เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
กรมศิลปากรร่วมกับจังหวัดสุพรรณบุรี เปิดให้ชมการจัดแสดงภายในอาคารประติมากรรมขุนหลวงพะงั่วและประวัติศาสตร์สุพรรณบุรี ผ่านระบบออนไลน์
นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า อาคารประติมากรรมขุนหลวงพะงั่วและประวัติศาสตร์สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ทางด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของจังหวัดสุพรรณบุรีและของประเทศไทย พร้อมเปิดให้บริการแล้วในวันนี้ (วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๔) แต่เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรน่า ๒๐๑๙ และการประกาศปิดแหล่งเรียนรู้ของกรมศิลปากร เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ ๓ - ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ กรมศิลปากรจึงเปิดให้บริการแบบออนไลน์ โดยสามารถเข้าชมการจัดแสดงอาคารประติมากรรมขุนหลวงพะงั่วและประวัติศาสตร์สุพรรณบุรี ผ่านระบบ smartmuseum ของกรมศิลปากร https://smartmuseum-v2.finearts.go.th/home
อาคารประติมากรรมขุนหลวงพะงั่วและประวัติศาสตร์สุพรรณบุรี ตั้งอยู่ที่ตำบลสนามชัย อำเภอ เมือง จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดงประติมากรรมสำริดที่มีความยาวมากที่สุดในประเทศไทย เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ หรือขุนหลวงพะงั่ว ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ และประวัติศาสตร์เมืองสุพรรณบุรี จัดตั้งขึ้นตามดำริของ ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ ๒๑ เริ่มก่อสร้างเมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๓ โดยได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการสนับสนุนงบประมาณ ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี มูลนิธิบรรหาร-แจ่มใส ศิลปอาชา กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมการท่องเที่ยว โดยกรมศิลปากรเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดแสดงพระราชประวัติของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ หรือ ขุนหลวงพะงั่ว เจ้าเมืองสุพรรณบุรี ผู้ซึ่งต่อมาเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ พระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๓ ของกรุงศรีอยุธยา และทรงเป็นองค์ปฐมแห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ นอกจากนี้ยังบอกเล่าเรื่องราวของจังหวัดสุพรรณบุรีตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยสังคมเกษตรกรรม ยุคประวัติศาสตร์แรกเริ่มเรื่อยมาจนถึงยุคประวัติศาสตร์ สมัยรัตนโกสินทร์ อีกทั้งเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงมีพระมหากรุณา ธิคุณต่อพสกนิกรชาวจังหวัดสุพรรณบุรีและชาวไทย
การจัดแสดงได้นำเสนอเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับเมืองสุพรรณบุรี จำนวน ๙ ตอน ผ่านงานประติมากรรมนูนสูง และนูนต่ำ หล่อด้วยโลหะสำริด ความยาว ๘๘ เมตร สูง ๔.๒๐ เมตร ซึ่งนับว่าเป็นประติมากรรมสำริดที่มีความยาวมากที่สุดในประเทศไทย แบ่งเนื้อหาออกเป็น ๙ ตอน ประกอบด้วย
ตอนที่ ๑ สุพรรณบุรี : ชุมชนแรกเริ่ม
ตอนที่ ๒ สุพรรณบุรี : อู่ทอง...เครือข่ายการค้าข้ามภูมิภาค
ตอนที่ ๓ สุพรรณบุรีในวัฒนธรรมศาสนา : อู่ทองเมืองศูนย์กลางศาสนารุ่นแรก
ตอนที่ ๔ สุพรรณบุรี : เนินทางพระ...ร่องรอยพุทธศาสนามหายาน
ตอนที่ ๕ สุพรรณบุรี : ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา
ตอนที่ ๖ สุพรรณบุรี : เมืองลูกหลวงของราชธานีศรีอยุธยา
ตอนที่ ๗ สุพรรณบุรี : สมรภูมิยุทธหัตถี ตอนที่ ๘ สุพรรณบุรี : หัวเมืองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
และตอนที่ ๙ ปัจจุบัน...สุพรรณบุรี
โดยผู้เข้าชมจะได้รับความรู้และความเพลิดเพลินผ่านระบบการบรรยายนำชมที่ทันสมัยทั้งในรูปแบบออนไลน์ ออฟไลน์ และอุปกรณ์ Audio guide จำนวน ๓ ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน พร้อมใช้เทคโนโลยีแสง เสียง ประกอบการจัดแสดง
ทั้งนี้ ผู้สนใจยังสามารถใช้บริการผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งกรมศิลปากรได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้ง่าย สะดวก โดยสามารถเข้าชมอาคารประติมากรรมขุนหลวงพะงั่วและประวัติศาสตร์สุพรรณบุรีในรูปแบบ SMART MUSEUM ผ่านทาง https://smartmuseum.finearts.go.th กดเลือกนิทรรศการพิเศษอาคารประติมากรรมขุนหลวงพะงั่วและประวัติศาสตร์สุพรรณบุรี และบนระบบ Application “SMART MUSEUM” รวมถึงสามารถรับชมวีดิทัศน์เนื้อหาภายในอาคารประติมากรรมฯ ผ่านช่องทาง YouTube กรมศิลปากร ตลอดจนองค์ความรู้ผ่านช่องทางเฟสบุ๊ก แฟนเพจ ของกรมศิลปากร
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอีกว่า แหล่งเรียนรู้แห่งนี้จะอำนวยประโยชน์สูงสุดในการศึกษาด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของจังหวัดสุพรรณบุรีและของชาติ ให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชน อันจะก่อให้เกิดความรัก ความภาคภูมิใจ และนำไปสู่การร่วมกันอนุรักษ์ ปกป้อง คุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติให้ยั่งยืนสืบไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี โทร.๐ ๓๕๕๓ ๕๓๓๐ หรือ facebook fanpage พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี
(จำนวนผู้เข้าชม 3076 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน