิทธิพลให้กับศิลปะสุโขทัย หรือศิลปะพม่าที่ส่งอิทธิพลให้กับการสร้างพระพุทธรูปในศิลปะล้านนา






         ห้อง ๔๐๒ : ห้องก่อนประวัติศาสตร์ ประเทศไทยพบหลักฐานเครื่องมือที่ทำจากหินกะเทาะของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตั้งแต่เมื่อประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว และมีพัฒนาการมาเป็นลำดับจนประมาณ ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว จึงพบการผลิตเครื่องมือหินขัด ภาชนะเครื่องปั้นดินเผา การทอผ้า เมื่อเข้าสู่สมัยโลหะมีการนำแร่โลหะ เช่น ทองแดง ดีบุก เหล็ก มาหลอมทำอาวุธ เครื่องมือ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ช่วงเวลานี้มีการค้นพบโบราณวัตถุที่แลกเปลี่ยนกับชุมชนอื่นที่ห่างไกล จากการติดต่อสัมพันธ์ส่งผลให้เกิดพัฒนาการทางสังคมเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ในเวลาต่อมา






          ห้อง ๔๐๓ : ห้องทวารวดี “ทวารวดี” คำจารึกบนเหรียญเงินซึ่งพบตามชุมชนโบราณหลายแห่งใน พื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย นักวิชาการสันนิษฐานว่าคืออาณาจักร “โตโลโปตี” ที่ปรากฏในเอกสารจีนสมัยราชวงศ์ถัง วัฒนธรรมทวารวดีแพร่กระจายไปตามชุมชนโบราณหลายแห่งของประเทศไทย นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๖ หรือ ๑,๐๐๐-๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว ส่วนใหญ่ได้รับแรงบันดาลใจจากพระพุทธศาสนา โดยพบหลักฐานจำนวนมากในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก ส่วนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้มีรูปแบบที่คลี่คลายผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่น โบราณวัตถุสำคัญ เช่น ธรรมจักร วัดเสน่หา (ร้าง) นครปฐม พระพุทธรูปปางแสดงธรรม คูบัว ราชบุรี ฯลฯ




          ห้อง ๔๐๔ : ห้องลพบุรี “ลพบุรี” มาจากชื่อเมืองหรือรัฐ “ลวปุระ” ใช้เรียกรูปแบบศิลปกรรมที่มี ความใกล้ชิดกับรูปแบบศิลปกรรมวัฒนธรรมเขมรในราชอาณาจักรกัมพูชา สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยปัจจุบัน ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ หรือประมาณ ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว ต่อมาช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๘ หรือประมาณ ๘๐๐-๑,๑๐๐ ปีมาแล้ว พบหลักฐานงานศิลปกรรมสร้างขึ้นเนื่องในความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ และศาสนาพุทธ ผ่านระบบการเมืองการปกครอง
          ห้อง ๔๐๕ : ห้องลพบุรี ศาสนสถานในศิลปะลพบุรีสร้างด้วยถาวรวัตถุ ประเภทอิฐหรือหิน จึงปรากฏหลักฐานชิ้นส่วนประดับสถาปัตยกรรมต่างๆ อาทิ ทับหลัง เสาประดับกรอบประตู สำหรับประติมากรรมรูปเคารพมีทั้งที่สลักจากศิลาและหล่อจากสำริด รูปแบบศิลปะลพบุรีมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับศิลปะเขมรสมัยเมืองพระนคร และต่อยอดเป็นพื้นฐานงานศิลปกรรมในสมัยอยุธยาตอนต้น นอกเหนือจากหลักฐานงานศิลปกรรมด้านศาสนา ปรากฏหลักฐานงานศิลปกรรมเกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิต ประเภทเครื่องปั้นดินเผาที่รังสรรค์เป็นงานศิลปกรรมประดับอาคาร และเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน
          ห้อง ๔๐๖ : ห้องศิลปะศรีวิชัย ศรีวิชัย เป็นชื่อรัฐในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๘ หรือประมาณ ๘๐๐-๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว ตั้งอยู่บริเวณคาบสมุทรแหลมมลายูภาคใต้ของประเทศไทยจนถึงเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ในประเทศไทยพบหลักฐานทางโบราณคดีวัฒนธรรมศรีวิชัย อาทิ โบราณสถาน จารึก รูปเคารพในศาสนาพราหมณ์ทั้งไศวนิกายและไวษณพนิกาย ศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน สำหรับประติมากรรมศิลปะชวา เป็นโบราณวัตถุที่ได้รับมอบในคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสชวา ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๓๙ และอีกส่วนหนึ่งได้รับเพิ่มเติมในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗





          ทั้งนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้เปิดให้ประชาชนเข้าชมการจัดแสดงนิทรรศการถาวร ภายในอาคารมหาสุรสิงหนาท คงเหลือการจัดแสดงนิทรรศการถาวรห้องลพบุรี ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม ๒๕๖๔ และจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการต่อไป
          ผู้สนใจสามารถเข้าชมการจัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์-โบราณคดีก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๘ อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เปิดให้บริการทุกวันพุธ - วันอาทิตย์ ระหว่างเวลา ๐๘.๓๐ – ๑๖.๐๐ น. ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม โทรศัพท์ ๐ ๒๒๒๔ ๑๔๐๒ , ๐ ๒๒๒๔ ๑๓๓๓ โทรสาร ๐ ๒๒๒๔ ๑๔๐๔

(จำนวนผู้เข้าชม 2850 ครั้ง)

Messenger