เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
"หราง" เมืองสงขลา
ติดหราง (ติดคุก)
การตัดสินคดีความในสมัยโบราณนั้นเจ้าเมืองหรือผู้ว่าราชการเมือง เป็นผู้บังคับบัญชาตัดสินคดีความต่างพระเนตรพระกรรณพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น โดยอาศัยตัวบทกฎหมาย พระราชกำหนด พระไอยการต่างๆที่ตราไว้สำหรับแผ่นดินเป็นหลักในการพิจารณาคดี สำหรับการลงโทษนั้นจะหนักเบาสถานใดก็เป็นไปตามโทษานุโทษแห่งคดีของผู้ร้ายรายนั้นๆ ดังนั้นบ้านเมืองต่างๆจึงต้องจัดให้มีสถานที่กักขังหรือควบคุมตัวนักโทษสำหรับเมืองนั้นๆไว้เป็นการเฉพาะ
สถานที่ควบคุมตัวนักโทษหรือผู้ร้ายนั้นตามปกตินิยมเรียกกันว่า “คุก” แต่สำหรับในพื้นที่ภาคใต้นั้นมักนิยมเรียกกันว่า “หราง”(ตะรางคุมขังนักโทษ) ผู้ร้ายที่ถูกควบคุมตัวก็เรียกกันว่า “ติดหราง” ทั้งนี้หรางในภาคใต้ในสมัยโบราณจะถูกสร้างขึ้นในบริเวณจวนเจ้าเมือง หรือบ้านของข้าราชการในตำแหน่งสำคัญที่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ตัดสินความ ตามลักษณะของคดีความในสมัยโบราณ ทั้งนี้เจ้าเมืองหรือข้าราชการที่ได้สิทธิในการตั้งหรางคุมขังนักโทษ ก็จะได้สิทธิประโยชน์ในการใช้แรงงานนักโทษตามธรรมเนียมที่กำหนดไว้แต่โบราณ แต่ก็จะต้องรับภาระเลี้ยงดูเจือจานแก่นักโทษทั้งหลายตามสมควรด้วย
หรางเมืองสงขลา(บ่อยาง)
เมื่อย้ายเมืองสงขลามาตั้งที่ฝั่งบ่อยางอย่างเป็นทางการเมื่อพ.ศ.๒๓๘๕ นั้น ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าได้ตั้ง “หราง” ไว้ ณ ที่ใด แต่ก็สันนิษฐานว่าคงอยู่ภายในบริเวณจวนผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา โดยลักษณะของหรางในสมัยนั้นก็สร้างเป็นอาคารง่ายๆ ไม่มีโรงเลี้ยงแต่อย่างใด ดังปรากฏในรายงานศก ๑๑๖ (พ.ศ.๒๔๔๐) ของพระยาสุขุมนัยวินิต ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ตอนหนึ่งว่า
“...การเลี้ยงนักโทษเมืองนครศรีธรรมราช กับเมืองพัฒลุงอยู่ในคนหนึ่งวันละ ๔ อัฐ เมืองสงขลาคนหนึ่งวันละ ๕ อัฐ เพราะเมืองสงขลาเข้าสารแลกับเข้าแพงกว่าเมืองนคร แลที่เมืองพัฒลุง แต่การเลี้ยงนักโทษยังไม่เข้าระเบียบดีเพราะเกี่ยวข้องด้วยการปลูกสร้าง โรงเลี้ยงก็ยังไม่มี ได้ทำเปนแต่หลังคาขึ้นพออาไศรยรับประทานเท่านั้น ในศก ๑๑๘ คิดว่าจะขอรับพระราชทานเงินทำคุกหัวเมือง ๒ แห่ง เมืองนครศรีธรรมราชแห่ง ๑ จุคนประมาณ ๔๐๐ คน เมืองสงขลาแห่ง ๑ จุคนประมาณ ๒๐๐ คน...”
ตะรางคุมขังนักโทษเมืองสงขลา
ตะรางคุมขังนักโทษแห่งนี้สันนิษฐานว่าได้รับงบประมาณจัดสร้างใน ร.ศ.๑๑๘ (พ.ศ.๒๔๓๒) โดยใช้พื้นที่บริเวณตึกดิน (บริเวณโรงพยาบาลเมืองสงขลาในปัจจุบัน) เป็นที่ตั้ง และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรตะรางคุมขังนักโทษแห่งนี้ ในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๔๔๓ ในพ.ศ.๒๔๔๕ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสด็จไปทอดพระเนตรตะรางคุมขังนักโทษเมืองสงขลา และทรงบันทึกสภาพตะรางคุมขังนักโทษเมืองสงขลาไว้ว่า
“......ห้องขังอยู่ข้างเล็กอัดแอเต็มที น่ากลัวอันตราย ได้แนะนำเขาว่าควรทำใหม่ เขาว่าได้คิดไว้แล้ว จะพาไปดูที่ซึ่งคิดกะว่าจะปลูกในวันอื่น โรงงานมีนิดหนึ่งแต่ไม่ได้ทำการอะไร นักโทษใช้ทำการโยธานอกเรือนจำหมด โรงครัวกินเข้าแลออฟฟิศกับสิ่งจำเปนมีพร้อม รักษาสะอาดพอควร...”
ตะรางคุมขังนักโทษแห่งใหม่ : เรือนจำเมืองสงขลา
สันนิษฐานว่าในช่วงเวลาระหว่างพ.ศ.๒๔๔๕-๒๔๕๒ ได้มีการก่อสร้างตะรางคุมขังนักโทษเมืองสงขลาขึ้นใหม่ในพื้นที่ตอนเหนือของจวนผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ตะรางแห่งใหม่นี้จึงได้อาศัยกำแพงเมืองสงขลาด้านทิศเหนือส่วนหนึ่งเป็นกำแพงของตะรางใหม่ด้วย ทั้งนี้จากการขุดค้นในบริเวณกำแพงเมืองเมื่อปี ๒๕๕๔ ได้พบแผ่นป้ายชื่อประจำตัวนักโทษจำนวนหนึ่งและพบว่ามีการระบุระยะเวลาการพ้นโทษตั้งแต่ร.ศ.๑๒๘- ๑๓๒ (พ.ศ.๒๔๕๒-๒๔๕๖) ซึ่งหมายความว่าอย่างน้อยในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีการย้ายสถานที่คุมขังนักโทษจากบริเวณตึกดินมายังสถานที่แห่งใหม่แล้ว จึงพบว่าในร.ศ.๑๒๘ (พ.ศ.๒๔๕๒) ได้มีผู้พ้นโทษและทิ้งป้ายชื่อดังกล่าวเอาไว้ที่บริเวณนี้ ส่วนตะรางเดิมนั้นก็จะต้องถูกรื้อถอนไปทั้งหมดก่อนพ.ศ.๒๔๖๔ เนื่องจากพื้นที่ในบริเวณดังกล่าวได้ถูกเปลี่ยนการใช้ประโยชน์มาเป็นพื้นที่ก่อสร้างโรงพยาบาลเมืองสงขลา (สงขลาพยาบาล)
จากเรือนจำสงขลา...สู่เรือนจำกลางสงขลา
ตั้งแต่พ.ศ.๒๔๗๘ จึงปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับเรือนจำเมืองสงขลาบริเวณกำแพงเมืองสงขลามากขึ้น โดยระบุว่าในปีนั้นเรียกชื่อว่า “เรือนจำสงขลา” และในพ.ศ.๒๕๐๐ เปลี่ยนชื่อเป็น “เรือนจำเขตสงขลา” ต่อมาในพ.ศ.๒๕๑๕ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “เรือนจำกลางสงขลา” และในปีเดียวกันนี้กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการก่อสร้างเรือนจำขึ้นใหม่ที่ บ้านสวนตูล ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ก่อนที่จะย้ายที่ตั้งเรือนจำกลางสงขลาไปยังบ้านสวนตูลทั้งหมดในวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๗
พะทำมะรง
“พะทำมะรง” เป็นชื่อตำแหน่งเก่าของข้าราชการกรมราชทัณฑ์ มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี นัยว่ามีฐานะเป็นหัวหน้าผู้ควบคุมนักโทษ ควบคู่กับตำแหน่งพัศดี คือตำแหน่งผู้ควบคุมนักโทษ ปรากฏหลักฐานอยู่ในกฎหมายตราสามดวง และไอยการลักษณะต่าง ๆ ตำแหน่งพะทำมะรงได้ใช้ติดต่อกันมาตลอด จนได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ จึงได้ถูกยกเลิกไป คำว่า “พะทำมะรง” เป็นคำเก่าในบางครั้งอาจเขียนว่า พะธำมะรงค์ หรือ พะทำมรงค์ ได้เช่นกัน
รายชื่อพะทำมะรง เมืองสงขลาท่านก่อนๆตั้งแต่อดีตนั้นไม่มีการบันทึกไว้ มีเพียงหลวงวินิจทัณฑกรรม(บึ้ง ติณสูลานนท์) บิดาของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ได้รับการบันทึกไว้ว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งพะทำมะรงท่านสุดท้ายจนถึง พ.ศ.๒๔๗๙ ซึ่งต่อหลังจากนี้มาได้เปลี่ยนชื่อตำแหน่งนี้เป็น “ผู้บัญชาการเรือนจำสงขลา”
ผู้บัญชาการเรือนจำสงขลา
เป็นตำแหน่งที่กำหนดขึ้นตามกฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความในมาตรา ๕๘ แห่ง พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ ลงวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๔๘๐ กำหนดให้ทุกเรือนจำมีผู้บัญชาการเรือนจำควบคุมอยู่ ให้มีอำนาจและหน้าที่รับผิดชอบบังคับบัญชากิจการเรือนจำโดยทั่วไป และมีอำนาจบังคับบัญชาเหนือเจ้าพนักงานตลอดจนผู้ต้องขังทั้งปวงที่สังกัดกิจการเรือนจำนั้น ผู้บัญชาการเรือนจำสงขลาระหว่างพ.ศ.๒๔๘๐-๒๕๐๐ มีทั้งสิ้น ๙ ท่าน ดังนี้
๑.หลวงวินิจทัณฑกรรม ๒๔๘๐ – ๒๔๘๑
๒.ขุนอนุรักษ์ทัณฑกรรม ๒๔๘๑ – ๒๔๘๓
๓.ขุนสฤษดิอักษรศาสตร์ ๒๔๘๓ – ๒๔๘๔
๔.ขุนประเสริฐราชกิจ ๒๔๘๔ – ๒๔๘๕
๕.ร.ต.สุข ลาดประเสริฐราชกิจ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๘๕ – ๗ กันยายน ๒๔๘๖
๖.นายชม ญาณหาญ ๘ กันยายน ๒๔๘๖ – ๒๖ มิถุนายน ๒๔๙๔
๗.นายทอง สุดออมสิน ๒๗ มิถุนายน ๒๔๙๔ – ๓๐ มิถุนายน ๒๔๙๕
๘.นายบุญรวม ถนัดบัญชี ๑ กรกฎาคม ๒๔๙๕ – ๓๑ ธันวาคม ๒๔๙๙
๙.นายสะอาด แย้มกลิ่น ๑ มกราคม ๒๕๐๐ – ๑ กรกฎาคม ๒๕๐๐
ผู้บัญชาการเรือนจำเขตสงขลา
ในพ.ศ.๒๕๐๐ เรือนจำสงขลาเปลี่ยนชื่อเป็น “เรือนจำเขตสงขลา” จึงกำหนดตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุดของเรือนจำไว้ในตำแหน่ง “ ผู้บัญชาการเรือนจำเขตสงขลา” โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งนี้จนถึงพ.ศ.๒๕๑๕ รวม ๔ ท่าน คือ ๑.นายสะอาด แย้มกลิ่น ๒ กรกฎาคม ๒๕๐๐ – ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๐ ๒.นายเชาว์ เจริญพงศ์ ๑ ธันวาคม ๒๕๐๐ – ๓๑ ธันวาคม ๒๕๐๓ ๓.ร.ท.ปัญจะ มัธยมจันทร์ ๑ มกราคม ๒๕๐๔ – ๓๐ กันยายน ๒๕๐๖ ๔.นายสุพันธ์ สุทัศน์ ณ อยุธยา ๑ ตุลาคม ๒๕๐๖ – ๑ ตุลาคม ๒๕๑๕
ผู้บัญชาการเรือนจำกลางสงขลา
ในพ.ศ.๒๕๑๕ เรือนจำเขตสงขลาเปลี่ยนชื่อเป็น “เรือนจำกลางสงขลา” จึงกำหนดตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุดของเรือนจำไว้ในตำแหน่ง “ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางสงขลา” โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งนี้จนถึง ปัจจุบัน รวม ๑๘ ท่าน คือ
๑.นายสุพันธ์ สุทัศน์ ณ อยุธยา ๒ ตุลาคม ๒๕๑๕ – ๓๐ กันยายน ๒๕๑๙
๒.นายจรัญ เดชะปัญญา ๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ – ๓๐ กันยายน ๒๕๒๑
๓.นายสมบูรณ์ ศิริลักษณ์ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๑ – ๓๐ กันยายน ๒๕๒๕
๔.นายประมวล งามไตรไร ๑ ตุลาคม ๒๕๒๕ – ๑ พฤษภาคม ๒๕๓๕
๕.นายสนิทวงศ์ มณีสว่างวงศ์ ๒ พฤษภาคม ๒๕๓๕ – ๑๘ ตุลาคม ๒๕๓๘
๖.นายรักษ์ ศิกษมัต ๑๙ ตุลาคม ๒๕๓๘ – ๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๑
๗.นายขจัดภัย บัวกระจาย ๒๓ ตุลาคม ๒๕๔๑ – ๓๐ กันยายน ๒๕๔๓
๘.นายชลิต ประจงกิจ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๓ – ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๖
๙.นายชุตินันท์ เพ็ชรเจริญ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๔๖ – ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๘
๑๐.นายอภิชาติ ขุนเทพ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๘ – ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
๑๑.นายณรงค์ ยงณรงค์เดชกุล ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๐ – ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓
๑๒.นายอุดม คุ่ยณรา ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๓ – ๓๐ กันยายน ๒๕๕๕
๑๓.นายสุชิน ดำกระเด็น ๘ ตุลาคม ๒๕๕๕ – ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๘
๑๔.นายอำนาจ ปรัชญาพันธ์ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๘ – ๘ ตุลาคม ๒๕๕๘
๑๕.พ.ต.ท.วรชัย อารักษ์รัฐ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๘ – ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๙
๑๖.นายวีรชัย เพชรรัตน์ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๙ – ๘ ตุลาคม ๒๕๕๙
๑๗.นายทวีรัตน์ นาคเนียม ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๙ – ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๙
๑๘.พ.ต.ท.วรชัย อารักษ์รัฐ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๙ – ๘ ตุลาคม ๒๕๖๐
๑๙.นางนิภา งามไตรไร ๘ ตุลาคม ๒๕๖๐ – ปัจจุบัน
แผนผังเรือนจำสงขลา ๒๔๙๕
ในช่วงเวลานี้พื้นที่ใช้สอยภายในเรือนจำสงขลาแบ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือ แดนนอก เป็นที่ตั้งของสำนักงานพัศดี เรือนพยาบาล ห้องเยี่ยมนักโทษ ห้องขังนักโทษหญิง โรงช่างไม้ โรงย่อยหิน โรงจักสาน ห้องเก็บโซ่ตรวน ห้องตีตรวน โรงตัดผม และสวนดอกไม้ แดนใน เป็นที่ตั้งของห้องขัง ๑-๓ โรงย่อยหิน ศาลาที่พักเจ้าหน้าที่ บ่อน้ำสำหรับนักโทษ และลานซักล้าง
แผนผังเรือนจำสงขลา ๒๕๑๗
ในช่วงเวลานี้พื้นที่ใช้สอยภายในเรือนจำสงขลายังคงแบ่งออกเป็น ๒ ส่วนแต่มีการปรับเปลี่ยนลักษณะการใช้งานในบางพื้นที่คือ
แดนนอก
มีการเปลี่ยนโรงตัดผมเป็นศาลาที่พักเจ้าหน้าที่ มีการย้ายเรือนพยาบาลสลับกับที่ปลูกต้นไม้ มีการย้ายโรงจักสานจากที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ให้ไปอยู่ทางทิศเหนือ และย้ายโรงช่างไม้จากทิศเหนือให้ไปอยู่ทางทิศใต้ ย้ายโรงเก็บเครื่องมือและโซ่ตรวนไปไว้ชิดกำแพงแดนใน และมีการเพิ่มขึ้นด้วยได้แก่ การเพิ่มพื้นที่สำนักงานฝ่ายควบคุม และโรงโลหะ ขึ้นในพื้นที่ส่วนนี้
แดนใน
มีการเพิ่มโรงเรียนในบริเวณชิดกับกับโรงเลี้ยงเดิม มีการเพิ่มบริเวณปลูกผักใกล้กับศาลาที่พักเจ้าหน้าที่ด้านทิศตะวันตก และพื้นที่ลานเอนกประสงค์ในบริเวณใกล้กำแพงฝั่งทิศใต้
ร่องรอยของเรือนจำสงขลา
เมื่อมีการรื้อถอนเรือนจำกลางสงขลาในพ.ศ.๒๕๑๗ ได้มีการรื้อสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกจากพื้นที่ คงเหลือไว้แต่แนวกำแพงฝั่งทิศใต้ ซึ่งเป็นกำแพงก่อด้วยหินลักษณะเดียวกันกับกำแพงเมืองสงขลาไว้แนวหนึ่ง กำแพงหินแนวนี้สันนิษฐานว่าแต่เดิมคงเป็นส่วนหนึ่งของกำแพงสิ่งปลูกสร้างภายในจวนผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา และเมื่อใช้พื้นที่ทางตอนเหนือของจวนเดิมเป็นเรือนจำแล้ว แนวกำแพงนี้ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของแนวกำแพงเรือนจำไปด้วย
ปัจจุบันแนวกำแพงส่วนที่เหลืออยู่นี้ ปรากฏอยู่เป็นแนวสั้นๆแทรกตัวอยู่หลังอาคารพาณิชย์ภายในตลาดสดสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์สงขลา
ร่องรอยของนักโทษเมืองสงขลา
การขุดค้นทางโบราณคดีในช่วงพ.ศ.๒๕๕๓-๒๕๕๔ บริเวณกำแพงเมืองสงขลาถนนจะนะ ซึ่งได้ถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของเรือนจำกลางส่วนขลานั้น ได้พบป้ายประจำตัวนักโทษ พบจำนวน ๒๑ ชิ้น ป้ายเหล่านี้ทำด้วยหินชนวน มีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมหรือคล้ายสี่เหลี่ยม บางชิ้นมีการเจาะรูด้านบน ๑ รู แต่ละชิ้นมีขนาดไม่แน่นอน พบมีจารึกเป็นตัวหนังทั้งสองด้าน ด้านละสามบรรทัด โดยด้านหนึ่งจะ มีจารึกเป็นชื่อนักโทษ เลขประจำตัวนักโทษ และข้อหาที่ถูกลงโทษอย่างละบรรทัด ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นวันที่ถูกจองจำ ระยะเวลาที่ถูกจองจำ และวันที่พ้นโทษอย่างละบรรทัดเช่นกัน
---------------------------------------------------------
//เรียบเรียงโดย I นายสารัท ชลอสันติสกุล นักโบราณคดีชำนาญการ I กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา
---------------------------------------------------------
(จำนวนผู้เข้าชม 4264 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน