เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
พลับพลาเปลื้องเครื่อง อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย
พลับพลาเปลื้องเครื่อง เป็นอาคารหลังเดียวที่ตั้งอยู่นอกแนวกำแพงแก้วของปราสาทพิมาย โดยอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของสะพานนาค ผังของอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๒๖.๐๐ เมตร ยาว ๓๕.๑๐ เมตร หันไปทางด้านทิศตะวันออก เป็นอาคารมีหลังคามุงกระเบื้อง
ภายในอาคารมีลักษณะเป็นห้องเรียงต่อกัน ๓ แถว ในแนวทิศเหนือ-ใต้ โดยมีห้องขนาดใหญ่ ๒ ห้อง กั้นขนาบห้องยาวตรงกลาง ผนังด้านนอกของห้องยาวมีระดับลดหลั่นกัน ๓ ช่วง แสดงการแบ่งห้องเป็น ๓ ห้อง เช่นเดียวกับภายในซึ่งมีกรอบประตูกั้นเป็น ๓ ห้องเชื่อมต่อกัน สามารถเดินตัดจากด้านหน้า-ด้านหลังของอาคารผ่านทางห้องยาวนี้ ประตูห้องชั้นนอกสุดทั้ง ๒ ด้านและประตูหน้า-หลังของอาคารเท่านั้นที่มีรูเดือยสำหรับใส่บานประตูไม้
ห้องกลางเป็นห้องที่มีอากาศถ่ายเทดีที่สุด เนื่องจากมีช่องประตูและช่องหน้าต่างอยู่ในแนวตรงกัน หน้าต่างด้านทิศใต้ของห้องนี้ตรงกับหน้าต่างด้านทิศใต้ของห้องใหญ่และของตัวอาคาร นอกจากนี้ช่องประตูของห้องใหญ่ทั้ง ๒ ที่ขนาบอยู่ในทิศเหนือ-ใต้ก็อยู่ในแนวตรงกัน เพื่อช่วยในการถ่ายเทอากาศและการเข้ามาของแสงสว่างภายในอาคาร การวางทิศทางของผนังทึบ-โปร่งนอกจากจะสอดคล้องกับการรับแสงอาทิตย์ในช่วงเวลาเช้า-บ่ายแล้วยังเหมาะสมกับทิศทางลม เนื่องจากทิศใต้เป็นทิศที่จะมีลมพัดเข้ามาตลอด จึงเป็นผนังโปร่งเปิดให้โล่งเพื่อดึงลมเข้ามาภายในอาคาร ส่วนทิศตะวันตกเฉียงใต้นั้นเป็นทิศของลมมรสุม ในฤดูฝนมีลมพัดแรงจึงเหมาะสมที่จะทำผนังทึบในด้านนี้
การออกแบบอาคารหลังนี้นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงการคำนึงถึงทิศทางลม แสงสว่าง และการถ่ายเทอากาศภายในตัวอาคารแล้ว ยังให้ความเป็นส่วนตัวของผู้ที่อยู่ภายในอีกด้วย ห้องทั้งหมดภายในอาคารไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก แม้จะมีช่องหน้าต่างโปร่งอยู่ทั้งด้านทิศตะวันออกและด้านทิศใต้ สันนิษฐานว่าอาคารหลังนี้น่าจะใช้เป็นที่พักเปลี่ยนเครื่องแต่งกายก่อนเข้าไปประกอบพิธีกรรมภายในศาสนสถาน และสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เนื่องจากได้พบทับหลังรูปเทวดาประทับเหนือหน้ากาลซึ่งคายท่อนพวงมาลัยออกมาทั้ง ๒ ข้าง และทับหลังภาพบุคคลหลั่งน้ำมอบม้าแก่พราหมณ์หรือทับหลังพิธีอัศวเมธตามรูปแบบศิลปะแบบบาปวน อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗
---------------------------------------------------------
เรียบเรียง/ภาพ :
นางสาววิลาสินี แช่มสะอาด นักโบราณคดีชำนาญการ อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย
---------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง:
- ศิลปากร, กรม. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย.พิมพ์ครั้งที่ ๕. นครราชสีมา: โรงพิมพ์โจเซฟ,๒๕๕๔. - ศุภชัย นวการพิศุทธิ์ นักโบราณคดีอิสระ, การสนทนา , ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔.
(จำนวนผู้เข้าชม 2909 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน