หีบพระสมุดกรมราชเลขานุการในพระองค์
เรื่องเล่าจากหอสมุดแห่งชาติ “หีบพระสมุดกรมราชเลขานุการในพระองค์” ที่ปรากฏการใช้งาน ณ สำนักหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี
          เมื่อคราวย้ายหอพระสมุดวชิรญาณ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ภายหลังเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษก มาตั้งอยู่ ณ ตึกถาวรวัตถุ และทรงพระราชทานนามว่า “หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร” นั้น ปรากฏสิ่งของเครื่องใช้ ซึ่งตกทอดมาตั้งแต่ครั้งเป็นหอพระสมุด วชิรญาณ ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง โดยยังปรากฏและใช้งานมาจนถึงปัจจุบันนอกเหนือจากหนังสือตัวเขียน หนังสือตัวพิมพ์ ตู้พระธรรม ตู้หนังสือ โต๊ะและเก้าอี้ นั้น ยังมีหีบไม้สัก ขนาดใหญ่ จำนวน ๕ ใบ ที่ปรากฏการใช้งาน ณ สำนักหอสมุดแห่งชาติ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าได้มาจากแหล่งใด
          จากการสันนิษฐานโดยหลักฐานที่ปรากฏบนหีบ คือ แผ่นทองเหลืองที่พบเพียงแผ่นเดียวจากหีบจำนวน ๕ ใบ ซึ่งมีการสลักอักษรโดยการนำพยัญชนะและสระมาไว้ในบรรทัดเดียวกัน ความเป็นไปได้ของหีบทั้งห้าใบนี้ อาจจะเป็น “อักษรอริยกะ” ซึ่งเป็นอักษรที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์ขึ้นเมื่อครั้งทรงผนวช และอีกความเป็นไปได้ คือ อักษรที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์ขึ้น โดยทรงบัญญัติเป็นระเบียบวิธีเขียนหนังสือไทยแบบใหม่ ดังปรากฏในพระบรมราชาธิบายว่าด้วยเรื่อง “วิธีใหม่สำหรับใช้สระและเขียนหนังสือไทย” เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๖๐
          แต่เนื่องด้วยบนแผ่นทองเหลืองสลักคำว่า “หีบพระสมุดกรมราชเลขานุการในพระองค์” ซึ่งจากการค้นคว้าพบว่า กรมราชเลขาธิการหรือออฟฟิศไปรเวตสิเกรตารีหลวง ตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๓๓ ตรงกับในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ดำรงตำแหน่งอธิบดีเป็นพระองค์แรก จึงเป็นไปไม่ได้ที่แผ่นทองเหลืองที่ปรากฏจะเป็นอักษรอริยกะ ประเด็นสำคัญคือ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคิดรูปสระและวิธีการเขียนหนังสือไทยแบบใหม่ขึ้น โดยการนำพยัญชนะและสระมาไว้ในบรรทัดเดียวกันเช่นเดียวกับอักษรอริยกะ ซึ่งเขียนได้สวยงามเป็นระเบียบ ไม่กำกวม อ่านง่าย ทำให้เข้าใจในภาษาได้ถูกต้อง ทั้งนี้ในรัชสมัยของพระองค์ท่านได้มีการปรับปรุงส่วนราชการต่างๆ ในกระทรวงวังขึ้น ๒๐ กรม แต่ยังไม่ปรากฎชื่อกรมราชเลขานุการในพระองค์
          ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนชื่อกระทรวงวังเป็น ศาลาว่าการกระทรวงวัง และมีการแบ่งส่วนราชการออกเป็น ๑๐ กรม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งกระทวงและกรม พุทธศักราช ๒๔๗๖ ซึ่งหนึ่งใน ๑๐ กรม ที่ปรากฏนามคือ กรมราชเลขานุการในพระองค์
          ดังนั้นจากหลักฐานทั้งหมดดังที่กล่าวในข้างต้น หีบพระสมุดของกรมราชเลขานุการในพระองค์ ทั้งห้าใบนั้น สันนิษฐานว่าถูกจัดทำขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๔๗๖ และสลักอักษรลงบนแผ่นทองเหลืองตามระเบียบวิธีเขียนหนังสือไทยแบบใหม่ ในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
          ปัจจุบัน “หีบพระสมุดกรมราชเลขานุการในพระองค์” จัดแสดง ณ บริเวณโถงกลางห้องหนังสือประเทศไทย ราชกิจจานุเบกษา และหนังสือนานาชาติ อาคาร ๑ ชั้น ๓ และหากผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลที่ชัดเจนสามารถแลกเปลี่ยนความคิดกันได้นะคะ ขอบคุณค่ะ


ภาพแผ่นทองเหลืองสลักคำว่า “หีบพระสมุดกรมราชเลขานุการในพระองค์”




ภาพหีบพระสมุดกรมราชเลขานุการในพระองค์

-----------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล: นางสาวรวิวรรณ พุฒซ้อน บรรณารักษ์ชำนาญการ กลุ่มบริการทรัพยากรสารสนเทศ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
-----------------------------------------------

บรรณานุกรม จุไรรัตน์ ลักษณะศิริ. จากลายสือไทยสู่อักษรไทย. กรุงทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๑. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ตำนานหอพระสมุด หอพระมณเฑียรธรรม หอวชิรญาณ หอพุทธสาสนสังคหะ แลหอสมุดสำหรับพระนคร. พระนคร: อักษรเจริญทัศน์, ๒๕๑๒. พระบรมราชาธิบายพระบาสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว : วิธีใหม่สำหรับใช้สระและเขียนหนังสือไทย. พระนคร: โรงพิมพ์ไทยเขษม, ๒๔๙๓. “พระราชบัญญัติจัดตั้งกระทรวงและกรม พุทธศักราช ๒๔๗๖” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๐ (๑๒ พ.ค. ๒๔๗๖) ๑๗๗. แม้นมาส ชวลิต. ประวัติหอสมุดแห่งชาติ. พระนคร: กรมศิลปากร, ๒๕๐๙.

(จำนวนผู้เข้าชม 1089 ครั้ง)