เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
พระพิมพ์ดินเผาจากโบราณสถานหมายเลข ๕ เมืองโบราณอู่ทอง
พระพิมพ์ดินเผาจากโบราณสถานหมายเลข ๕ เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
พระพิมพ์ดินเผา ด้านหน้าเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ มีพระรัศมีเป็นลูกแก้ว อุษณีษะเป็นกะเปาะสูง เม็ดพระศกใหญ่ พระพักตร์รูปวงรี พระขนงต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรเหลือบลงต่ำ พระนาสิกโด่ง ทรงแย้มพระโอษฐ์ สีพระพักตร์แสดงถึงอารมณ์ของความสงบในสมาธิ ถือเป็นฝีมือการปั้นชั้นยอดของศิลปิน พระศอเป็นปล้อง ทรงครองจีวรห่มเฉียง จีวรบาง ชายสังฆาฏิสั้น ซ้อนบนพระอังสาซ้าย ชายจีวรยาวจากข้อพระหัตถ์ซ้ายพาดคลุมพระเพลา แลเห็นขอบสบงโค้งเป็นเส้นบริเวณบั้นพระองค์ และปรากฏชายผ้าพับซ้อนบนข้อพระบาทด้านหน้า จีวรทาน้ำดินสีแดง ประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระชงฆ์ซ้ายวางทับอยู่บนพระชงฆ์ขวา ด้านหลังของพระพิมพ์แบนเรียบมีร่องรอยปูนติดอยู่ จากรูปแบบศิลปกรรมแบบทวารวดี กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๕ (ประมาณ ๑,๑๐๐ – ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว)
จากการขุดแต่งโบราณสถานหมายเลข ๕ เมืองโบราณอู่ทอง ยังมีการค้นพบส่วนเศียรของพระพิมพ์ดินเผารูปแบบเดียวกัน แต่มีสภาพแตกหักอีกจำนวนหนึ่ง สันนิษฐานว่าทำจากแม่พิมพ์เดียวกัน นอกจากนั้นพระพิมพ์รูปแบบดังกล่าวนี้ ยังพบอีกเป็นจำนวนมากจากโบราณสถานบ้านศรีสรรเพชญ์ ๓ และ โบราณสถานพุหางนาคหมายเลข ๒
พระพิมพ์ดินเผาจากโบราณสถานหมายเลข ๕ รวมถึงพระพิมพ์ดินเผารูปแบบเดียวกัน ซึ่งพบเป็นจำนวนมากจากโบราณสถานในเมืองโบราณอู่ทอง ถือเป็นรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของศิลปกรรมทวารวดี ซึ่งปัจจุบันยังไม่พบรูปแบบดังกล่าวจากเมืองโบราณวัฒนธรรมทวารวดีแห่งอื่น ๆ การสร้างเป็นประติมากรรมนูนสูง ด้านหลังแบนเรียบ และใช้เทคนิคการขึ้นรูปจากแม่พิมพ์เพื่อให้ได้ประติมากรรมที่มีลักษณะเดียวกันเป็นจำนวนมาก และบางองค์มีร่องรอยของเศษปูนติดอยู่ที่ด้านหลังนั้น สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานบนผนังของศาสนถาน ตามคติความเชื่อเรื่องการสร้างพระพิมพ์จำนวนมากเพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนา ก็เป็นได้
------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
เด่นดาว ศิลปานนท์. โบราณสถานบ้านศรีสรรเพชญ์ ๓ ปริศนาวิหารถ้ำเมืองอู่ทอง. กรุงเทพ : อรุณการ พิมพ์, ๒๕๕๙. ปรัชญา รุ่งแสงทอง. ผลการขุดแต่งโบราณสถานพุหางนาคหมายเลข ๒ กับการตอบคำถามเรื่อง “หินตั้ง”ที่ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี. พุหางนาคและคอกช้างดินร่องรอยพุทธและพราหมณ์บนเขา ศักดิ์สิทธิ์. สมุทรสาคร:บางกอกอินเฮ้าส์, ๒๕๖๑. ห้างหุ้นส่วนจำกัดโบราณนุรักษ์. โบราณสถานบ้านศรีสรรเพชญ์ ๓ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี. ๒๕๕๘.
(จำนวนผู้เข้าชม 1393 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน