เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
ใบเสมาในภูมิภาคอีสานใต้ ใบเสมาเขาพระอังคาร จังหวัดบุรีรัมย์
เขาพระอังคาร ตั้งอยู่ภายในวัดเขาพระอังคาร ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์
ในทางธรณีสัณฐานวิทยา เขาพระอังคารเป็นภูเขาไฟ หินบะซอลต์แบบลาวาโดม ดับสนิทแล้วมากว่าเจ็ดแสนปี มีรูปร่างกลมรี วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ มีช่องทางการไหลออกของลาวาหลายจุดตามไหล่เขาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีปล่องปะทุอยู่ชัดเจน ตั้งโดดเด่นกลางพื้นที่ราบ ปากปล่องภูเขาไฟเกิดการทรุดถล่มเป็นแนวซ้อนกันหลายชั้น
ปัจจุบันบนเขาพระอังคารเป็นที่ตั้งของวัดเขาพระอังคาร มีการก่อสร้างพระอุโบสถใหม่ และอาคารสมัยใหม่ต่างๆโดยรอบ พบใบเสมาทั้งสิ้น ๑๕ ชิ้น โดยนำใบเสมาที่พบจากเขาพระอังคารมาปักรอบพระอุโบสถ สันนิษฐานว่าย้ายมาจากที่อื่นที่อยู่ใกล้บริเวณวัดแล้วนำมาปักไว้รอบโบสถ์ บางส่วนนำมาไว้ภายในอาคารพ่อปู่วิริยะเมฆ
ใบเสมาทั้งหมดสลักขึ้นจากหินบะซอลต์เนื้อละเอียด มีลักษณะเป็นแผ่นหินแบนๆ สมัยวัฒนธรรมทวารวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๖) ลักษณะเด่นของใบเสมาที่เขาอังคารสลักเป็นภาพบุคคลคนเดียวยืนถือดอกบัวด้วยมือขวา ประทับอยู่ใต้ฉัตร ขนาบด้วยเครื่องสูง ทรงเครื่องแบบกษัตริย์ บางใบสลักบุคคลเป็นภาพยักษ์ บางชิ้นสลักเป็นบุคคลสี่กรถือสิ่งของอยู่ในมือ สันนิษฐานว่าเป็นคัมภีร์ และลูกประคำ ทั้งหมดทรงผ้าแบบเดียวกัน ประทับยืนอยู่บนฐานดอกบัว มีอิทธิพลศิลปะเขมรแบบไพรกเมงผสมอยู่ บางใบมีการสลักลายเป็นภาพธรรมจักร สถูปหม้อน้ำที่ด้านหลังด้วย
ถึงแม้ว่าใบเสมาปัจจุบันถูกเคลื่อนย้ายออกจากตำแหน่งเดิม จากการสำรวจบริเวณรอบๆไม่ปรากฏร่องรอยสิ่งก่อสร้างหรือโบราณสถานอยู่เลย ปกติแล้วการปักใบเสมาเป็นเพื่อแสดงเขตศักดิ์สิทธิ์ในทางพุทธศาสนา ในกรณีใบเสมาวัดเขาพระอังคารในอดีตอาจปักล้อมรอบพื้นที่ว่างเปล่า โดยใบเสมาปักเพื่อเป็นหลักเขตเครื่องหมายพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบพิธีกรรม
แหล่งใบเสมาที่อยู่บนภูเขาเช่นที่เขาพระอังคาร เป็นแหล่งเดียวในจังหวัดบุรีรัมย์ที่พบในพื้นที่ภูเขาสูง ไม่พบแหล่งชุมชนที่บนเขาอังคารเลยจึงไม่สามารถบอกพื้นที่การใช้งานที่สัมพันธ์กับชุมชนได้ แต่จากลักษณะภาพสลักที่ปรากฏเป็นรูปบุคคลลักษณะเดียวกันทั้งหมด น่าจะเป็นพระโพธิสัตว์ในฝ่ายมหายาน ซึ่งไม่พบลักษณะเช่นนี้ในแหล่งโบราณคดีในสมัยทวารวดีในที่อื่นๆที่แม้จะเป็นภาพสลักบุคคลก็จะเป็นเรื่องราวในพุทธประวัติหรือชาดกในฝ่ายเถรวาทเป็นหลัก การพบในพื้นที่ภูเขาสูงน่าจะเป็นลักษณะของแนวคิดภูเขาศักดิ์สิทธิ์แบบเดียวกับที่ภูพระบาท อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นพุทธแบบเถรวาทก็อาจเป็นได้
-----------------------------------------------
ข้อมูลโดย นายกิตติพงษ์ สนเล็ก ผู้อำนวยการกลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา
-----------------------------------------------
(จำนวนผู้เข้าชม 3471 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน