เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
การฝังศพแบบปฐมภูมิ(Primary Burial) ที่แหล่งโบราณคดีโนนหนองจาน
แหล่งโบราณคดีโนนหนองจาน ตั้งอยู่ที่บ้านมันปลา หมู่ที่ ๑๓ ตำบลกุดแห่ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ได้รับการขุดค้นทางโบราณคดีตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๙ – ๒๕๖๑ พบหลักฐานการฝังศพแบบปฐมภูมิ (Primary Burial)ในท่านอนหงายเหยียดยาว และการฝังศพบแบบทุติยภูมิ (Secondary Burial) หรือการฝังศพในภาชนะดินเผา(Jar Burial) รวมกันจำนวนไม่น้อยกว่า ๑๘ โครง การฝังศพแบบปฐมภูมิ(Primary Burial) คือการฝังศพแบบดั้งเดิม การฝังจะนำศพวางนอนในหลุม อาจจะวางศพนอนตะแคงงอเข่า หรือ นอนหงายเหยียดยาว การฝังศพลักษณะนี้จะพบกระดูกเรียงกันอย่างถูกต้องตามหลักกายวิภาค และพบเกือบทุกส่วนของร่างกาย ขอยกตัวอย่าง การวิเคราะห์โครงกระดูกที่พบ ๒ โครง ดังนี้
โครงกระดูก A
การวิเคราะห์โครงกระดูกจากลักษณะทางกายภาพ พบว่า อายุเมื่อตายประมาณ ๑๕ – ๒๐ ปี วิเคราะห์จากขนาดของกระดูกแต่ละชิ้นที่มีขนาดใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ แต่ยังพบว่าหัวกระดูกแต่ละชิ้นยังไม่เชื่อมต่อกันจึงยังไม่สามารถระบุเพศได้ วัดความยาวของโครงกระดูกได้ ๑๔๙ เซนติเมตร หันศีรษะไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ สภาพของโครงกระดูกอยู่ในท่านอนหงาย กระดูกแต่ละชิ้นวางอยู่ในส่วนที่ถูกต้องตามกหลักกายวิภาค ส่วนกะโหลกศีรษะเสียหายจากการขุดค้น แขนท่อนบนวางแนบไปกับลำตัว แขนท่อนล่างด้านซ้ายวางเหนือกระดูกเชิงกราน ด้านขวาแนบกับลำตัว ท่อนขาและเท้าทั้งสองข้างวางตรงและค่อนข้างชิดกัน ปลายเท้าฝังลงลึกกว่าท่อนขาเล็กน้อยเอียงไปทางซ้ายเล็กน้อย
หลักฐานที่พบร่วม ได้แก่ กำไลสำริดที่แขนซ้ายท่อนบนมีเครื่องจักสานติดอยู่ ขวานเหล็กมีรอยประทับเปลือกข้าว ลูกปัดหินคาร์เนเลียนทรงกลมบริเวณคอฝั่งซ้าย กำไลทรงกระบอกที่แขนท่อนล่างสองข้าง และเครื่องรางสำริดมีลักษณะคล้ายหวีแต่ซี่ห่างกว่าสองชิ้นที่ระหว่างขาท่อนบน
โครงกระดูก B
การวิเคราะห์โครงกระดูกจากลักษณะทางกายภาพ พบว่า เป็นเพศหญิง วิเคราะห์ได้จากลักษณะของกระดูกเชิงกรานและลักษณะที่ปรากฏบนกระโหลกศีรษะ อายุเมื่อตายประมาณ ๓๐ – ๓๕ ปี วิเคราะห์จากขนาดของโครงกระดูก เช่น หัวกระดูกไหปราร้าเชื่อมต่อแล้ว วัดความยาวของโครงกระดูก ๑๔๙ เซนติเมตร หันศีรษะไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ สภาพของโครงกระดูกอยู่ในท่านอนหงาย กระดูกแต่ละชิ้นวางอยู่ในส่วนที่ถูกต้องตามหลักกายวิภาค ส่วนศีรษะฝังยกสูงกว่าส่วนลำตัวเล็กน้อย แขนท่อนบน วางแนบกับลำตัว แขนท่อนล่างขวาวางพาดขึ้นมาวางมือทับกระดูกเชิงกราน แขนท่อนล่างซ้ายวางพาดหน้าท้องมาทับแขนขวา แต่กระดูกส่วนข้อมือสูญหายไปจากการขุดค้น ส่วนเชิงกรานฝังลึกกว่าส่วนอื่นเล็กน้อย ท่อนขาวางตัวตรงค่อนข้างชิดกัน เท้าทั้งสองข้างวางติดกัน ที่กระดูกข้อเท้า(Talus) พบรอยกดทับ (Squatting Facet) ซึ่งเกิดจากการนั่งยองเป็นประจำ
หลักฐานที่พบร่วม ได้แก่ กำไลสำริดทรงแบน และลูกปัดสีเหลืองปนส้มไส้ในเป็นสีแดงกระจายอยู่ที่ส่วนอก และชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ ท่อนยาว(Long Bone) วางทับหน้าแข้งซ้าย
ลักษณะอื่น ๆ ที่ปรากฏบนโครงกระดูก
การถอนฟันบน ๒ คู่หน้า ได้แก่ ฟันหน้าซี่ที่ ๒ และ ฟันเขี้ยวพบในโครงกระดูกผู้ใหญ่ ที่ยังคงปรากฏหลักฐานให้เห็น ซึ่งสามารถอนุมานได้ว่า เป็นลักษณะทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของแหล่งโบราณคดีแห่งนี้
Rocker Jaw ขากรรไกรล่างมีความโค้งมน ซึ่งเป็นลักษณะของผู้คนแถบหมู่เกาะ(โพลินิเชี่ยน)
ลักษณะแบบแผนพิธีกรรมการฝังศพแบบปฐมภูมิของแหล่งโบราณคดีโนนหนองจาน
จากการวิเคราะห์พบว่า การฝังศพที่แหล่งโบราณคดีโนนหนองจานมีทิศทางการหันศีรษะทางทิศตะวันออกเฉียงใต้และทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีการห่อศพและจัดท่าทางของศพ คือ การนำเอามือทั้งสองข้างวางไว้เหนือลำตัว แล้วมัดและห่อศพเนื่องลักษณะของกระดูกท่อนแขนที่วางแนบไปกับลำตัวและกระดูกส่วนต่าง ๆ วางตัวอย่างเป็นระเบียบและค่อนข้างชิดกัน วัสดุที่ใช้ในการห่อศพนั้นคงเป็นเครื่องจักสานเนื่องจากพบร่องรอยประทับบนกำไลสำริด อุทิศเครื่องมือ เครื่องใช้ และเครื่องประดับให้กับผู้ตาย ที่พบทั้งลักษณะการอุทิศให้และการสวมใส่ในชีวิตประจำวัน และพบการโรยเมล็ดข้าวไว้ด้วย
จากการศึกษาเปรียบเทียบในเบื้องต้นแหล่งโบราณคดีโนนหนองจาน เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายที่ปรากฏร่องรอยของวัฒนธรรมดองซอน การพบหลักฐานทางโบราณคดีที่เป็นเครื่องประดับสำริด และสิ่งของอื่น แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแหล่งโบราณคดีโนนหนองหอ และแหล่งโบราณคดีที่อยู่ห่างใกลออกไป คือ แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี และแหล่งโบราณคดีบ้านดอนแสนพัน ตำบลเจียด อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี
--------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย : นายพงษ์พิศิษฏ์ กรมขันธ์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี
--------------------------------------------------
(จำนวนผู้เข้าชม 1519 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน