เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสต้น เมืองปัตตานี
สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ หัวเมืองที่ตั้งอยู่ในบริเวณแหลมมลายูนั้น ถูกแบ่งออกเป็น ๒ เขต คือ หัวเมืองบริเวณชายทะเลอ่าวสยาม (หัวเมืองปักษ์ใต้) ได้แก่ มณฑลชุมพร มณฑลนครศรีธรรมราช มณฑลปัตตานี และหัวเมืองบริเวณชายทะเลอ่าวเบงกอล (หัวเมืองทะเลตะวันตก) ได้แก่ มณฑลภูเก็ต นอกจากนี้ยังมีหัวเมืองมลายูประเทศราช ซึ่งได้แก่ เมืองไทรบุรี เมืองกลันตัน เมืองตรังกานู โดยหัวเมืองต่างๆ เหล่านี้เดินทางไปได้ยากมาก ยังมิได้ปรากฏว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดได้เสด็จประพาส จนกระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๑ (ร.ศ. ๗๗)
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จประพาสเมืองแหลมมลายูครั้งแรกเมื่อคราวเสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา พ.ศ. ๒๔๑๓ (ร.ศ. ๘๙) หลังจากนั้นก็ทรงเว้นว่างไปถึง ๑๗ ปี จนมาถึงปี พ.ศ. ๒๔๓๑ (ร.ศ. ๑๐๗) จึงได้เสด็จประพาสหัวเมืองแหลมมลายูอีกครั้งทั้งในดินแดนไทยและอังกฤษ ซึ่งเป็นการเสด็จตามมณฑลปักษ์ใต้ในพระราชอาณาเขตเป็นหลัก
ในปีพ.ศ. ๒๔๓๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองปัตตานี โดยเสด็จพระราชดำเนินไปตามถนนสายอาเนาะรู ไปยังศาลเจ้าซูกง (ศาลเจ้าเล่วจูเกียหรือศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวในปัจจุบัน) ตามหลักฐานที่ระบุในจดหมายเหตุรายวันของสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ตอนหนึ่งว่า “เวลาสี่โมงเช้าเรือทอดสมอที่หน้าเมืองปัตตานี เจ้าเมืองกรมการเมืองตานีมาคอยรับเสด็จถึงเรือโดยเร็ว เสด็จไปประทับที่เรือเวสาตรี ทรงครึ่งยศทหาร เราก็แต่งครึ่งยศตามเสด็จไป ผู้ที่มาเยือนนั้น พระยาตานีตาย พระศรีบุรีรัฐพินิต ๑ พระพิพิธภักดี ๑ เมืองยิหริ่งพระยายิหริ่ง ๑ พระโยธานุประดิษฐ ๑ เมืองสายพระยาสาย ๑ พระวิเศษวังชา ๑ ประทางตราภัทราภรณ์ ผู้ช่วยทั้งสี่คนคนละดวง แล้วเสด็จกลับมาเรืออุบล วันนี้เป็นวันคล้ายวันประสูติสมเด็จแม่ ที่เรือเวสาตรีได้ยิงสลุต ๒๑ นัด สองโมงเศษเสด็จขึ้นเมืองตานี เมื่อถึงท่าเขาลงมาคอยรับเสด็จทั้งผู้ชายผู้หญิง ทรงพระดำเนินไปตามตลาดจนถึงพลับพลาซึ่งปลูกไว้รับเสด็จ ทำดี ดูเข้าใจไทยมาก การรับรองแข็งแรง ของถวายก็มาก ข้างในพวกผู้หญิงก็มาถวายของมาก มีฝนตกเล็กน้อย แล้วเสด็จมาทรงเรือพระที่นั่งมาประทับที่วัดของจีนจูหลาย กัปตันจีนสร้าง มีพระสงฆ์อยู่ ๑๔ รูป โบสถ์ทำอย่างจีน พระเข้าบ้านแขกไม่ได้ รับสั่งให้นิมนต์มาถวายเงิน สมเด็จแม่ก็ถวายด้วย แล้วประทานเงินกัปตันจีนไว้ห้าชั่ง ให้ทำศาลาการเปรียญ เป็นที่สำหรับเด็กเรียนหนังสือ ให้เป็นที่สำหรับเจ้าเมืองกรมการประชุมถือน้ำด้วย”
ต่อมาเมื่อคราวเสด็จเมืองหนองจิก วันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๒ ขณะที่ประทับอยู่ในเรือพระที่นั่งหน้าเมืองหนองจิกนั้น ทรงทราบว่าศาลาการเปรียญที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นที่วัดบางน้ำจืด เมื่อคราวเสด็จตรังกานูเกือบเสร็จแล้วจึงอัญเชิญพระราชหัตถเลขาฉบับที่ ๓ ซึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์ดังนี้ “พระยาตานีมาคอยอยู่ ๔ วันแล้วพึ่งกลับไปพระยาหนองจิกให้ไปบอก ก็ขึ้นมาพร้อมกับพระศรีบุรีรัฐ พระพิพิธภักดี หลวงจีนคณานุรักษ์ ทราบว่าศาลาการเปรียญที่วัดตานี ซึ่งฉันสร้างไว้นั้น เกือบเสร็จแล้ว จึงคิดว่าเป็นโอกาสดีพอที่จะฉลองได้ จึงปล่อยให้พวกเมืองตานีกลับไปจัดการรับที่เมืองตานี”
วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ วัดบางน้ำจืด โดยเรือพระที่นั่งบูรทิศในการพระราชพิธีฉลองศาลาการเปรียญ ทรงมีพระราชหัตถเลขา ในการพระราชพิธีดังกล่าวถึงเหตุการณ์ในการฉลองศาลาการเปรียญและได้พระราชทานนามวัดว่า "วัดตานีนรสโมสร" และได้รับยกฐานะเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรีชนิดสามัญ นับเป็นอารามหลวงแห่งแรกของจังหวัดปัตตานี ตั้งแต่วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๙
--------------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ ยะลา https://www.facebook.com/751655098538170/posts/1332154277154913/
--------------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง :
ห้องสมุดดิจิทัลวชิรณาญ (ออนไลน์). แหล่งที่มา http://vajirayana.org/.../%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0... ห้องสมุดดิจิทัลวชิรณาญ (ออนไลน์). แหล่งที่มา http://vijirayana.org/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8... มาฆีตานิง : ท่องไปในวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี. สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ออนไลน์). แหล่งที่http://xn--pattaniheritagecity-z70dtn.psu.ac.th/.../%E0.../ South deep outlook.com (ออนไลน์). แหล่งที่มา http://southdeepoutlook.com/.../detail_south_editorial/77/ จุฬาลงกรณ์ราชบรรณาลัย. สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ออนไลน์). แหล่งที่มา http://rama5.flexiplan.co.th/th/timeline/detail/4859
(จำนวนผู้เข้าชม 3430 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน